|

N-PARKไฟเขียวแสนสิริเพิ่มทุนฮุบตลาดอสังหาฯทุกเซกเมนท์
ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
N-PARK เล็งเห็นทางโตระยะยาว อนุมัติแสนสิริเพิ่มทุนครั้งใหญ่เป็น 12,000 ล้านบาท หวังเพิ่มสภาพคล่อง เดินหน้าท้าชนแลนด์ฯ ลงทุนทุกเซกเมนต์เต็มสูบ รอจังหวะสถานการณ์คลี่คลาย ความเชื่อมั่นกลับคืนเดินสายโรดโชว์นักลงทุน เศรษฐา ยืนยันยังพร้อมจะซื้อหุ้น หลังสะดุดกฎ ESOP ของ กลต.
หลังจากที่แสนสิริออกมาประกาศส่งท้ายปลายปีที่แล้วว่าจะเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งใหญ่อีก 2 เท่าตัว จากเดิม 6,305 ล้านบาท เป็น 12,610 ล้านบาทภายในต้นปีนี้ โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 2,946 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4.28 บาท เสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)พร้อมออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (วอแรนต์) ไม่เกิน 1,473 ล้านหน่วยให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 วอแรนต์ กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่สั่นไหวไปทั่ววงการ จนต้องหันมาจับตามอง เพราะเหตุผลที่แสนสิริให้ไม่ใช่แค่เพื่อขยายการลงทุนอย่างครบวงจรเท่านั้น แต่ยังหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องล้มตำแหน่งแชมป์ของวงการบ้านจัดสรรที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เคยครองมาตลอดให้ได้
นอกจากนี้ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 0.6% ในแสนสิริ ยังออกมากล่าวว่า ตนเองสนใจที่จะเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เนื่องจากต้องการให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในฐานะที่ผู้บริหารกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เอง ซึ่งจะสามารถนำพาแสนสิริไปสู่เป้าหมายได้ดีที่สุด แม้ภาพภายนอกที่แสดงออกมาจะดูสวยหรูว่าการเพิ่มทุน คือ ความพยายามที่จะลดบทบาท N-PARK ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ระยะหลังมีปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก กลายเป็นภาพลักษณ์เชิงลบมาโดยตลอด แต่สุดท้าย N-PARK ก็เลือกหนทางที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และ win-win ทั้งสองฝ่ายด้วยการอนุมัติให้แสนสิริสามารถเพิ่มทุนได้ เพราะมองว่าหลังเพิ่มทุนแม้สัดส่วนถือหุ้นจะลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 12% แต่รายได้ที่จะเข้ามาสู่ N-PARK จะไม่ลดลง กลับจะมากขึ้นในอนาคต จากเงินทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแสนสิริเองที่จะสามารถขยายการลงทุนได้กว้างขวางครบวงจรทุกเซกเมนต์
แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) พิจารณาเห็นว่า หาก เศรษฐา ต้องการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 24.91% จะเข้าข่ายประกาศของ กลต. เรื่องการขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อกรรมการหรือพนักงาน หากยังยืนยันจะซื้อหุ้นอยู่ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในประกาศเรื่อง ESOP ซึ่ง เศรษฐา ขอเวลาพิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งลักษณะการเข้าไปถือหุ้นที่จะทำได้ก่อน เพราะการซื้อในลักษณะ ESOP จะมีข้อจำกัด เช่น ต้องเสียภาษี 5% รวมทั้งมีระยะเวลาในการแปลงสภาพ 5 ปีและ 10 ปี
แม้ว่าจะมีมาตรการภาครัฐ เช่น การแก้ไข พรบ.ประกอบธุรกิจต่างด้าว และมาตรการสกัดกั้นเก็งกำไรค่าเงินบาทออกมากระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน เศรษฐา กล่าวว่า สำหรับกรณีของบริษัทยังต้องรอดูผลตอบรับจากการไปโรดโชว์ที่ต่างประเทศก่อน และคาดว่าจะดำเนินการเพิ่มทุนเมื่อบรรยากาศการลงทุนกระเตื้องขึ้นกว่าปัจจุบัน และตลาดหลักทรัพย์ฯกลับคืนสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากเพิ่มทุนได้สำเร็จ จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 1.37 เหลือ 0.88 ทันที มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่หากไม่สำเร็จ บริษัทฯ สามารถใช้กระแสเงินสดกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับการลงทุนแทนได้
สำหรับแผนการลงทุนของแสนสิริ และบริษัทในเครือปีนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดตัวประมาณ 20 โครงการ และหากเพิ่มทุนได้สำเร็จจะเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งแน่นอนว่า พลัส พร็อพเพอร์ตี้ และ พร้อมพัฒน์ สองบริษัทลูกของแสนสิริจะกลายเป็นหัวหอกใหญ่ที่หวังจะกินรวบตลาดบ้านระดับกลาง ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ ที่กำลังมาแรงอย่างยิ่งในปีนี้ อาศัยเม็ดเงินจากการเพิ่มทุนมาขยายการลงทุนได้อย่างก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักลงทุนต่างชาติแล้วว่าจะมีความเชื่อมั่นมากพอที่อัดฉีดเงินลงทุนเข้ามาเพื่อผลักให้แสนสิริได้เติบโตตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องลุ้นมากกว่าว่า เศรษฐา จะสามารถฝ่าทางตันข้อกำหนด ESOP เพื่อหาหนทางเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|