ศึกชิงสินเชื่อรายย่อยปี50ระอุ'ออมสิน'ลั่นลุยรีเทล แบงก์กิ้งเต็มสูบ


ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศึกชิงลูกค้ารายย่อยระอุ ขาใหญ่"ออมสิน"เปิดตัวปีนี้รุกรีเทล แบงก์กิ้งเต็มสูบ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อรายย่อยปี 50 เพิ่ม 3.3 หมื่นล้านบาท ดันพอร์ตรายย่อยโตรวม 2.33 แสนล้านบาท มั่นใจศักยภาพครอบคลุม จากเครือข่ายสาขาที่มีกว่า 600 แห่ง รับหมดยุคพึงนโยบายรัฐต้องปรับตัวให้แข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ได้อย่างเต็มที่

นายธีระ วิทวุฒิศักดิ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้หันมารุกธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ธนาคารออมสินทำธุรกรรมนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อธนาคารเห็นโอกาสการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์)เร่งขยายสินเชื่อในส่วนนี้และทำรายได้อย่างมาก ธนาคารออมสินจึงลงมาแข่งขันในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว โดยธนาคารออมสินจะอาศัยจุดแข็งของธนาคารที่มีเครือข่ายสาขากว่า 600 แห่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและความสัมพันธ์อันดีของพนักงานธนาคารกับประชาชนในพื้นที่มาเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจนี้ขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ธนาคารยังจะใช้ความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการกับลูกค้าเหล่านี้ให้มากที่สุด

“เราปล่อยให้แบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์เก็บลูกค้าไปมากแล้ว แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมของตลาดแล้วเรายังมีโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยได้อีกมากเนื่องจากยังมีลูกค้าที่ยังต้องการสินเชื่อในส่วนนี้อีกมาก โดยเฉพาะลูกค้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เรามีความสัมพันธ์อันดีซึ่งธนาคารได้จัดโครงการสินเชื่อสวัสดิการให้กับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว” นายธีระกล่าว

นายธีระกล่าวว่า ในปี 2549 ที่ผ่านมาธนาคารออมสินถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำธุรกิจรีเทล ไฟแนนซ์ โดยมีพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2549 จำนวน 200,000 ล้านบาท และในปี 2550 ธนาคารเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อตอบสนองแก่ลูกค้ารายย่อยอย่างเต็มที่ โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ในปี 2550 จำนวน 33,000 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อรวมในสิ้นปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 233,000 ล้านบาท

“จริงๆแล้วสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคารออมสินมีความหลายหลายมากแต่ที่ผ่านมาเราทำอย่างเงียบๆ ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 50 เราจะเร่งทำความเข้าใจกับพนักงานทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจแก่ลูกค้าและทำยอดสินเชื่อให้เข้าเป้าที่ธนาคารวางไว้ ซึ่งเมื่อดูอัตราการทำรายได้ของธนาคารออมสินจะพบว่าธุรกิจรีเทลแบงกิ้งทำรายได้สูงถึง 70-80%ของรายได้รวมทั้งหมดของธนาคาร”นายธีระกล่าว

นายธีระกล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ธนาคารออมสินเตรียมเปิดตัวสินเชื่อเคหะเพิ่มยอด โดยธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อแบบอเนกประสงค์สำหรับลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารออมสินและเป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดีหรือผ่อนเงินกู้บ้านใกล้หมดแล้วสามารถยื่นขอกู้เพิ่มได้สูงสุดเท่ากับวงเงินกู้เดิมหรือไม่เกินราคาประเมินของหลักประกัน ซึ่งสินเชื่ออเนกประสงค์ดังกล่าวธนาคารออมสินไม่ได้จำกัดวัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย ลูกค้าสามารถใช้สำหรับอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการต่างๆได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนของบุตร เพื่อการท่องเที่ยว ตกแต่งซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น โดยจะให้สิทธิสำหรับลูกค้าที่มีการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไปและคิดดอกเบี้ยในอัตราเดิมกับสินเชื่อบ้านที่ลูกค้าผ่อนชำระอยู่แล้ว

“เมื่อเทียบกับสินเชื่ออเนกประสงค์หรือสินเชื่อบุคคลทั่วไปของแบงก์พาณิชย์และนอนแบงก์แล้วสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดของธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งสถาบันการเงินอื่นๆคิดดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทนี้สูงถึง 18-28% จึงน่าจะทำให้ลูกค้าที่กู้เงินกับธนาคารออมสินอยู่แล้วตัดสินใจที่จะกู้เงินจากโครงการสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดได้ง่ายขึ้น และธนาคารก็มีหลักทรัพย์ของลูกค้าเพื่อค้ำประกันวงเงินกู้นี้ไว้อยู่แล้ว โดยธนาคารตั้งเป้าว่าในปี 50 จะมีลูกค้ามาใช้บริการสินเชื่อเคหะเพิ่มยอดสูงถึง 4 พันล้านบาท” นายธีระกล่าว

รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวอีกว่า ปีนี้ธุรกิจรีเทลแบงกิ้งจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้เล่นในตลาดทุกรายต้องเหนื่อยกันมาก แต่เดิมธนาคารออมสินเองมีโครงการสินเชื่อต่างๆของภาครัฐเข้ามาหนุนทำให้ไม่ต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆมากนัก แต่ในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าธนาคารออมสินต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัวและหาเครื่องมือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.