อุ๋ยปัดไม่พร้อมเพิ่มทุนTMBโยนปธ.แบงก์ชง-คลังยังไม่มีเงิน


ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

“ปรีดิยาธร”โยนประธานบอร์ดบริหารคนใหม่ชี้ขาดเพิ่มทุน ปฏิเสธเงินเพิ่มทุนงอกจาก 3.5 หมื่นล้าน เป็น 6.5 หมื่นล้าน มากเกินไป ยอมรับการลดเครดิตหุ้นกู้ของทริสส่งผลต้นทุนหุ้นกู้สูงตามไปด้วย ขณะที่ “สมหมาย” รับสภาพแบงก์แย่ก็ควรถูกลดเครดิตตามไปด้วย พูดส่งเดช คลังพร้อมเพิ่มทุนแต่ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงิน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) (TMB) กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการระดมทุนในครั้งนี้อยู่และยังไม่ได้ส่งมายังกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าธนาคารทหารไทยจะสรุปผลการเพิ่มทุนครั้งนี้ได้ ต้องรอให้ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ที่จะมีการแต่งตั้งในการประชุมกรรมการธนาคารครั้งต่อไปเป็นผู้ตัดสินใจและส่งแผนมายังกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนสูงถึง 65,000 ล้านบาทตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ส่วนการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB เป็น B จากเดิมที่ B+ ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของธนาคารแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าการปรับอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการระดมทุนในอนาคตของธนาคารได้ เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยในการระดมทุนเพิ่มขึ้น

“การลดเครดิตหุ้นกู้ของฟิทช์ครั้งนี้คงไม่สงผลกระทบต่อธนาคารมากนัก ที่กระทบก็คงมีเพียงต้นทุนหุ้นกู้ที่จะออกในครั้งต่อไปแพงขึ้นเล็กน้อย แต่เท่าที่คุยกับนักลงทุนต่างประเทศเขายอมรับว่าฐานะของธนาคารไทยมีความแข็งแกร่งเนื่องจากใช้การตั้งสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IAS 39) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดเครดิตของฟิทช์ เรตติ้ง ไม่มีผลกระทบต่อธนาคารโดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ต้องมีการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ เพราะธนาคารได้เตรียมเงินสำหรับจ่ายให้กับหุ้นกู้ที่ครบอายุชุดดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งการลดอันดับเครดิตในครั้งนี้ก็เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของธนาคาร

“เราต้องยอมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมือภาพของธนาคารที่ออกมามันไม่ดีเขาก็ปรับลดเครดิตเป็นเรื่องธรรมดา ลดเพราะเกรดมันต่ำลงโดยไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำรองตามเกณฑ์ IAS39 ของแบงก์ชาติที่ออกมาแต่อย่างใด เราคงไม่ไปเถียงเขาต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่บกพร่องให้ดีขึ้น” นายสมหมายกล่าว

นายสมหมายกล่าวว่า ส่วนแผนการเพิ่มทุนของธนาคารที่มีข่าวออกมาว่าต้องเพิ่มทุนอีก 65,000 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปและธนาคารไม่จำเป็นต้องระดมทุนสูงขนาดนั้น โดยเท่าที่พิจารณาในเบื้องต้นเห็นว่าการเพิ่มทุนอีก 35,000 ล้านบาทก็น่าจะเพียงพอแล้วแต่ต้องรอให้คณะผู้บริหารธนาคารส่งแผนการเพิ่มทุนมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะมีการอนุมัติเพิ่มทุน

โดยในเบื้องต้นคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ผู้บริหารธนาคารน่าจะส่งแผนการเพิ่มทุนมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดการเพิ่มทุนใดๆ ได้ต้องรอความชัดเจนของแผลการเพิ่มทุนก่อน

“ยังบอกไม่ได้ว่าต้องทำอะไรบ้างแต่ที่แน่ๆ กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนการเพิ่มทุนแต่ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินจนกว่าจะมีแผนที่ชัดเจนออกมา” นายสมหมายกล่าว

โดยวานนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ได้แจ้งประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย(TMB) เป็น ‘B’ จากเดิมที่ ‘B+’ และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) เป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่แนวโน้มเป็นบวก ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency IDR) ที่ระดับ ‘BB+’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’ อันดับเครดิตสากสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’

ขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB เป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่แนวโน้มเป็นบวก และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha))

ทั้งนี้ การปรับลดอันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร สะท้อนถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการที่ธนาคารจะไม่จ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือ Hybrid Tier 1 Securities ภายหลังจากที่ได้มีการรายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 12.3 พันล้านบาท ในปี 2549 เมื่อไม่นานมานี้และเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรที่ไม่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ และความเสี่ยงในการกันสำรองเพิ่มเติมของธนาคารซึ่งอาจส่งผลกระทบเงินกองทุนในอนาคต การงดจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับว่าระดับของความเข้มงวดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) จะทำการตีความข้อบังคับเกี่ยวกับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและการประเมินของ BOT เกี่ยวกับเสถียรภาพของธนาคาร อาทิเช่น ระดับของเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร หรือระดับกำไรสะสม

อนึ่ง ณ สิ้นปี 2549 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ TMB ลดลงเป็น 7.3% จาก 10% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ระดับขาดทุนสะสมของธนาคารได้รับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 55 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 จาก 43.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 แม้ว่าธนาคารจะทำการเพิ่มทุนในปี 2550 รวมทั้งปรับโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคาร ธนาคารก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถกำจัดตัวเลขขาดทุนสะสมดังกล่าวได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.