สงครามยึดห้องนั่งเล่นดิจิตอลในบ้านระอุขึ้นอีก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปสู่การใส่ใจในสุขภาพอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการทำอะโรมาเทราปี เพื่อความสุขของจิตใจหรือสมองมากขึ้น แต่นักการตลาดส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าการได้นั่งอยู่ในห้องที่มีอุปกรณ์ทันสมัย ทำงานในระบบดิจิตอลก็ยังเป็นความปรารถนาของครัวเรือนส่วนใหญ่ด้วย

หากจะนิยามห้องนั่งเล่นแบบดิจิตอลก็น่าจะนึกถึงภาพของห้องที่มีเทคโนโลยีและบริการที่ก้าวหน้าที่จะเปลี่ยนสภาพชีวิตในระหว่างที่นั่งในห้องนั้นให้เป็นดิจิตอล ฮับ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ผู้นำในการบุกเบิกและสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อสินเชื่อในการบริโภคเพื่อหาความสุขส่วนตัว แม้แต่วงการฮอลลีวู้ด และนักวิจัยทางการตลาดจึงล้วนแต่พยายามที่จะทำให้กิจการของตนได้มีโอกาสวางตำแหน่งทางการตลาดในส่วนใดส่วนหนึ่งของนั่งเล่นดิจิตอลนี้

ในการจัดงานแสดงที่มีชื่อว่า คอนซูเมอร์ อีเล็กทรอนิกส์ โชว์ที่ลาสเวกัสได้มีผู้ประกอบการหลายรายพยายามที่จะแสดงตัวอย่างของห้องนั่งเล่นที่แวดล้อมด้วยระบบดิจิตอลให้เหมือนกับวิถีชีวิตจริงๆของลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด ทำให้เกิดภาพของสงครามแย่งลูกค้ากันอย่างชัดเจน

ผู้นำที่น่าจะเผชิญหน้ากับในตลาดอุปกรณ์ดิจิตอลในห้องนั่งเล่นของลูกค้ายุคใหม่น่าจะเป็น 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์อย่างบริษัทไมโครซอฟท์และบริษัทแอปเปิล ที่ประกาศชัดว่าต้องการตำแหน่งของศูนย์กลางของโลกดิจิตอลของลูกค้าอย่างถาวร ซึ่งนอกเหนือจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่าแล้วบริษัทในวงการอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมอย่างโมโตโรล่า บริติส เทเลคอม สลิงมีเดีย เนตเกีย บีสกายบี เวอริซอนที่แสดงท่าทีว่าไม่ยอมถอยจากการรุกตลาดอุปกรณ์ดิจิตอลในห้องนั่งเล่นเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดชี้ว่าไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนก็ตามที่เอ่ยชื่อมาแล้ว การใช้ความพยายามในการรุกตลาดดิจิตอลในห้องนั่งเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพฤติกรรมและการตัดสินใจการใช้ชีวิตของผู้คนไม่มีแบบแผนที่ชัดเจนหรืออย่างถาวร มีการเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไร้ทิศทางและความสมเหตุสมผลด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจซื้อโทรทัศน์ การเลือกชมรายการภาพยนตร์ หรือเพลงโปรด หรือแม้กระทั่งการถ่ายรูปในโอกาสพิเศษต่างๆ ก็ตาม

หากเอาปัจจัยเหล่านี้มาเป็นตัวแปรแล้วโอกาสในการยึดพื้นที่ในห้องนั่งเล่นของลูกค้าแทบจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ยกเว้นเสียแต่ ประการแรก จะเป็นความสามารถในการให้บริการที่ไม่เลือกยี่ห้อของอุปกรณ์ดิจิตอลในห้องนั่งเล่นที่ได้ซื้อมาแล้วว่าผลิตจากค่ายใดบ้าง

