|
หยุดซ่อมรันเวย์ผวาป่วนบิน ชง ครม.ย้ายใน ปท.กลับดอนเมือง
ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สุวรรณภูมิไม่ไหวแล้ว นักบินแจ้งเศษทรายและหินจากการซ่อมรันเวย์จะส่งผลกระทบการขึ้นลงของเครื่องบิน “ต่อตระกูล” เผยต้องยุติการซ่อมทั้งหมด เร่งหาข้อสรุปวันที่ 9 ก.พ.นี้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ย้ำรัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่สายการบินต่างชาติจะใช้เป็นเหตุผลไม่บินมาไทย ชี้คมนาคมสั่งย้ายสายการบินในประเทศมาไทยพิสูจน์ชัด แต่ยังอ้อมแอ้ม ด้าน “ธีระ”เตรียมชงครม. 6 ก.พ.นี้กลับมาใช้ดอนเมืองลดความแออัดในช่วงซ่อมแซม ยอมรับกังวลกระทบความปลอดภัยด้วย ไฟเขียวลงดาบโยกย้าย ผู้บริหารทุกหน่วยหลังชี้ชัด 4 เดือนผลงานไม่น่าพอใจ ด้าน"คิงเพาเวอร์"ออกโรงชี้แจงที่มาของเงิน 2พันล้านที่จ่ายผลตอบแทนให้ทอท.เป็นเงินจ่ายล่วงหน้า โอดครวญช่วง 4 เดือนยอดขายวูบ 1.2 พันล้านบาท
ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิเริ่มบานปลาย หลังจากพบรอยร้าว และ ทรุดทั้งทางขับหรือแท็กซี่เวย์ และ ทางขึ้น-ลงเครื่องบินหรือรันเวย์
ล่าสุด วานนี้(29ม.ค.) นายต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ในฐานะประธานทำงานแก้ปัญหารันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า ขณะนี้จะต้องหยุดการซ่อมรันเวย์ทั้งหมดไว้ก่อน เนื่องจากนักบินได้แจ้งมาว่าเศษทรายและหินจากการซ่อมแซมรันเวย์จะส่งผลกระทบต่อเครื่องบินได้ขณะทำการขึ้น-ลง จากนี้ไปจะเร่งสรุปปัญหาเพื่อหาสาเหตุของรอยร้าวรันเวย์และจะสรุปภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งสาเหตุยังเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ มาจากน้ำ การออกแบบ การบริหารจัดการ และทราย
หวั่นสายการบินต่างประเทศหนี
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวในรายการ"ยามเฝ้าแผ่นดิน" วานนี้ถึงกรณีที่รมว.คมนาคมสรุปย้ายเที่ยวบินในประเทศที่ไม่ต่อเครื่องไปต่างประเทศไปใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิเสนอครม. 6 ก.พ.นี้ว่า อยากให้มองประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพราะอุบัติเหตุเล็กๆเพียงครั้งเดียวเช่น เครื่องบินสไลด์ออกรันเวย์ ก็ทำให้ไทยเสียชื่อได้ ดังนั้นวันนี้หากสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิกตัดเส้นทางเที่ยวบินมาไทยเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเหมือนเมื่อครั้งที่เกิดโรคซาร์สแล้วยกเลิกเที่ยวบินไปฮ่องกงก็เป็นไปได้ ทำให้ไทยเสียโอกาส หากไทยย้ายไปใช้สนามบินดอนเมืองแทนก็ไม่ทำให้เสียประโยชน์แต่อย่างใด
เมื่อทำการปิดสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ก็ตั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเพื่อตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานอย่างละเอียดทั้งรันเวย์ เท็กซี่เวย์และอาคารผู้โดยสาร อาจใช้เวลา 6-8 เดือน แล้วนำผลสรุปว่าซ่อมได้หรือไม่ หากซ่อมได้จะเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินเท่าไร เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายดอนเมืองแทน และหากมีการซ่อมบำรุงแล้ว ผู้รับเหมาสามารถรับประกันว่าจะไม่มีการเสียหายเป็นเวลา 15-20 ปี หรือไม่
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการปิดสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อแต่อย่างใด แต่น่าจะได้รับคำชมมากกว่า เพราะเราคำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งวันนี้สนามบินสุวรรณภูมิยังไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตจากกรมขนส่งทางอากาศ และเป็นสนามบินที่มีมาตรฐานไม่ครบตามที่ICAOกำหนด ซึ่งบริษัทประกันจะไม่รับประกันเครื่องบินของสายการบินหากเกิดอุบัติขึ้นรวมถึงการบินไทยด้วย
