ธปท.ผวาหนี้บัตรเครดิต


ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.เผยแบงก์พาณิชย์ให้สินเชื่อภาคธุรกิจน้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์ เหตุการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนที่ชะลอลง แต่เชื่อภาคธุรกิจหันขอกู้แบงก์มากขึ้นหลังออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้ต้นทุนกู้นอกประเทศพุ่งสูง ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตเริ่มมีสัญญาณของความเปราะบางจากยอดคงค้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะนอน-แบงก์ยอดผิดนัดชำระหนี้ขยับขึ้นด้วย

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า จากรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนมกราคม 2550 ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พบว่า ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 49 การขยายตัวของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จำแนกตามสาขาธุรกิจ ในส่วนของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนขยายตัวสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 0.1%ในไตรมาส 3 ของปี 49 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขยายตัวระดับ 5% นอกจากนี้สินเชื่อการพาณิชย์ก็ขยายตัวในอัตราที่ลดลงเหลือ 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธปท.ออกมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย สถาบันการเงินต่างๆ ได้รับผลกระทบบ้าง โดยทำให้ความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ในส่วนของพันธบัตรที่สถาบันการเงินถือครองอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ซึ่งหันมากู้ยืมภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการระดมทุนจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากมาตรการดังกล่าว จึงเชื่อว่าในระยะต่อไปธนาคารพาณิชย์จะมีการขยายตัวของสินเชื่อได้ดี

นอกจากนี้ แม้สถาบันการเงินจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับมาตรฐานสากลตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุน(บาเซล ทู) และมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS39) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กนง.มองว่าอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นบ้างจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีจะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ และในระยะยาวระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมจะมีความเข้มแข็งและบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับในส่วนของเสถียรภาพของภาคครัวเรือน กนง.มองว่า ในระยะต่อไปแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง อัตราดอกเบี้ยไม่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหากภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังและไม่ก่อหนี้ เพื่อจับจ่ายใช้สอยเกินกว่าศักยภาพทางการเงินของตน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนโดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก โดยสินเชื่อภาคครัวเรือน(Consumer Loans) โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล(Personal Consumption Loans) ชะลอลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ และเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินเชื่อประเภทนี้ในปีที่แล้วอันเกิดจากการโอนถ่ายธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดการชะลอตัวของการก่อหนี้ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือน และเอื้อให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของภาคครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา

ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตอาจแสดงสัญญาณของความเปราะบางเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะในขณะที่สัดส่วนการเบิกจ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ของปี 49 ลดลงเล็กน้อย แต่สัดส่วนยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากปริมาณการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลของความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ลดลงด้วย อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของธุรกิจนอนแบงก์ได้ชะลอตัวลงเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของภาคครัวเรือนต่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล(Personal Loans) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูของธปท. โดยในส่วนของนอนแบงก์เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสัดส่วนของการผิดนัดชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประกอบกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อประเภทนี้ค่อนข้างทรงตัว จึงส่งผลให้ความเสี่ยงจากสินเชื่อประเภทนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.