|
รุกฆาต "ชินคอร์ป"รอโอกาสยึดคืนสัมปทาน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
- ล็อกเป้า "ชินคอร์ป" รอเวลารุกฆาต หาช่องยึดคืนสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม
- ผลพวงรอยร้าว "ไทย-สิงคโปร์" นำไปสู่การทวงสมบัติของชาติและความมั่นคง
- จับตาเหตุการณ์รุมเร้า "ชินคอร์ป" ครั้งใหม่ สั่นสะเทือนธุรกิจใต้เงาสิงคโปร์
พลันที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พูดกลางที่ประชุมของสภาเยาวชน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา ว่า "ขณะนี้กองทัพกำลังเกิดปัญหาเพียงเราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อจะใช้สักเครื่องหนึ่ง มันก็วิ่งไปสู่ประเทศสิงคโปร์ เราจะพูดความลับทางราชการ มันก็วิ่งไปอยู่ที่สิงคโปร์"
ถ้อยคำพูดดังกล่าวนัยยะสำคัญพุ่งเป้าไปที่การใช้งานโทรศัพท์มือถือเอไอเอส อย่างที่หลายคนตีความหมายได้ และนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อเนื่อง
หากแต่การพูดดังกล่าวดูแล้วน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ เกิดรอยร้าวจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสิงคโปร์ จนกลายเป็นประเด็นการเมือง และรุกลามมาถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกล่องดวงใจในอดีตของพ.ต.ท.ทักษิณ อย่าง "ชินคอร์ป" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากความสัมพันธ์ ระหว่าง ทักษิณกับสิงคโปร์ คงไม่ได้แตกต่างจากความสัมพันธ์ของ ชินคอร์ปกับเทมาเส็ก แม้ว่าการซื้อขายหุ้นชิปคอร์ประหว่างตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ให้กับเทมาเส็ก จะล่วงมากว่า 1 ปีแล้วก็ตาม
ชนวนเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก มีประเด็นในติดตามและต้องเฝ้าจับตาดูอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การประกาศขายหุ้นดังกล่าวกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไทย เพราะไม่ใช่การขายหุ้นธรรมดา แต่เป็นการขายธุรกิจของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยให้กับบริษัทต่างชาติอย่างสิงคโปร์ จึงทำให้การขายหุ้นครั้งนี้ถูกตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในประเด็นต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใช้นอมินีถือหุ้นแทน การซื้อขายหุ้นโดยไม่เสียภาษี รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น
ยิ่งถูกจุดชนวนครั้งใหม่ด้วยเรื่องการดักฟังโทรศัพท์ เรื่องความมั่นคงจึงถูกหยิบยกขึ้นมา และอาจนำไปสู่โอกาสที่จะเข้าไปดำเนินการยึดสัมปทานคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัมปทานมือถือและดาวเทียม ที่มีผลกระทบสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.มนตรี ศุภาพร ประธานคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา เปิดเผยว่า มีการปรึกษาหารือกับ พล.อ.สนธิ เกี่ยวกับการหาวิธีป้องกันข้อมูลทางการทหารไม่ให้รั่วไหล โดยข้อกังวลดังกล่าวเกี่ยวพันกับกรณีที่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด ซึ่งให้บริการโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมได้ขายหุ้นให้แก่บริษัทในสิงคโปร์ ทำให้กิจการมือถือและดาวเทียมต้องเปลี่ยนมือไปให้สิงคโปร์เป็นเจ้าของ
"แม้จะเป็นบริษัทเอกชนดำเนินการ แต่ทรัพยากรที่ยิงขึ้นไปค้างอยู่บนท้องฟ้าถือเป็นทรัพยากรของชาติ เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติเมื่อเจ้าของดาวเทียมเป็นของชาติอื่น เราก็ต้องรักษาประโยชน์ของชาติ เมื่อเราเป็นทหารเห็นว่าเมื่อข้อมูลและความลับใดที่เสี่ยงว่าจะตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ก็ต้องปกปักรักษาเป็นธรรมดา"
พล.อ.มนตรี ย้ำว่า แม้วันนี้สัมปทานโทรคมนาคมจะตกไปอยู่ในมือของเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเกือบทั้งหมด แต่ทหารก็มี "เครื่องมือ" ในการควบคุมและจัดการดูแลเช่นกัน เนื่องจากหากพบว่าบริษัทเอกชนนำข้อมูลสื่อสารของทหาร หรือของรัฐบาลไปให้ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของกิจการจริง ก็สามารถส่งทหารเข้าไปควบคุมที่ศูนย์การสื่อสาร หรือสวิตชิ่ง(switching) ได้ซึ่ง คมช.มีเครื่องมือที่เป็นกฎหมายในการเข้าไปดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกฎอัยการศึก
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเห็นว่าขณะนี้สิงคโปร์เป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม แม้ว่าดาวเทียมไทยคมเป็นของคนไทย แต่มีกลุ่มทุนเทมาเส็กเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งกองทัพได้ใช้ช่องสัญญาณไทยคมอยู่ 1 ใน 4 ช่องสัญญาณ เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยทหารในต่างจังหวัด และใช้ในการติดต่อสื่อสารกิจการด้านความมั่นคงของกองทัพ ดังนั้น หากสิงคโปร์มีรหัสผ่านก็สามารถเข้ามาเพื่อรับส่งข้อมูลต่างๆ ที่ทางทหารมีการติดต่อผ่านดาวเทียมได้ เป็นเรื่องทางเทคนิค
