|
มรดกทักษิณ รันเวย์ร้าว-AOT อ่วมไทยแอร์เอเชียมาเลเซียคุมเบ็ดเสร็จ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทักษิณทิ้งปัญหาเพียบ ทั้งรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าว ชำรุดหลายจุด สร้างปัญหาด้านความปลอดภัยทางการบิน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ฟันธงงานนี้ทุจริตในการก่อสร้าง ส่วนอีกปัญหาแอร์เอเชียต้องลุ้นนอมินีหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาอำนาจตัดสินใจอยู่ที่มาเลเซีย หุ้นส่วนในประเทศไทยแค่ใบเบิกทางขออนุญาตเส้นทางการบิน
รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิที่มีปัญหาแตกร้าว อาจต้องลุ้นว่าสนามบินแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากอาจมีผลต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน ขณะที่มีการกล่าวถึงการใช้สนามบินเดิมที่ดอนเมืองเริ่มดังขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะแนวคิดที่จะดึงเอาสายการบินในประเทศมาใช้ที่ดอนเมืองเหมือนเดิม
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคงลำบากใจไม่น้อยหากมีการปิดสนามบินที่ถือว่าทันสมัยที่สุดที่เพิ่งเปิดทำการได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น แม้ยังมีสถานที่รองรับอย่างสนามบินดอนเมือง
แต่การย้ายระบบปฏิบัติการของทุกสายการบินกลับไปที่เดิมอีกครั้งคงไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากทุกสายการบินเพิ่งย้ายไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมาย ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเชื่อมั่นต่อสายตาของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงสายการบินนานาชาติและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
"สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดขึ้นจากการทุจริตจากการก่อสร้าง ส่งผลต่อความปลอดภัยในด้านการบิน เรื่องการย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมือง อาจจะไม่กระทบต่อตัว AOT เพราะถึงอย่างไร AOT ก็เป็นผู้บริหารสนามบินเดิม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากสนามบินไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่จะมาลง เมื่อเครื่องลงจอดน้อยลงรายได้ของ AOT ก็น้อยลงตามไปด้วย ปัญหานี้จะลามไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าว
ที่ผ่านมา AOT ปรับตัวขึ้นหลังจากที่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิจนถึงระดับ 73.50 บาท แต่จากการเปิดใช้ดังกล่าวทำให้ AOT ต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท หากพื้นรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิชำรุดเสียหายมาก ยิ่งจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาของราคาหุ้น AOT เห็นได้จากราคาหุ้นที่เริ่มลดลงจาก 57 บาทลงมาที่ระดับ 52 บาทและมีสิทธิที่ปรับตัวลงได้อีก
อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลมาจากการขยายธุรกิจของกลุ่มชิน คอร์ป นั่นคือการร่วมกับแอร์เอเชียจากมาเลเซียเปิดสายการบินต้นทุนต่ำในนามไทยแอร์เอเชีย ถือหุ้น 51% ซึ่งเปิดตัวตัดหน้านกแอร์ของการบินไทย ทั้ง ๆ ที่ทักษิณ ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เมื่อตระกูลชินวัตรขายหุ้นให้กับเทมาเส็กเมื่อ 23 มกราคม 2549 ทำให้สถานะของไทยแอร์เอเชียกลายเป็นปัญหาเนื่องจากมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศเกินกว่า 51% จนต้องมีการเปลี่ยนการถือหุ้นเป็นบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด มาถือหุ้นแทนชิน คอร์ป โดยที่ยังมีปัญหาในเรื่องการตีความว่าโครงสร้างใหม่ของไทยแอร์เอเชียหลังการขายหุ้นชิน คอร์ป นั้นเข้าข่ายการใช้นอมินีหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางการอากาศกำลังรอการตีความจากกระทรวงพาณิชย์ หากผิดจะต้องลดสัดส่วนลงภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการจะสั่งพักใบอนุญาตก่อน และถ้ายังไม่ทำให้ถูกต้องภายใน 15 วันอีก จะยึดใบอนุญาตประกอบการบิน
แหล่งข่าวจากวงการสายการบินกล่าวว่า ลำพังการแก้ไขเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นในกรณีนี้ของแอร์เอเชียคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากมีการแก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว หากกระทรวงพาณิชย์ตีความว่าเป็นนอมินีก็มีแนวทางแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากมีวิธีหลบหลีกหลายช่องทาง
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมานั่นคือเรื่องของกลยุทธ์จากการทำตลาดของไทยแอร์เอเชียที่มีการทำโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งจากกำหนดราคาไม่กี่ร้อยบาทก็สามารถบินได้แล้ว แน่นอนว่าเรื่องของราคาต่ำเป็นตัวดึงลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเส้นทางที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่นานนัก
แม้ที่ผ่านมาสายการบินต้นทุนต่ำจะถูกมองว่ามีความปลอดภัยต่ำไปด้วยเช่นกัน แต่ปัญหานี้ทางแอร์เอเชียได้ขจัดออกไปด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่จากแอร์บัสประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะรุ่น A320 มากถึง 150 ลำ เพื่อนำมาประจำการในฝูงบินทดแทนเครื่องบินเดิม พร้อมทั้งการขยายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มความถี่ในเส้นทางการบินให้มากขึ้น
นี่คือการเปิดฉากรุกของโลว์คอสแอร์ไลน์ที่เคยมีกลุ่มชิน คอร์ป ถือหุ้นอยู่ แม้ระยะนี้จะยังไม่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะต่อสายการบินของชาติอย่างการบินไทยหรือนกแอร์ แต่ในระยะยาวแล้ว เรื่องของราคาถูก และเครื่องบินใหม่ที่มีพิสัยการบินที่บินได้ไกลมากขึ้นและจุผู้โดยสารมากกว่าเดิมย่อมจะสร้างปัญหาให้กับการบินไทยและนกแอร์มากเช่นกัน
ถึงวันนี้แม้ประเทศไทยจะมีสายการบินต้นทุนต่ำที่เป็นของคนไทยอย่างไทยแอร์เอเชีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจในการจัดการหรือตัดสินใจเกือบทั้งหมดอยู่ที่แอร์เอเชีย มาเลเซีย เห็นได้จากการสั่งซื้อเครื่องบินที่มากเป็นประวัติการณ์อย่างนี้ทางมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น
ขณะในส่วนของประเทศไทยนั้นเป็นเพียงการทำการตลาด หาเส้นทางการบิน สร้างลูกค้าในประเทศและติดต่อกับหน่วยงานราชการให้กับแอร์เอเชียเท่านั้น
อย่าลืมว่าการเปิดสายการบินในประเทศตามกฎหมายไทยจะต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ซึ่งไทยแอร์เอเชียก็ทำถูกต้องตามกฎหมายไทย ทำให้สามารถเปิดเส้นทางการบินในประเทศไทยได้ จริง ๆ แล้วแอร์เอเชียที่เข้าไปทำการบินในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็ใช้หลักการเดียวกันคือใช้บริษัทสัญชาตินั้นทำการขออนุญาตขอเส้นทางการบินแล้วเข้าไปถือหุ้นรวมกัน แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยแต่อำนาจการตัดสินใจในนโยบายหลักอยู่ที่มาเลเซีย
นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการพ้นอำนาจของทักษิณ ชินวัตร ที่รัฐบาลใหม่ต้องตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ด้านการทุจริตและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|