มาตรการ30%แหกตา-ธปท.ลดหย่อนรายวัน


ผู้จัดการรายวัน(30 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

มาตรการ 30% แหกตารายวัน ล่าสุดแบงก์ชาติเปิดแถลงข่าวด่วน ยกเว้นให้ต่างชาติทั้งวอร์แรนท์ สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์หลักทรัพย์อ้างอิงตราสารทุน และการซื้อหรือจ่ายค่าเอ็นพีแอลตามภาระค้ำประกันที่บริษัทแม่ในต่างประเทศต้องจ่ายให้แก่บริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทย เตรียมให้นักลงทุนต่างชาติเปิดบัญชี SNT เพิ่มอีก 1 บัญชี เพื่อชำระเงินบาทค่าสินค้าและบริการระหว่างต่างประเทศ ต้องมีเงินบาทในบัญชีนี้ไม่เกิน 3 วันและมียอดคงค้างในบัญชี ณ สิ้นวันได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท พร้อมส่งหนังสือเวียนขอความร่วมมือแบงก์ ห้ามซิกแซก ไม่แลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท เพื่อเลี่ยงเกณฑ์กันสำรองเงินทุนนำเข้า 30%

นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงข่าวเย็นวานนี้ (29 ม.ค.)ว่า ธปท.ได้ออกประกาศให้นักลงทุนต่างชาติที่นำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทสามารถเลือกกันสำรอง 30% หรือป้องกันความเสี่ยง โดยหากนักลงทุนต่างชาติกู้ยืมเงินตราต่างประเทศทั้งในรูปของเงินกู้แบบทั่วไปและเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ (Inter-company Loan) และเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้ สามารถป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในประเทศ (on-shore) เท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ (Fully Hedge) ในรูปของการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (FX Swap) หรือการซื้อขายข้ามสกุลเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Cross Currency Swap) ทั้งนี้ ไม่รวมการป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (off-shore)

สำหรับเงินกู้ที่อายุมากกว่า 1 ปี ต้องป้องกันความเสี่ยงแบบ fully hedge อย่างน้อย 1 ปี โดยหลังครบกำหนด 1 ปี ผู้กู้ยืมสามารถบริหารความเสี่ยงได้ตามที่ความเหมาะสมให้สอดคล้องกับธุรกรรมของธุรกิจนั้นๆ

นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติที่มีสินเชื่อเงินตราต่างประเทศเพื่อการส่งออกในลักษณะของสินเชื่อเงินตราต่างประเทศระยะสั้นสำหรับผู้ส่งออกที่นำไปซื้อวัตถุดิบ ผลิตสินค้าหรือจัดเตรียมสินค้า (Packing Credit) อายุไม่เกิน 180 วัน ที่สถาบันการเงินในประเทศให้แก่ลูกค้าในประเทศ และผู้กู้ยืมสัญญาว่าจะนำเงินตราต่างประเทศที่จะได้รับจากค่าสินค้าในอนาคตมาชำระคืนเงินกู้ให้ครบก็สามารถเลือกกันสำรองหรือเลือกป้องกันความเสี่ยงได้ด้วย

“ธุรกิจใดจะเลือกกันสำรอง30%แบบเดิม หรือจะเลือกป้องกันความเสี่ยงก็ได้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนธุรกิจของแต่ละประเภท โดยหากเลือกกันสำรองจะมีต้นทุนประมาณ 1.5% ส่วนหากเลือกป้องกันความเสี่ยงจะมีต้นทุนจากความแตกต่างดอกเบี้ยระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ อีกทั้งภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จากการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย”

ธปท.ยังยกเว้นมาตรการกันสำรอง30% ให้แก่ตราสารทุนบางประเภท ได้แก่ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นทุน(Warrant) สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Transferable Subscription Right) และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์หลักทรัพย์อ้างอิงตราสารทุน(Depository Receipt) ทั้งนี้ต้องเป็นตราสารที่เกี่ยวกับหุ้นทุนเท่านั้น ไม่รวมถึงประเภทที่มี Option ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นทุน นอกจากนี้ ยังยกเว้นให้แก่ธุรกรรมที่มีการนำเงินตราต่างประเทศมาซื้อหรือจ่ายหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ทุกประเภทที่ผ่านกระบวนการของศาลตามภาระค้ำประกันของบริษัทแม่ในต่างประเทศที่มีต่อบริษัทลูกที่อยู่ในไทยด้วย

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้มีการอำนวยให้ความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยหากนักลงทุนต่างชาติรายใดที่ต้องการการชำระเงินบาทค่าสินค้าและบริการระหว่างต่างประเทศจะต้องขอมีบัญชีเงินบาทเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าโดยเฉพาะ(Special Non-resident Baht Account for Trades and Services ) หรือบัญชี SNT กับธนาคารพาณิชย์ โดยเงินบาทที่ฝากเข้าบัญชีไม่ต้องถอนออกภายใน 3 วันทำการ และสามารถเก็บเงินบาทนั้นไว้ในบัญชี เพื่อใช้จ่ายชำระค่าสินค้าและบริการในไทยได้ แต่ต้องมียอดคงค้างในบัญชี ณ สิ้นวันไม่เกิน 100 ล้านบาท

ขณะเดียวกันธปท.ก็มีการขยายระยะเวลาเงินบาทนำเข้าบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NRBA) รวมถึงดอกเบี้ยและผลประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในไทยที่มีบัญชีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งไม่ต้องส่งออกภายใน 3 วันทำการ จากเดิมที่กำหนดให้ส่งออกภายใน 1 วัน และมียอดคงค้าง ณ สิ้นวัน ไม่เกิน 300 ล้านบาท