ถึงขนาดที่ สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถึงกับมีแนวคิดที่จะเสนอให้รัฐบาลลงทุนยิงดาวเทียมของรัฐไว้ในในกิจการของภาครัฐ ด้วยงบประมาณการลงทุนประมาณ 5-6 พันล้านบาท เพื่อป้องกันข้อมูลความลับทางราชการรั่วไหล
หากเหตุการณ์ปะทุกันหนักหน่วง จนถึงขั้นที่คมช.ต้องเล่นไม้แข็งกว่านี้ มีความเป็นได้ว่าการทวงสมบัติไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมหรือมือถือจะต้องเป็นประเด็นใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน
เอไอเอสพร้อมตรวจสอบ
ต่อปัญหาการดักฟังโทรศัพท์มือถือที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นประเด็นพาดพิงไปทางธุรกิจ ทำให้เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นำโดยสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ต้องรีบชี้แจ้งกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเอไอเอสดักฟังโทรศัพท์บุคคลต่าง ๆ ว่าเอไอเอสยืนยันว่า ไม่เคยนำเข้าอุปกรณ์ดักฟังโทรศัพท์ และไม่เคยดักฟังโทรศัพท์ของลูกค้า พร้อมทั้งยินดีให้ทางการเข้าตรวจสอบ
"การนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐก่อนทุกครั้ง และบริษัทไม่เคยนำเข้าและครอบครองอุปกรณ์ดังกล่าวเลยตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหากมีการดักฟังโทรศัพท์จริงๆ ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญในจุดนี้และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสอดส่องดูแล โดยหากพบว่ามีใครกระทำผิด เราจะไล่ออก และยังดำเนินการทางกฎหมาย จึงอยากให้ลูกค้ามั่นใจตรงจุดนี้" สมประสงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเรื่องผลกระทบนั้นจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีลูกค้าแจ้งขอยกเลิกการใช้บริการ หรือโทรมาสอบถามที่ Call Center หลังจากที่บริษัทถูกกล่าวหา และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาขอตรวจสอบ แต่การที่ออกมาพูดในวันนี้ เพื่อต้องการแสดงจุดยืนและให้เห็นว่าบริษัทให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่
ด้าน วิเชียร เมฆตระการ กรรมการอำนวยการ เอไอเอส กล่าวว่า ประเด็นการดักฟังโทรศัพท์ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยปีนี้บริษัทยังคงตั้งเป้าผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 7-8%จากการเติบโตของตลาดรวมที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 14-15% จากปี 2549 ที่มีผู้ใช้บริการรวมกว่า 38 ล้านคน
1 ปีเทมาเส็ก
หลังจากที่เทมาเส็กเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารบ้าง อย่างตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ลาออกไป ก็ได้มีการแต่งตั้งวิเชียร เมฆตระการเข้ามาแทน และหลังจากนั้นในช่วงปลายปีทางเทมาเส็กก็ได้ส่งนายฮุย เวง ซอง ผู้บริหารจากสิงคโปร์เทเลคอม (สิงเทล) เข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาด สายงานธุรกิจสื่อสารไร้สาย พร้อมกับได้ดึงนายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล มาเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นความพยายามที่ต้องการพลิกสถานการณ์ของเอไอเอส เนื่องจากช่วงหลังการประกาศขายหุ้นเมื่อ 23 มกราคม ทำให้สถานการณ์ธุรกิจของกลุ่มชินคอร์ป โดยเฉพาะเอไอเอสประสบปัญหาค่อนข้างมาก ตั้งแต่โดนกระแสบอยคอตการใช้สินค้าในกลุ่ม ขณะที่คู่แข่งอย่างดีแทคก็สร้างสีสันฉวยจังหวะตีตื้นขึ้นมามาก
อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมา เทมาเส็กยังไม่ได้เข้ามาจัดการหรือปรับเปลี่ยนอะไรกับธุรกิจชินคอร์ป ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะจากสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เทมาเส็กยังคงสงวนท่าทีในการปฏิบัติการใดๆ อย่างมาก รวมถึงแผนที่จะตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจเป้าหมายออกไปก็ชะงักไปด้วย โดยที่ผ่านมาเทมาเส็กได้แจ้งว่าต้นปี 2550 จะจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลและประสานงานเรื่องการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะ และมีรายงานข่าวยืนยันว่าจากปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของชินคอร์ป ทำให้ทางเทมาเส็กกำลังวางแผนเรื่องการปรับภาพลักษณ์องค์กร พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|