คาดเฟดคงดอกเบี้ยตรึงเงินเฟ้อลุ้นกนง.ขยับลงต่อผ่อนแรงเกณฑ์กันสำรองฯ


ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ประสานเสียงการประชุมครั้งแรกในรอบปีนี้ของเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% เหตุปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อยังสูง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่เลวร้ายอย่างที่คาด แต่มีแนวโน้มที่ปรับลดลงได้ในครั้งหลังของปี ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องตลอดครั้งปีแรก ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อการลดการเก็งกำไรค่าบาท

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ในครั้งนี้น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่มีการปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังออกมาในทิศทางที่ดี ทั้งตัวเลขการจ้างงานก็ยังออกมาในระดับที่สูง

"ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้บางตัวก็ยังดีอยู่โดยเฉพาะตัวเลขตลาดแรงงานยังอยู่ในระดับที่สูงแต่ยอดขายปลีกชะลอลงเยอะ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐอาจจะยังสับสนกับเศรษฐกิจว่าจะรุ่งหรือร่วง ดังนั้นเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยจึงยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าเฟดคงจะรอดูให้แน่ใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงมากก่อนถึงจะเริ่มขยับลดอัตราดอกเบี้ยลง "นายบันลือศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในปลายไตรมาส2 หรือในครึ่งหลังของปีนี้ เฟดจะเริ่มขยับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีแรงกดดันทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยตาม แต่เชื่อว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยในการประชุม กนง.ในครั้งต่อไปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง

คาดครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดดบ.

นางสาวอุสรา วิไลพิญช์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 5.25% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง แต่ก็ไม่มากอย่างที่หลายๆฝ่ายเกรงว่าจะเกิดขึ้น ทำให้เชื่อว่าเฟดยังไม่มีความกดดันที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยมากนัก โดยคาดว่าการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และจะปรับลดลงประมาณ 0.75%

ขณะที่แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.นั้น คงจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งปีแรก เนื่องจากทิศทางของเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงมาพอสมควรแล้ว และธปท.ยังสามารถใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยในการลดแรงกดดันในเรื่องของเงินทุนไหลเข้าแทนการใช้มาตรการ capital control ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว

"ต่อไปเราก็จะเห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่กว้างขึ้น จากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่จะทรงตัวในช่วยครึ่งปีแรก ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ทางการไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ซึ่งส่วนต่างที่กว้างขึ้นก็จะเป็นผลดีที่จะช่วยลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วย"นางสาวอุสรากล่าว

นางรัตนา เล็งศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ครั้งแรกในรอบปีนี้ที่จะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 30-31 มกราคมนี้ น่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ที่ร้อยละ 5.25 ต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่ยังคงเกินจากระดับเป้าหมายที่กำหนด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 2.0 ของ เดือน พฤศจิกายน 2549 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานทรงตัวในระดับเดียวกับเดือน พฤศจิกายน 2549 ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 1.0 - 2.0 จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของสหรัฐ จะยังต้องวิตกต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ การใช้จ่ายด้านการอุปโภคบริโภคยังปรับตัวในเกณฑ์ดีโดยยอดขายปลีก เดือน ธันวาคม 2549 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 5.4 จากร้อยละ 4.9 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค เดือน ธันวาคม 2549 ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ 105.3 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 109.0 สำหรับการชะลอตัวของภาวะตลาดที่อยู่อาศัย คาดว่ายังไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคในสหรัฐฯ ในขณะนี้ เนื่องจากการบริโภคขยายตัวได้ดีจากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

ด้าน ภาวะตลาดแรงงานโดยรวม ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดย การจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นจำนวน 167,000 ตำแหน่งจากที่เพิ่มขึ้นจำนวน 154,000 ตำแหน่งในเดือน พฤศจิกายน 2549 และอัตราการว่างงานเดือน ธันวาคม 2549 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือน พฤศจิกายน 2549 ที่ร้อยละ 4.5 ส่วน ภาคการผลิตและภาคบริการ ยังคงขยายตัว โดยดัชนี ISM-ภาคการผลิตและภาคบริการ เดือน ธันวาคม 2549 ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เกินกว่าระดับ 50 ที่ 51.4 และ 57.1 เทียบกับระดับ 49.5 และ 58.9 ของเดือน พฤศจิกายน 2549 นอกจากนี้ดัชนีวัดภาวะธุรกิจที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐ สาขาฟิลาเดลเฟีย เดือน มกราคม 2550 ระบุว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ -2.3 ของเดือน ธันวาคม 2549 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.3 บ่งชี้ว่า ภาวะการผลิตของสหรัฐฯ จะยังคงปรับตัวในเกณฑ์ดี

ทั้งนี้จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ ของสหรัฐ ยังคงปรับตัวได้ดี และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2550 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นยังไม่มีสัญญาณของการชะลอตัวที่ชัดเจน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้คาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds Rate ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมปลายเดือนมกราคมนี้

กสิกรฯชี้ปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังสูง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FOMC)คงจะมีมติให้ยืนอัตราดอเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ตามเดิมในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 30-31มกราคมนี้ นับจากที่เฟดได้ยุติวงจรขาขึ้นของนโยบายอัตราดออกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยที่ทำให้เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมนั้น เนื่องจากเชื่อว่าเฟดจะยังคงให้น้ำหนักในการตัดสินใจจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสูง

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ประกาศออกมาล่าสุด แรงกดดันด้านเงินเฟ้ดของสหรัฐฯยังคงมีระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภค อัตราทั่วไปในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในด้วยพฤศจิกายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิตสำหรับสินเชื่อขั้นสุดท้าย อัตราทั่วไปในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ปรับขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับอัตราพื้นฐานที่ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล อัตราทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อบละ 1.9 ปรับขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในเดือนตุลาคม ส่วนอัตราพื้นฐานซึ่งเป็นตัวแปรที่เฟดมักใช้ประกอบการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยแม้จะลดลงจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังคงสูงกว่ากรอบที่เฟดเห็นว่าเป็นระดับปกติที่ไม่เกินร้อยละ 2.0

ส่วนดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริหาร สถาบันจัดการด้านอุปทาน ISM (Institute for Supply Management) รายงานว่าในเดือนธันวาคม 2549 ดัชนีภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 51.4 เพิ่มขึ้นจาก 49.5 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ดัชนีภาคการบริหารปรับตัวลดลงมาที่ 57.1 เทียบกับ 58.9 ในเดือนก่อน กระนั้นก็ดี ดัชนีทั้งสองยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าทั้งภาคการผลิตและภาคการบริหารของสหรัฐฯยังอยู่ในภาวะขยายตัว

และภาวะอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคมตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับที่หดตัวลงต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 81.8 จากร้อยละ 81.6 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนว่าการชะลอตัวลงของภาควะอุตสาหกรรมในสหรัฐฯไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่รุนแรง

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆของสหรัฐที่ยังมีทิศทางการปรับตัวในระดับที่น่าพอใจในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้มองว่าเฟดยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าหรือ Interrest-rate futures ล่าสุดวันที่ 26 มกราคม 2550 บ่งชี้ว่าตลาดมองว่าความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงครึ่งแรกของปีมีเพียงร้อบละ 4 เท่านั้น โดยตลาดได้เลื่อนการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดว่าอาจจะไปเกิดขึ้นในช่วงปลายปี หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยตลอดทั้งปี 2550 จากเดิมที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงครั้งปีแรก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.