เจาะวิธีการบริหารสไตล์สิงโตอสังหาฯไทยสุดเซ็ง!หลังร่วมทุนสงค์โปร์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

- ทุนสิงคโปร์เบรกแผนลงทุน หลังรัฐบาลไทยโต้ตอบรัฐบาลสิงคโปร์ กรณีเปิดทางอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตรใช้สิงคโปร์เป็นเวทีด่ารัฐบาลไทย
- ดีเวลลอปเปอร์ไทยสุดช้ำ ทุนสิงคโปร์ขอดูท่าทีรัฐบาลและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก่อนตะลุยโกยเงินต่อ
- จัดสรรพันธุ์ไทยแท้เฮ คู่แข่งหยุดขยายการลงทุน

ความรุ่งโรจน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะ กลุ่มทุนสิงคโปร์ที่เข้ามาลงทุนและกอบโกยผลประโยชน์จากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วง 4-5 ปีก่อน ทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่นอย่างกลุ่มทุนชาวไทยต้องเสียเปรียบอย่างมาก ทั้งด้านแหล่งเงินทุน และโนว์ฮาว ที่ไม่มีหนทางสู้ยักษ์ใหญ่ทางด้านการเงินอย่างสิงคโปร์ได้เลย

เป็นที่มาของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องลุกขึ้นมาสกัดกลุ่มทุนข้ามชาติที่ไหลเข้ามากอบโกยผลประโยชน์และเอาเสียเปรียบกลุ่มทุนชาวไทย ด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มทุนชาวไทยและคนไทยไม่เสียเปรียบทุนข้ามชาติมากเกินไป เหมือนกับนานาประเทศที่มีกฎหมายรองรับการเข้ามาลงทุนของทุนข้ามชาติ

เริ่มตั้งแต่การประกาศนโยบายกันสำรองเงิน 30% ตามต่อด้วยพ.ร.บ.ต่างด้าว และพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ล่าสุด มาตรการโต้ตอบรัฐบาลสิงคโปร์ของรัฐบาล ซึ่งลุกลามไปจนกระแสปลุกกระแสชาตินิยม บอยคอตสินค้าบริการและทุนสิงคโปร์

การทยอยประกาศนโยบายต่าง ๆ นั้นกระทบต่อกลุ่มทุนข้ามชาติทุกชาติ แต่ที่หนักที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มทุนจากแดนลอดช่อง เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังโดนหางเลขจากมาตรการโต้ตอบของรัฐบาลไทยที่มีต่อรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย กรณีที่ให้การต้อนรับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้สิงคโปร์เป็นเวทีให้สัมภาษณ์สื่อยักษ์ใหญ่ อย่าง CNN ประณามประเทศไทยและรัฐบาลไทย

จับตาอย่างใกล้ชิด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการลงทุนของกลุ่มทุนสิงคโปร์ เพราะไม่แน่ใจในท่าทีของรัฐบาลไทยและคนไทยว่าจะคิดอย่างไรกับทุนสิงคโปร์ จะมีการบอยคอตสินค้าบริการและคนสิงคโปร์มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งจะได้รับผลกระทบในระยะสั้นหรือยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

การชะลอการลงทุนของกลุ่มทันสิงคโปร์ ย่อมส่งผลกระทบต่อพันธมิตรชาวไทยด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 กลุ่มทุนสิงคโปร์พาเหรดเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ทุนสิงคโปร์ให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง

การขยายการลงทุนเข้ามาในไทย เพราะทุนสิงคโปร์มีเม็ดเงินจำนวนมาก พร้อมที่จะขยายการลงทุนไปทั่วโลก และไทยเป็นอันดับแรก ๆ ที่ทุนสิงคโปร์เลือกเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมในการลงทุนทุกด้าน ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง แรงงาน รัฐบาลไทยส่งเสริมการเข้ามาของทุนสิงคโปร์

ที่สำคัญพันธมิตรชาวไทยอ้าแขนต้อนรับ เพราะทุนสิงคโปร์นอกจากจะมีเงินทุนมหาศาลแล้ว ยังมีโนว์ฮาวที่ดี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งไทยกำลังต้องการทั้งเงินทุน และโนว์ฮาว์ สำหรับก่อสร้างอาคารสูง จึงทำให้ทุนสิงคโปร์พาเหรดเข้ามากอบโกยผลประโยชน์กลับประเทศอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ สไตล์การเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนสิงคโปร์ไม่ค่อยเข้ามายึดอำนาจบริหารจัดการอย่างเด็ดขาด เพราะเรียนรู้ว่า การบริหารจัดการกับลูกค้าชาวไทยต้องอาศัยคนไทยด้วยกันเองบริหารจัดการ และการทำตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร ซึ่งผู้ที่จะรู้ดีที่สุด น่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง

ทุนสิงคโปร์กรีฑาทัพกลืนไทย

ปัจจุบันกลุ่มทุนข้ามชาติรายใหญ่ๆเข้ามาลงทุนมากกว่า 7 ราย และเป็นทุนจากสิงคโปร์ถึง 6 ราย ส่วนอีก 1 รายเป็นทุนจากฮ่องกง โดยกลุ่มแคปปิตอล แลนด์ จำกัด รัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจด้านที่พักอาศัยเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท ที.ซี.ซี. ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ของเจริญ สิริวัฒนภักดี แลนด์ลอร์ดของเมืองไทยด้วยการจัดตั้งบริษัท ที.ซี.ซี.แคปปิตอล แลนด์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท สัดส่วนถือหุ้น 60:40 ลงทุนในอสังหาฯแบบครบวงจร ทั้งที่พักอาศัยแนวสูง แนวราบ โรงแรม พลาซ่าและอาคารสำนักงาน โดยที่ดินหลักมาจากแลนด์แบงก์ของเจริญ

กลุ่มเซ็นเตอร์พอยท์ พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือเฟร์เซอร์แอนด์นีฟ จากสิงค์โปร์ เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด (เคแลนด์) จัดตั้งบริษัทริเวอร์ไซด์ โฮมส์ ดีลเวลลอปเม้นท์ ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1,000 ล้านบาท ถือหุ้นรายละ 49% อีก 2% เป็นคนนอก โครงการแรกที่พัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อโครงการเดอะ พาโน มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท

สำหรับบมจ.เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ มีผู้ถือหุ้นหลักคือ บริษัท เคปเปล แลนด์ จำกัด จากสิงคโปร์ ถือหุ้นในสัดส่วน 45.45% มีทุนจดทะเบียน 2,200 ล้านบาท โดยซื้อกิจการจากบริษัท ไฟว์สตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ เจ้าของโครงการวิลล่า อะคาเดีย ศรีนครินทร์ มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท

บมจ.โฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ (เอช พี แอล) เข้ามาลงทุนในไทยโดยการตั้งบริษัทลูกชื่อ บริษัท เพบเพิล เบ (ประเทศไทย) ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท พัฒนาโครงการเดอะ เม็ท คอนโดมิเนียม มูลค่า 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นในบริษัทไทย เช่น GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPO ถือหุ้นในบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 13.71% ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท จีไอซี เรียลเอสเตท ของสิงคโปร์ซึ่งแลนด์ฯ ได้ร่วมกับจีไอซี จัดตั้งกองทุนรวมขึ้น 2 กองทุน ในชื่อ "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์" และ "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ฟันด์"

ขณะที่ทุนจากฮ่องกง คือ กองทุนGAMS (General Enterprise Management Services Limited) เข้ามาซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ภายใต้การนำของชายนิด โง้วศิริมณี กรรมการผู้จัดการ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้บริหารชาวไทยเกือบทุกค่าย ส่วนใหญ่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า กลุ่มผู้ร่วมทุนชาวสิงคโปร์จะปรับเปลี่ยนแผนลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกรายล้วนแต่ยังไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจต่อ หรือเพิ่มเงินลงทุน โดยขอเวลาดูเหตุการณ์ต่อจากนี้ไป และที่สำคัญที่สุดน่าจะดูจากการตอบรับของคนไทยที่มีต่อสิงคโปร์

ขณะที่ธงชัย คุณากรปรมัตถ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จำกัด กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มทุนสิงคโปร์มีความกังวลบ้างแต่ไม่มาก และจะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะสอบถามจากหุ้นส่วนคนไทยมากขึ้น ซึ่งตัวเองก็ต้องอธิบายกับพันธมิตรให้เข้าใจว่าไม่มีอะไรมากระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากนัก เพราะที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนก็ต้องซื้อที่อยู่อาศัยเช่นเดิม”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.