“เงินทุนไหลเข้าออกในแต่ละบัญชีขึ้นอยู่กับช่วงเวลา โดย ณ สิ้นวันเฉลี่ยมีเงินทุนไหลเข้าบัญชี SNSประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนบัญชี NRBA มีเม็ดเงินไหลเข้าประมาณ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับในก่อนหน้านี้ ”

ทั้งนี้ บัญชี NRBA สามารถเปิดได้ตามปกติ เพื่อใช้ในการชำระเงินทุกประเภทของธุรกรรมตามระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และบัญชี SNS เป็นบัญชีพิเศษที่ใช้ประโยชน์การลงทุนหุ้นและสัญญาล่วงหน้าของตลาด TFEX และ AFET ส่วนบัญชี SNT เป็นบัญชีพิเศษที่ใช้เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตามเงินบาทในบัญชีแต่ละประเภทสามารถโอนไปมาระหว่างบัญชีประเภทเดียวกันได้ ยกเว้นบัญชี SNS ที่รับโอนจากบัญชี NRBA ได้ โดยการโอนเงินระหว่างผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ(NR)ด้วยกันได้

ส่งหนังสือเวียนแบงก์วอนแบงก์ช่วย

ธปท.ยังได้ออกหนังสือเวียนเป็นประกาศไปยังธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจทุกแห่งในการขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจาก ธปท.พบว่าสถาบันการเงินในต่างประเทศมีความพยายามทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศแลกบาท ทั้งในส่วนของการซื้อขายพันธบัตร ตราสารหนี้ และการทำสัญญาซ้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยชำระเฉพาะส่วนต่างการซื้อขายเท่านั้น ไม่มีการส่งมอบเงินตราต่างประเทศแลกบาทจริงตามสัญญา(Non-Deliverable Forward : NDF) ซึ่งเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการกันเงินสำรอง30% ที่ธปท.ได้ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเงินบาทได้

ธปท.จึงขอย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกรรม NDF ของให้สถาบันการเงินกำกับดูแลไม่ให้มีธุรกรรม NDF ตามหนังสือเวียนลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 49 เรื่องขอความร่วมมือปฎิบัติมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ข้อ 6 มาตรการดูแล NDF ซึ่งระบุว่าขอให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรม NDF อ้างอิงเงินบาทกับบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (นอนเรสซิเด้นท์) ยกเว้นกรณีต่ออายุ ( Rollver )สัญญาเดิมหรือกรณีจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาที่ทำไว้ (Unwind) เนื่องจากเกิดความผิดพลาดของลูกค้าคู่สัญญาที่ไม่สามารถนำเงินมาชำระเต็มมูลค่าสัญญาได้เท่านั้น

ด้านนายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธปท.กล่าวว่า การที่ธปท.ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ ไม่ให้สนับสนุนการทำธุรกรรม NDF เนื่องจากตอนนี้พบว่าในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในต่างประเทศ (Off Shore) มีเงินบาทค่อนข้างน้อย จึงแก้ปัญหาโดยการทำธุรกรรม NDF โดยเวลามีการทำธุรกรรมก็จะใช้วิธีหักลบกลบหนี้แล้วจ่าย หรือรับเฉพาะส่วนต่าง ซึ่งทำให้เงินที่ต้องจ่ายเป็นเงินบาทน้อยลง หรือได้เงินบาทออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนซึ่งจ่ายส่วนต่างที่เป็นเงินดอลลาร์ สรอ. แทนการจ่ายเป็นเงินบาท ซึ่งทำให้ไม่ต้องกันเงินสำรอง 30%

“โดยปัญหาตอนนี้ ก็คือ หากใช้วิธีนี้ในการทำธุรกรรม ข้อมูลการทำธุรกรรมหายไป มีเงินดอลลาร์เข้ามา หรือเงินบาทออกไปอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าการทำธุรกรรมตอนนี้ชำระกันอย่างไร เพราะมีการหักลบกลบหนี้ไป และถือว่าเป็นการเลี่ยงมาตรการกันสำรอง 30% “ นายสุชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ หลังล่าสุดเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ธปท.เตรียมยกเว้นมาตรการกันสำรอง 30% ให้ตลาดตราสารหนี้ ทำให้นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์แบบชี้ชัดว่า เป็นความผิดพลาดเชิงนโยบายของ ธปท.และกระทรวงการคลัง

"หลังจากประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพียง 1 วันต้องยกเว้นบังคับใช้กับตลาดหุ้น กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือผ่านมา 1 เดือน ได้ยกเว้นให้ภาคเอกชนที่ไปกู้ต่างประเทศ ล่าสุดวานนี้ก็ยกเว้นให้นักลงทุนต่างชาติหลายรายการ ขณะนี้เหลือเพียงกองทุนอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ยังบังคับใช้มาตรการฯ นับเป็นความปัยศอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงแค่ตลาดหุ้นไทยต้องพังไปกว่า 8 แสนล้านบาท และทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยเท่านั้น ค่าเงินบาทยังอยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ หรือยังไม่อ่อนค่าเพื่อเอื้อต่อผู้ส่งออกตามที่ ธปท.และ ม.ร.ป.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวอ้าง" แหล่งข่าวนักวิชาการกล่าวและว่า มีความเป็นไปได้ที่การออกมาตรการฯ ครั้งนี้ เป็นการกลบความเสียหายจากการเข้าซื้อขายค่าเงินบาทของ ธปท.จนขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.