ประการที่สอง เป็นบริการที่มีศักยภาพในการทำงานข้ามค่ายผู้ผลิตได้มากน้อยเพียงใด สิ่งที่นักการตลาดของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ตระหนักกันในตอนนี้ก็คือ ผู้คนให้ความสำคัญและให้การยอมรับการดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้โลกดิจิตอลมากขึ้นทุกๆ วัน และยังมีความแตกต่างของเทคโนโลยีดิจิตอลและโซลูชั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระหว่างยี่ห้อของผู้ผลิตที่ต่างกิจการกัน ชนิดที่ยังค้นหากันไม่เจอและเชื่อมโยงกันไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การพัฒนาสินค้าดิจิตอลที่จะยึดพื้นที่ห้องได้จริงๆ ในลักษณะของการกดดันให้ลูกค้าซื้อสินค้ายี่ห้อเดียวของเครื่องใช้ในห้องนั่งเล่นให้เป็นยี่ห้อเดียวกันทั้งหมดเห็นจะเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่น่าจะคิดกัน และมีความเป็นไปได้มากกว่าคือ การวางมาตรฐานในการพัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้านำไปใช้ในบ้านและสถานที่ต่างๆ ให้เป็นอย่างเดียวกันเพื่อให้ติดต่อกันได้แม้ว่าจะต่างยี่ห้อกันเหมือนการใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อไปยังผู้ใช้มือถือข้ามเครือข่ายได้นั่นเอง

แต่สิ่งที่ยังแก้ไม่ตกตอนนี้คือ การวางระบบดิจิตอลนั้นไม่เหมือนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเพราะ ประการแรก มีเรื่องของลิขสิทธิ์ที่ต้องคุ้มครองมิให้มีการกอปปี้หรือเลียนแบบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงไม่สามารถยกให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ทราบรายละเอียดและเอาไปใช้ต่อยอดได้

ประการที่สอง การทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ แม้แต่ยี่ห้อเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะกดรีโมทคอนโทรลเดียวแต่สามารถอ่านระบบได้อเนกประสงค์ทั่วทั้งบ้าน ประการที่สาม แม้ว่าจะสามารถทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบดิจิตอลภายในบ้านหลังหนึ่งทำงานเชื่อมโยงกันได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อมโยงได้ในบ้านหลังอื่นๆ เพราะปัจจัยที่เป็นตัวแปรที่แตกต่างกันออกไปทำให้ต้องปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกันแบบ

“วัน-บาย-วัน” อยู่ดี

ประการที่สี่ ผู้ประกอบการทั้งหลายยังไม่แน่ใจเลยว่าระบบดิจิตอลของรายใดตอนนี้ที่ถือว่าดีที่สุดที่น่าจะนำไปใช้เป็นมาตรฐานกลางที่ทุกรายน่าจะยอมรับเป็นมาตรฐานของระบบดิจิตอลได้จริง ๆ

ที่เป็นเช่นนี้ดูได้จากการที่ระบบดิจิตอลของไมโครซอฟท์ที่เรียกว่า วิสต้าจึงใช้เชื่อมได้เฉพาะกลุ่มในขณะที่บริษัทเครือข่ายอย่าง ลิงค์ซิส ดี-ลิงค์ และเนตเกียร์ ก็มีช่องทางในการเชื่อมคอมพิวเตอร์พีซีกับระบบโทรทัศน์ในแบบของตนเอง หรือผู้ผลิตจากญี่ปุ่นอย่างบริษัทชาร์ปก็แสดงการเชื่อมโยงระบบการปรับช่องโทรทัศน์กับระบบไร้สายอื่นที่จะทำให้สามารถเปลี่ยนไปฟังเพลงหรือวิดีโอ ตลอดจนถ่ายรูปและแสดงภาพบนจอได้โดยใช้ระบบเชื่อมโยงของอินเทล

ในการทำงานนี้ แม้แต่โซนี่ก็ยังพยายามพัฒนาระบบเอนเตอร์เทนเมนท์ของตนให้เชื่อมโยงโมเดลของวิดีโออินเทอร์เน็ตที่ติดต่อกับบรอดแบนด์และโทรทัศน์รุ่นบราเวียของโซนี่

เรื่องนี้หากจะโทษก็คงต้องโทษว่าความก้าวหน้าที่รวดเร็วเกินไปของระบบดิจิตอลเป็นต้นเหตุหลักเพราะทุกรายไม่มีใครกล้าล้าหลังในการรุกตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าระบบดิจิตอล จึงต่างพัฒนาสินค้าของตนขึ้นมาแข่งกันคู่แข่งขันรายอื่นๆ ประกอบกันกับความต้องการในด้านของผู้บริโภคก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ทำให้ผู้ผลิตต้องตัดสินใจเร่งทำการผลิตอย่างเร่งด่วนแบบไม่ทันคิดหน้าคิดหลังแบบระยะยาว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.