|
จะเอายังไง...กับหุ้นไทยในมือต่างด้าว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมนักวิเคราะห์ชี้หุ้นไทยในมือต่างชาติเกือบ 30% มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท แม้จะแก้กฎหมายแต่ยังมีเรื่องให้คิดต่อ เทคโอเวอร์-เทนเดอร์ออฟเฟอร์-แนวทางการตรวจสอบพิสูจน์ จะเอายังไง มือกฎหมายติงถ้าจะลดบทบาทต่างด้างคงต้องปิดให้ทุกช่องโห่ว สิทธิ์ออกเสียงผู้ถือหุ้น-คณะกรรมการออกเสียง-อำนาจผู้ลงนาม
ในยุคที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพง่อนแง่นแสนสาหัสจากการที่โดนหม้อต้มยำกุ้งลวกเมื่อ 10 ปีก่อน กฎหมายจึงได้มีการแก้ไขเปิดช่องให้เงินต่างด้าวสามารถเข้ามาได้มากขึ้นทั้งการ ซื้อหุ้นเดิม หรือ เพิ่มทุนใหม่ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นยาวิเศษที่เข้ามาช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้ไม่น้อย แม้ฝรั่งกลุ่มนี้จะได้กำไรจำนวนมากจากการซื้อของถูกมาขายแพงก็ตามที แต่สำหรับวันนี้ที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้นหลังจากเป็นทางผ่านในการสร้างผลประโยชน์ให้ต่างชาติมานาน คำถามคือ เรายังต้องการให้ต่างชาติถือหุ้นส่วนใหญ่เพื่อครอบงำกิจการของไทยอีกต่อไปหรือไม่
ในงานสัมนา"ผลกระทบของพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวฉบับแก้ไขต่อบริษัทจดทะเบียน"ซึ่งจัดโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์และไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มจาก เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส กล่าวว่าการลงทุนของต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีนัยสำคัญต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย โดยจากข้อมูลปี 40-49 พบว่ามีนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2.4 แสนล้านบาท
โดยปริมาณตัวเลขการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างชาติสูงสุดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 49 ที่มีมูลค่ามากถึง 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น30% ของตลาดรวม ล่าสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่า1.425 ล้านล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนที่มีรายชื่อปิดโอน ซึ่งส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์การลงทุนก็คือการมีสิทธิในการออกเสียง(โหวต) หรือสิทธิในการรับเงินปันผลด้วย
นอกเหนือจากการลงทุนตรงของต่างชาติแล้ว ในช่วงหลังต่างชาติสามารถลงทุนผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในหลักทรัพย์อ้างอิง(NVDR)ได้ด้วย โดยตัวเลขสิ้นปี 49 พบว่ามีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของมูลค่าตลาดรวม และหากนับรวมกับที่มีการปิดโอนในชื่อของนักลงทุนต่างประเทศ จะมีมูลค่ารวมกันมากถึง 1.55 ล้านล้านบาท
หากแยกเป็นรายกลุ่มหลักทรัพย์จะพบว่าต่างชาติลงทุนอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 24% รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน 21.2% ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในหุ้นกลุ่มแบงก์นั้น ได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2540ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นค่อนข้างมากหลายๆ แบงก์จะถือหุ้นเกินเพดาน ซึ่งจะได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดเกือบ 500 แห่ง พบว่ามี 84 บริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นเกิน 40% และมีการปิดโอนชื่อด้วย แยกเป็น 40 บริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเกิน 66.67% แต่กลุ่มบริษัทดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องแก้ไขการถือครองหุ้นของต่างชาติ เนื่องจากได้รับการยกเว้นเช่นกรณีได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจภายใต้พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม ส่วนอีก 40 กว่าบริษัทที่เหลือมีบางบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้แม้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสัดส่วนที่เหลืออีก 51% จะเป็นไทยแท้หรือไทยเทียม โดยบริษัทที่มีความเสี่ยงประกอบด้วยบริษัท บางกอกแร้นท์ ไรมอนแลนด์ และโกลเด้นแลนด์ส่วนกรณีกุหลาบแก้ว หากพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นต่างด้าวก็จะมีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มชินคอร์ป แต่ชินแซทเทลไลท์ อาจจะไม่เข้าข่าย