ส่วนกรณีที่ให้ย้ายเฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่ไม่ต่อเครื่องไปต่างประเทศไปดอนเมืองแบบสมัครใจนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าสายการบินใดจะย้ายไปใช้ดอนเมือง เพราะไทยแอร์เอเชียก็อาจไม่ไป ส่วนการบินไทยก็มีเที่ยวบินในประเทศแล้วต่อไปต่างประเทศเช่นกัน
ชง ครม. 6 ก.พ.ย้ายกลับดอนเมือง
วันเดียวกันนี้ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมือง ร่วมกับ นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. วานนี้ (29 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะมีความจำเป็นต้องย้ายเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่ต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับมาใช้สนามบิน ดอนเมือง โดยให้เป็นความสมัครใจของแต่ละสายการบินในการใช้สนามบินดอนเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกที่สุด โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 6 ก.พ. 2550 นี้
โดยหลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแจ้งไปยังสายการบินต่างๆ และให้ทอท. เตรียมพื้นที่สนามบินดอนเมืองสำหรับรองรับการให้บริการดังกล่าวประมาณ 45 วัน – 2 เดือน ส่วนจะเป็นการกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองเป็นการถาวรหรือชั่วคราวนั้นยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ซึ่งสาเหตุของการย้ายเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อไปยังต่างประเทศมาใช้ดอนเมืองนั้น เนื่องจาก ปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิทั้งเรื่อง รอยร้าวแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลุมจอด สะพานเทียบเครื่องบินชำรุด อาคารผู้โดยสาร ซึ่งการซ่อมแซมจะทำให้เกิดความแออัด ดังนั้นการย้ายมาใช้ดอนเมืองบางส่วนจะทำให้ลดความแออัดลงได้ประมาณ 30% โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของสายการบินเพราะไม่ได้บังคับใดๆ ขึ้นกับความสมัครใจ รวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำหากจะย้ายมาก็ต้องเป็นเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อไปต่างประเทศ
“ปัญหาของสุวรรณภูมิน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ทั้งอาคารผู้โดยสาร แท็กซี่เวย์ รันเวย์ มีออกมาทุกวัน ซึ่งผมมีทีมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอยู่ตลอด เช่นกรณีที่ท่อประปารั่ว ได้รับรายงานด้วยวาจาว่า เป็นจุดข้อต่อ แต่สาเหตุยังไม่แน่ชัด ซึ่งเป็นไปได้หลายอย่าง ช่างอาจจะต่อไว้ไม่ได้ หรือมีการแกล้งกันก็ได้ ”พล.ร.อ.ธีระกล่าว
ด้านนายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะสรุปรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเหตุผลสำคัญเป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ขีดความสามารถในการรองรับและให้บริการผู้โดยสารลดลง และจำเป็นจะต้องมีการปิดซ่อมแซมบางส่วน จึงต้องการใช้สนามบินดอนเมืองในการบรรเทาปัญหาและความแออัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนแผนในระยะยาวนั้นจะต้องมีการพิจารณาหาข้อสรุปอีกครั้ง ภายหลังจากที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยพร้อมที่จะย้ายเที่ยวบินกลับมาใช้ที่สนามบินดอนเมือง ทุกเส้นทาง แต่เส้นทางหลักที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ต้องการเชื่อมต่อเที่ยวบิน เช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่- ภูเก็ต –กระบี่ การบินไทยจะยังคงไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย โดยยอมรับต้นทุนในการปฎิบัติการของการบินไทยจะสูงขึ้นแต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน นอกจากนี้ยังต้องการขอให้ทอท.ใช้อาคารภายในประเทศของดอนเมืองสำหรับให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศแทนการใช้อาคาร 1 ระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากกว่า
นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวว่า หากให้ย้ายกลับมาเฉพาะภายในประเทศ ทางไทยแอร์เอเชียไม่สามารถย้ายกลับมาได้ เนื่องจากต้องใช้เครื่องบินหมุนเวียนทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่สามารถแบ่งการบริการบางส่วนกลับมาที่สนามบินดอนเมืองได้ เพราะต้องมีฐานปฏิบัติการอยู่ในที่เดียวกัน
นายพินิจ สาหร่ายทอง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า พร้อมรองรับเที่ยวบินที่จะกลับมาใช้ดอนเมืองหากเร่งด่วนสามารถใช้เวลา 2 สัปดาห์ก็กลับมาใช้ได้ แต่ถ้าจะให้มีความปลอดภัย และความสะดวกต้องใช้เวลา 45 วันเนื่องจากต้องปรับพื้นผิดรันเวย์ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งถนนวิภาวดี-รังสิตให้เรียบก่อน เนื่องจากพื้นผิวเป็นลูกคลื่น
ดอนเมืองรับได้ 16 ล้านคนต่อปี ใช้เงินปรับปรุง 66.248 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก ทอท. กล่าวว่า การที่กระทรวงคมนาคมมีมติชัดเจน ทางบอร์ดทอท.ก็พร้อมที่จะดำเนินการต่อ ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.ได้มีการแผนรองรับไว้แล้ว ซึ่งในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2550 ยังไม่ได้มีการพิจารณารับทราบเรื่องนี้ คาดว่าจะมีหยิบยกขึ้นมาเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดเป็นวาระเพื่อทราบ ในการประชุมบอร์ดวันที่ 1 ก.พ.2550 นี้ ซึ่งแผนปฏิบัติการที่ทอท.เสนอประกอบด้วยแผนปฏิบัติ 7 แผน ดำเนินการภายใน 45 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ใช้วงเงินรวม 66.248 ล้านบาท พร้อมกับเสนอขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน 23 อัตราและลูกจ้างชั่วคราว 151 อัตรา
แหล่งข่าวจากบอร์ด ทอท.กล่าวว่า แผนหลักเป็นการเตรียมความพร้อมของสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบเครือข่ายเพื่อใช้ในการปฏิบัติการของสายการบินและผู้ประกอบการบินไว้อยู่แล้ว โดยมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 16 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงการใช้งานของพื้นที่ภายในให้สอดคล้องกับรูปแบบการจราจรทางอากาศ ได้แก่ ปรับปรุงอาคาร รื้อถอนและปรับพื้นที่เช่าที่กีดขวางทางเดินของผู้โดยสาร แก้ไขป้ายบอกทาง และทาสีอาคาร เตรียมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย รวมไปถึงการจัดหาผู้ประกอบการให้บริการเชิงพาณิชย์ .จัดหาผู้ประกอบการให้ บริการขนส่งสาธารณะ
ไฟเขียวโยกย้ายบิ๊ก ทอท. ไม่พอใจผลงาน 4 เดือน
พล.ร.อ.ธีระ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายกับทุกหน่วยงานรวมถึงทอท.แล้วว่า การทำงานจะต้องพิจารณาถึงเรื่องคนด้วย ซึ่งการโยกย้ายต่างๆ จะต้องคำนึงถึงคุณธรรม และต้องให้ได้บุคคลที่เหมาะสมมีความซื่อสัตย์ สุจริต และทำงานให้เดินหน้าไปได้ ดูว่าหากทำงานไม่ได้ หรืองานไม่เดินหน้าก็ควรปรับเปลี่ยน ไม่ได้หมายถึงจะมีการล้างบาง หรือยกเครื่องกันใหม่ หากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ต้องทำอะไรกันเพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องย้าย ส่วนทอท.นั้น จากผลงาน 4 เดือนที่ผ่านมายอมรับว่ายังไม่น่าพอใจและต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่มีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน
สำหรับกรณีสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นั้น พล.ร.อ.ธีระกล่าวว่า ในรายละเอียดไม่ทราบแต่ในหลักการต้องดูในแง่กฎหมายว่าถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้ทำตามสัญญาชัดเจนก็ถือว่าผิด ทุกอย่างต้องดูตามสัญญาเป็นหลัก
คิงเพาเวอร์ชี้แจงเงิน 2 พันล้าน
วานนี้ ( 29 ม.ค. ) นายวิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงเพาเวอร์ เจ้าของสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ และนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ รองประธานกรรมการบริษัท นายสมบัติ เดชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กล่าวชี้แจงถึงปัญหาของเงิน 2 พันล้านบาทที่เสนอให้เป็นจ่ายล่วงหน้าให้กับบมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ว่าเป็นเงินตามเงื่อนไขข้อเสนอของบริษัทในการเสนอเงื่อนไขการประมูลกับคู่แข่งขันในตอนแรก โดยเสนอให้ล่วงหน้า 2 ปีเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท
“ บริษัทเอาเงินอนาคตมาจ่ายให้ล่วงหน้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการที่จะเข้าไปพัฒนาท่าสุวรรณภูมิ และยืนยันถึงฐานะการเงิน ซึ่งข้อเสนอด้านราคานี้จะเป็นประโยชน์ต่อ ทอท.สูงสุดและเงินดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนมาจากธนาคารไทยพาณิชย์”นายวิชัย กล่าว
ทอท.ขอวัดพื้นที่คิงเพาเวอร์อีกครั้ง
สำหรับปัญหาของพื้นที่ในสุวรรณภูมิ นายวิชัย กล่าวว่าพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามสัญญา 20,000 ตรม. แต่พื้นที่จริงปัจจุบัน 21,065 ตรม. โดยคิดค่าตอบแทนตามสัญญาขั้นต่ำปีที่ 1 1,431 ล้านบาท พื้นที่จริง 1,507 ล้านบาท ตามข้อเท็จจริงตามหลักสากลทั่วไปนั้น หากการก่อสร้างมีพื้นที่เพิ่มเติมขึ้นมานั้นจะทำสัญญาต่อท้าย
“ในส่วนที่เราจะเข้าพื้นที่ต้องเสนอและขออนุญาตจากทอท. มีหนังสือตอบอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าดำเนินการจึงจะทำได้ ซึ่งบางคนพูดแบบใช้อารมณ์ และให้ปรับพื้นที่บางส่วน ซึ่งถ้าเป็นการปิดบังพื้นที่และรื้อออกแล้วเป็นประโยชน์กับทอท.ก็พร้อมจะทำ ซึ่งทุกวันนี้เราลงทุนมาแล้ว 2 หมื่นล้านบาทจึงต้องการความชัดเจน”นายวิชัย กล่าว
ทั้งนี้การเข้าขอใช้พื้นที่ดังกล่าวในสุวรรณภูมินั้นทางบริษัทต้องขออนุญาตจากทอท.ทุกครั้ง และล่าสุดทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีหนังสือขอให้ทำการวัดพื้นที่ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร ที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา โดยทาง ทอท.จะส่งผู้แทนของบริษัท ทำการวัดพื้นที่ประกอบกิจการอีกครั้งหนึ่งเพื่อความโปร่งใส จึงได้เชิญสมาคมสถาปนิกสยาม มาเป็นคนกลางในการวัดพื้นที่ร่วมกับผู้แทนของ ทอท.และผู้แทนของบริษัทอีกครั้งหนึ่ง
“ซัพพลายเออร์"ใหญ่เริ่มหวั่นไหว
นายจุลจิตต์ กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการเงินสร้างความสับสนให้กับกลุ่มพันธมิตรของคิงเพาเวอร์ ทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์และภาพพจน์ที่ไม่ดี เสียหายในเชิงธุรกิจ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากสนามในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีแต่ข่าวร้ายไม่มีข่าวดีเลย คิงเพาเวอร์ตกเป็นจำเลยของสังคม จึงต้องออกมาชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริง
“ทุกเรื่องที่ไม่ดีลงที่คิงเพาเวอร์ ปัญหาระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสุวรรณภูมินั้นเป็นหน้าที่ของ ทอท.แต่เขาไม่แก้ไข และรัฐบาลที่ผ่านมาก็เร่งให้เปิดสนามบิน หลายคนยังไม่เชื่อว่าจะสามารถเปิดได้ เมื่อมีปัญหาจึงเป็นหน้าที่ของทอท.”
