|
ตลาดตราสารหนี้เตรียมเฮ ธปท.ยกเว้นกันสำรอง 30%
ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติเตรียมผ่อนมาตรการกันสำรอง 30%ให้ตลาดตราสารหนี้ "ธาริษา" ยกเหตุตาสว่างหลังออกจากถ้ำคุยภาคเอกชนพบว่าการผ่อนคลายการกู้เงินจากต่างประเทศทำให้ธุรกิจไทยโล่งอก แต่ในส่วนกองทุนอสังหาฯ ยังแห้ว อ้างมีความเสี่ยงในการนำเงินเข้า-ออกได้เร็ว นายแบงก์ชี้ท่าทีที่ยกเว้นทีละขยักเป็นสิ่งพิสูจน์ชัด มาตรการฯ ล้มเหลว จี้ผู้ว่าฯ ธปท.และรัฐมนตรีคลังรับผิดชอบ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยต่อธุรกิจตลาดทุน” ว่า หลังจากที่ธปท.เตรียมออกประกาศผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง30% ให้ภาคธุรกิจที่ต้องการกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือขยายกิจการในไทยสามารถเลือกปฏิบัติได้ระหว่างใช้มาตรการกันสำรอง 30%หรือเลือกที่จะใช้วิธีการทำป้องกันความเสี่ยง (hedging)ด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตลาดต่างประเทศล่วงหน้าตามระยะเวลา(swap) และหากในอนาคตการผ่อนคลายวิธีนี้ได้ผล โดยค่าเงินบาทไม่มีความผันผวนมากนักก็เตรียมจะนำการผ่อนคลายวิธีนี้มาใช้กับตลาดตราสารหนี้ด้วย
“หลังจากที่ได้พูดคุยกับภาคธุรกิจและสถาบันการเงินไปแล้วให้เขาเลือกกันสำรองหรือป้องกันความเสี่ยงตามต้นทุนของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งทุกฝ่ายก็แฮปปี้กับทางเลือกที่ดี ดังนั้น ต่อไปมาตรการกันสำรอง30% นี้จะมีการผ่อนคลายในเชิงปฏิบัติมากขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยให้ภาคธุรกิจและในตลาดต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อค่าเงินบาทมีความผันผวนน้อยลง ซึ่งเราอยากเห็นค่าเงินบาทเริ่มเกาะไปตามกระแสค่าเงินในภูมิภาค ก็อาจจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง30% ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องการให้กลไกต่างๆ ดีก่อน”
นอกจากนี้ ธปท.ขอความร่วมมือให้ผู้ที่ถือครองตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial paper) ซึ่งต่างกับการซื้อขายตราสารหนี้ระยะยาวที่มีการจดทะเบียนผู้ถือครองอย่างชัดเจน ควรมีการจดทะเบียนผู้ถือครองเมื่อมีการเปลี่ยนมือในตลาดรอง ซึ่งจะทำให้ทราบตัวตนของผู้ที่ถือครองและช่วยให้เห็นข้อมูลต่างๆ ที่ชัดเจนมากและทราบถึงจุดเปราะบางในการลงทุนตราสารหนี้ด้วยว่าอยู่จุดไหนด้วย ถือเป็นการวางระบบในการเก็บข้อมูลตราสารหนี้ระยะสั้นที่ดีในอนาคต
“ปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่ใช่เจ้าปัญหา แต่เกิดจากสภาพคล่องตลาดโลกมีเยอะ ขณะเดียวกันนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐ จึงหันมาลงทุนภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในไทย แต่ยืนยันว่าการใช้มาตรการ30%ไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งก่อนออกมาตรการดังกล่าวก็ได้ขอคำแนะนำทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟแล้วและเขาก็เข้าใจดีและให้เอกสารประกอบการตัดสินใจ ก่อนมีมาตรการดังกล่าวออกมา
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟมองว่าต่อไปการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลกจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ฉะนั้นทุกประเทศควรมีการบริหารจัดการนโยบายการเงินที่เพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้ตัวเองมีแรงต้านทานสิ่งที่เข้ามาให้มีมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปก็ควรช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วย เพราะไม่ใช่นั้นกรรมจะตกอยู่กับประเทศเล็กๆ และทำให้เราหมดกระสุนในการดูแลเศรษฐกิจได้”
สำหรับการขอผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง30%ให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น นางธาริษา กล่าวว่า แม้ว่าการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ด้วยการลงทุนประเภทนี้มีการขยายตัวได้รวดเร็วมาก ขณะเดียวกันผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งอาจเป็นนักลงทุนต่างชาติหรือนักลงทุนไทยก็สามารถเข้าออกได้ง่าย ถือว่าเป็นธุรกรรมที่มีความเสี่ยงอยู่ จึงขอประเมินผลที่เกิดขึ้นระยะหนึ่งก่อน
“การลงทุนในกองทุนอสังหาฯมีการขยายตัวได้เร็วมาก ซึ่งเราไม่อยากได้เงินร้อนเหล่านั้นเข้ามาในประเทศเรา แต่เมื่อเขาเข้ามาตามน้ำเข้ามาหาเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำให้เราเหนื่อยมากขึ้น เราจึงต้องระมัดระวัง เพราะการลงทุนประเภทนี้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนจำนวนมาก และมีผู้ถือหน่วยลงทุนเข้ามาเพิ่มได้ตลอด ทำให้มีการขยายกองทุนใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็ว ถือเป็นโปรดักท์ที่มีความเสี่ยงอยู่”
อย่างไรก็ตาม หลังจากธปท.ประกาศมาตรการ 30% ออกมาและนักลงทุนต่างชาติแห่ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติถอนเงินออกนอกประเทศเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งรอลงทุนในไทยต่อไป เนื่องจากนักลงทุนเหล่านั้นมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ และค่าพีอีก็อยู่ในระดับที่ต่ำ ถือเป็นการจูงใจนักลงทุนต่างชาติอยู่
ทั้งนี้ มาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ธปท.ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยการกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ 30% ของเงินตราต่างประเทศ
แหล่งข่าวแบงก์พาณิชย์กล่าวว่า ถึงวันนี้ต้องบอกว่าเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบาย เพราะนอกจากทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนแล้ว ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท ขณะที่เงินบาทยังอยู่ที่ระดับไม่เกิน 36 บาทต่อดอลลาร์หรือไม่ได้อ่อนค่าลงตามที่ ธปท.ต้องการ ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการออกมาตรการสกัดเงินบาทแข็งค่าครั้งนี้ เป็นการกลบความเสียหายจากการเข้าซื้อขายค่าเงินบาทของ ธปท.จนขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาท
"ตอนนั้นแบงก์ชาติควรใช้ลดดอกเบี้ยสกัดค่าบาทแข็งแต่กลับไม่ทำ มาวันนี้คงเห็นว่าผิดพลาดจึงลดดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันทยอยยกเว้นมาตรการ 30% กับตลาดหุ้นและเงินลงทุนที่เอกชนไปกู้มา ตอนนี้จะยกเว้นให้ตลาดตราสารหนี้ นับเวลาแค่เดือนกว่าที่ออกมาตรการ จึงพิสูจน์ชัดว่าผู้ว่าฯ ธปท.และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.คลังซึ่งเคยเป็นผู้ว่าฯ ธปท. ผิดพลาดและต้องรับผิดชอบ"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|