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ในอนาคตจะมีการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ เช่นกฎหมายเทนเดอร์ออฟเฟอร์ หากต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกินจุดที่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร แนวทางการตรวจสอบและการพิสูจน์เจตนาจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าสภานิติบัญญัติจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง
ด้านกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในบัญชีที่ 1 ของ พรบ.ประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวหากเข้าข่ายจะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติหรือเลิกกิจการ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจจะเร่งให้เกิดการร่วมทุนกับต่างชาติเร็วขึ้น ขณะเดียวกันอาจจะทำให้การระดมทุนยากขึ้น โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะติดปัญหาการสำรองเงินทุน30% ตามเกณฑ์แบงก์ชาติ
ขณะที่ ศิริพงศ์ ศุภกิจจานุสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้ตั้งข้อสังเกต พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวฉบับแก้ไขว่า แม้ว่ากฎหมายที่ออกมาให้ปรับปรุงในส่วนของการมีสิทธิออกเสียงของต่างด้าวไม่ให้เกิน 50% ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า แม้ต่างด้าวจะเป็นเสียงข้างน้อยแต่ในข้อกฎหมายไม่มีข้อห้ามว่าคณะกรรมการจะต้องมีต่างด้าวร่วมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นช่องโหว่ได้หรือไม่ รวมถึงอำนาจการลงนามต่างๆ ของบริษัท หากบอร์ดตัดสินใจที่จะให้ต่างด่าวมีสิทธิในการลงนามแล้ว ต่างชาติก็ยังสามารถควบคุมธุรกิจได้เหมือนเดิม
นอกจากนี้เรื่องของการกำหนดระยะเวลาในการแจ้งและให้มีการปรับปรุงภายในเวลาที่กำหนด มองว่าจะมีบริษัทไหนที่กล้ายอมรับว่าตัวเองผิดและต้องปรับปรุง หรือในทางกลับกันหากบริษัทใดยอมรับว่าจะต้องมีการปรับปรุง ก็จะต้องมีการรายงานเพื่อต้องการดำเนินธุรกิจต่อ ซึ่งหากมีความผิดจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอการพิสูจน์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการ ก็ต้องการความชัดเจนเช่นกัน
ผลกระทบโดยทั่วไปในแง่ของการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว อาจจะส่งผลให้บริษัทต่างประเทศที่มีนโยบายที่จะเข้ามาร่วมลงทุน มีแนวโน้มที่จะเป็นการปล่อยสินเชื่อแทน รวมถึงการสนับสนับทางด้านเทคโนโลยีอาจจะไม่ทันสมัยเหมือนกับเป้าหมายเดิมอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
ด้านดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ ประธานกรรมการโครงการปฏิรูปประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ มองว่า ผลกระทบการแก้ไขพ.ร.บ.ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินมากนัก แต่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายการบริหารของประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่มาถึงตอนนี้ รัฐบาลได้มีการใช้มาตรการที่เหมือนกับไม่ต้อนรับต่างชาติ ดังนั้นจึงมองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ คือทำให้ภาวะการลงทุนในประเทศปีนี้และปีหน้าไม่สดใส โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่ำสุดในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา
โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขทันที ซึ่งการแก้ไขในช่วงนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นการไม่ต้อนรับต่างชาติ และดูเหมือนว่าจะเป็นการกระทำที่ต้องการเอาผิดกุหลาบแก้ว แต่ผลกระทบต่อภาพรวม
"นโยบายที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ยิ่งเปิดมากเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะจะเป็นการกระจายความมั่งคั่งออกไป แต่ต้องมีการจัดระเบียบที่ดี แต่กรณีของเราดูเหมือนว่าเมื่อเกิดปัญหาเรื่องดีลชินคอร์ปแล้วจึงค่อยมาแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว"
ขณะนี้ทั่วโลกเป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่งการที่พ.ร.บ.ออกมาในจังหวะที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้การลงทุนของต่างประเทศหนีไปลงทุนในประเทศอื่น เช่นเวียดนาม และในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งจะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทในประเทศมีการเปลี่ยนไป โดยจะมีการกู้เงินมากขึ้น ดังนั้นมองว่า พ.ร.บ.ที่จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ จะต้องมีการทบทวนในบางประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|