นายวิชัย กล่าวว่า บริษัทได้ดึงพันธมิตรทางการค้าเข้ามาโดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมเพื่อต้องการพัฒนาให้สุวรณภูมิเป็นศูนย์กลางของช็อปปิ้ง และใช้ความพยายามที่จะโน้มน้าวให้เข้ามา แต่เมื่อเข้ามาแล้ว เกิดความสับสนในนโยบายและปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นจึงเริ่มหวั่นไหว และต้องการความชัดเจน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรายใดถอนตัว มีแต่การสอบถามเพื่อต้องการความชัดเจน
ยอดขายคิงเพาเวอร์ตก
นายวิชัย กล่าวถึง ยอดขายในช่วง 4 เดือนที่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ปรากฏว่ามียอดขายหายไป 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุจากหลายปัจจัยเช่น การเมือง นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลงและปัญหาของสุวรรณภูมิที่นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจว่ามีความปลอดภัย เรื่องนี้ทอท.ต้องเป็นผู้ดำเนินการ
“ตอนนี้แผนล่วงหน้าของบริษัทยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพราะยังไม่มีความมั่นคงและชัดเจน จึงอยากขอความเป็นธรรมจากผู้เกี่ยวข้อง เพราะในแต่ละปีคิงเพาเวอร์นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาทจากนักท่องเที่ยว และส่งรายได้ให้รัฐปีละหลายหมื่นล้านบาท”
ปชป.เสนอ 7 ยุทธศาสตร์พัฒนา 2 สนามบิน
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อเสนอ 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองแนวใหม่ให้กับ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รมว.คมนาคม พิจารณา โดยคมนาคมต้องเร่งตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนมี.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบร้ายแรงของสถานะการเป็นฮับในภูมิภาคเอเชีย เพราะปัญหาจากการใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขณะนี้เริ่มลุกลามไปสู่การขึ้นลงของเที่ยวบินทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาที่มาจากการซ่อมทางรันเวย์และแท็กซี่เวย์ที่ร้าว
ซึ่งปัญหารันเวย์และแท็กซี่เวย์ร้าวนั้น ได้เคยเสนอให้รัฐบาลชุดที่แล้วพิจารณาแก้ไขก่อนเปิดใช้ในเดือนก.ย.49 แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจนทำให้เกิดปัญหาขณะนี้
สำหรับ 7 ยุทธศาสตร์ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ประกอบด้วย
1.ให้ทอท.กำหนดยุทธศาสตร์ท่าอากาศยานใหม่โดยให้เปิดใช้ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เพราะจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ทันทีถึง 80 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นที่สุวรรณภูมิ 45 ล้านคน และดอนเมือง 35 ล้านคน
2.ให้มีการผลักดันใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฮับ และฐานที่ตั้งสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ของเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีท่าอากาศยานใดในแถบเอเชียตั้งเป้าหมายเป็นท่าอากาศยานสำหรับโลว์คอสต์ และเห็นว่า ทอท.ควรสร้างแรงจูงให้โลว์คอสต์ที่มีแนวโน้มเติบโตมาตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานภูมิภาคไว้ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยควรเสนออัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการและค่าเช่าถูกกว่าปกติ เพื่อเป็นแรงจูงใจ
3.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดสร้างรถไฟฟ้าด่วนจากดอนเมือง-สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที
4.ทอท.ควรกำหนดให้สนามบินดอนเมืองบริการเที่ยวบินในประเทศ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ รวมถึงโลว์คอสต์
5.ควรเปิดดอนเมืองเป็นแบบ 24 ชั่วโมง เพราะหากสนามบินใดเกิดปัญหาก็จะมีอีกสนามบินให้บริการตลอด
6.การเปิดใช้ดอนเมืองจะช่วยชะลอไม่ให้ไทยก่อหนี้ผูกพันไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2550-54) ในการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพราะจะมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 80 ล้านคน แต่หากใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวจะต้องลงทุนก่อสร้างรันเวย์ใหม่อีก 2 รันเวย์ รวมถึงอาคารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สามารถรองรับผู้โดยสารเพียง 45 ล้านคนต่อปี
และ 7.การกลับมาใช้ดอนเมืองจะทำให้ ทอท.สามารถปรับปรุงรันเวย์และแท็กซี่เวย์ และการปรับแก้ให้เป็นไปตามรูปแบบการก่อสร้างที่วางไว้แต่แรก พร้อมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องความสะดวกสบายแก่ประชาชนและการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาระบบอากาศไอที และอื่น ๆ เพื่อทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมาเป็นฮับของเอเชีย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|