เพื่อนหรือคู่แข่ง


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ย่ำค่ำของคืนวันที่ 24 มกราคม ในพื้นที่ 1 ไร่เศษของบ้าน เก่าแก่หลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมถนนอโศก ติดกับอาคาร Q-House คลาคล่ำไปด้วยผู้คนในแวดวงธุรกิจการบิน และธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้ไปร่วมฉลองพิธีเปิดอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของบริษัทอาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)

อาหารหลากหลาย ที่ถูกนำมาเสิร์ฟในงาน ต่างเป็นที่คุ้นเคยของแขกที่มาร่วมงาน เพราะเป็นอาหารที่ถูกปรุงโดยครัวการบินไทย ที่ได้ยกขบวนพนักงานกว่า 50 ชีวิต มาช่วยงานครั้งนี้อย่างเต็มที่

ไวน์รสเลิศ และเครื่องดื่มอีกหลากชนิด ถูกรินอย่างชำนาญโดยพนักงานครัวการบินไทย ขณะที่แขกหลายคนกำลังยืนชม Video Presentation แนะนำบริษัทอาบาคัส โดยมีเครื่องบินของการบินไทย เป็น presenter อยู่ใน Video

ซุ้มอาหารต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นประมาณ 10 ซุ้ม ตามรายชื่อของสายการบินที่เป็นสมาชิก และมีความสัมพันธ์กับเครือข่าย ของอาบาคัส มีคนเข้าไปรอรับบริการอย่างเนืองแน่น โดยมี พนักงานของครัวการบินไทย คอยให้บริการอย่างขยันขันแข็ง

แต่หากไล่ตามรายชื่อของสายการบินที่ติดอยู่บนหลังคาของซุ้มอาหารแล้ว กลับไม่พบกับชื่อของการบินไทยแม้แต่เพียงซุ้มเดียว

"การบินไทยเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งของเราในอดีต แม้ปัจจุบันจะไม่อยู่ในเครือของเราแล้ว แต่ก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อ กัน มีการขายตั๋วผ่านระบบของเราอยู่" วุฒิ ตรีชัยศรี กรรมการผู้จัดการ อาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวต่อหน้าแขกประมาณ 500 คนที่เข้าไปร่วมงาน

สายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันดังที่กรรมการผู้จัดการ อาบาคัส (ประเทศไทย) กล่าวถึงนั้น หากมองอีกด้านหนึ่ง การบินไทยก็มีส่วนร่วมอยู่ในคู่แข่งคนสำคัญของอาบาคัสด้วย

อาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครืออาบาคัส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทำธุรกิจให้บริการระบบจัดจำหน่ายทั่วโลก (Global Distribution Systems : GDS) และระบบการสำรองที่นั่งแบบเบ็ดเสร็จ (Computerised Reserva-tions Systems : CRS) ซึ่งเป็นการให้บริการข้อมูลการเดินทาง และการรับจองที่ได้ออกแบบพิเศษเฉพาะสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์

เครือข่ายสมาชิกที่ถือหุ้นอยู่ในอาบาคัส ประกอบด้วย 11 สายการบิน นำโดย Singapore Airlines, All Nippon Airways, Cathay Pacific, China Airlines, Dragonair, EVA Airways, Garuda Indonesia, Malaysia Airlines, Philippine Airlines, Royal Brunei และ Silk Air นอกจากนี้ยังมีสายการบิน ที่เป็นพันธมิตรอีก 7 สาย ประกอบด้วย Air Andaman, Asiana Airlines, Bangkok Airways, Lao Aviation, PB Air, Phuket Air และ Vietnam Airlines

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน อาบาคัสเคยเข้ามาชักชวนการบินไทยให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่าย ในจังหวะเดียวกับที่อะมาดิอุส ซึ่งเป็นเครือข่ายการจองที่นั่งสายการบินที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสเปน ก็ได้เข้ามาชักชวนการบินไทย เช่นกัน และในที่สุดการบินไทยได้ตัดสินใจเข้าไปอยู่ร่วมในเครือข่ายของอะมาดิอุส เนื่องจากเห็นว่าเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางมากกว่า

การร่วมทุนระหว่างการบินไทยกับอะมาดิอุส เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2535 และเมื่อ 10 พฤษภาคม 2543 ก็ได้มีการเปิดตัวบริษัทไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเชีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทร่วมทุนระหว่างการบินไทย และอะมาดิอุส โดยได้ชักชวนให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการสื่อสารแห่งประเทศ ไทยร่วมถือหุ้นด้วย

ส่วนอาบาคัสหลังจากผิดหวังในการชักชวนการบินไทยเข้าไปร่วมเป็นสมาชิก ก็ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างเต็มตัวในปี 2538 โดยการเปิดบริษัทอาบาคัส ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ขึ้น

ปัจจุบันเครือข่ายของอาบาคัส มีสำนักงานอยู่ถึง 60 แห่ง ใน 20 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย นอกจากสำนักงานในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ที่ถนนอโศกแห่งนี้แล้ว ยังมีสำนักงานสาขาอีก 5 แห่งในพัทยา ภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย และ เชียงใหม่ และยังมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 1 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น เพื่อขยายการให้บริการ และดูแลเอเย่นต์ ครอบคลุมเข้าไปถึงตลาดในสาธารณรัฐประชาชนลาวในปีนี้

งานฉลองเปิดสำนักงานของอาบาคัสครั้งนี้ แม้ว่าจะจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ และได้รับความสนับสนุนอย่างดียิ่ง จากครัวการบินไทย แต่ภายในงานไม่ปรากฏภาพของผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยไปร่วมงานแม้แต่เพียงผู้เดียว

ส่วนตัวแทนภาครัฐมีเพียงจารึก อนุพงษ์ รองปลัดกระทรวง คมนาคม ที่ได้รับเชิญเข้าไปร่วมในฐานะประธานในพิธี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.