พอร์ตหุ้นสิงคโปร์ไม่สะเทือนบัวแก้วพิพาทเหตุถือหุ้นยาว หวังอนาคต กินปันผล


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

พอร์ตสิงคโปร์ลงทุนหุ้นไทยมากเป็นอันดับ 2 เสี่ยงกระทบแต่ไม่กระเทือนกรณีบัวแก้วไทยสอนมวยสิงโตทะเล เหตุมีการปรับพอร์ตลดการลงทุนไปตั้งแต่ปีที่แล้วประกอบกับเป็นหุ้นในกลุ่ม SET 100 พื้นฐานดี หวังกินระยะยาว แถมได้อานิสงค์เงินบาทแข็งค่า เฉพาะปีที่แล้วก็ได้ปันผลไปแล้วเกือบ 2 หมื่นล้าน โบรกฯประเมินเป็นแค่การวิตกช่วงสั้นๆ

หลังจากที่ประเทศไทยได้ตอบโต้ประเทศสิงคโปร์จากการเผยแพร่ข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าพบรองนายกฯ ชัย จายะกุมาร (S.Jayakumar) โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยได้สั่งระงับการติดต่อชั่วคราวทางการทูตในระดับเจ้าหน้าที่ถึงรัฐมนตรี ทำให้เหล่าบรรดาขาเล็กขาใหญ่ในตลาดหุ้นต่างก็อกสั่นขวัญแขวนไปตามๆกันว่าดัชนีที่เปราะบางอยู่ขณะนี้จะออกอาการลูกผีลูกคนขนาดไหน ทั้งนี้เพราะสิงคโปร์ถือได้ว่าเป็นต่างชาติที่มีน้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากเป็นอันดับ2 รองจากอังกฤษ

สำหรับหน่วยงานหลักของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีการกระจายการลงทุนไปทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย มีอยู่ด้วยกัน 2 แห่งคือ บรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งรัฐบาลสิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corporation :GIC) และ บริษัทร่วมลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังสิงคโปร์ 100% ภายใต้ชื่อเทมาเส็ก โฮลดิ้ง นอกจากนี้ในบางครั้งเทมาเส็ก และ GIC ก็อาจไม่ได้เข้าไปถือหุ้นในต่างประเทศโดยตรง แต่ใช้บริษัทในเครือข่ายที่เรียกว่า GLC (government-linked companies) หรือ TLC (Temasek-linked companies) เข้าไปถือแทน

โดยบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งรัฐบาลสิงคโปร์(GIC) จะมีทำหน้าที่บริหารเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่สิงคโปร์สะสมขึ้น จากการค้าขายกับต่างประเทศ โดยปกติแล้วเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจะบริหารโดยธนาคารกลาง ซึ่งในกรณีของสิงคโปร์ คือ The Monetary Authority of Singapore แต่รัฐบาลสิงคโปร์มีความเชื่อว่า สิงคโปร์สามารถกระจายการลงทุน และความเสี่ยงได้ดีกว่าหากลงทุนในสินทรัพย์ และหลักทรัพย์ที่หลากหลายประเภท เช่น หุ้นจดทะเบียนในตลาด บริษัทเอกชนทั่วไป อสังหาริมทรัพย์และกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) นอกเหนือจากพันธบัตร และตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งถ้าอยู่ภายใต้การบริหารของธนาคารกลางโดยปกติทั่วไป ธนาคารกลางมักจะลงทุนในเงินสดสกุลสำคัญต่างๆ และพันธบัตรเท่านั้น แต่ที่ผ่านมา 25 ปี GIC ประสบความสำเร็จในการบริหารเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 9.5% และหากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละ 5.3% โดยในปัจจุบันมีเงินทุนให้บริหารกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ จากทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของสิงคโปร์ 1.2 แสนล้านดอลลาร์

ส่วน เทมาเส็ก โฮลดิ้ง นั้นซึ่งมีอายุกว่า 33 ปีแล้ว ถือเป็นเครื่องมือการลงทุนของรัฐบาลในรูปบริษัทที่มุ่งเป็นเจ้าของในกิจการ และบริษัทที่มีความสำคัญระดับชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ของชาติ ซึ่งบริษัทเหล่านั้นจะมีอัตราการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรได้สูงมาก โดยเทมาเส็กโฮลดิ้งมีผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทอยู่ที่ 18% ต่อปี และสามารถจ่ายเงินปันผลโดยเฉลี่ยถึง 7% ต่อปี โดยในปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพเพื่อจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับภูมิภาค และไปถึงระดับโลก การลงทุนของเทมาเส็กจะมีลักษณะเป็นผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมตัดสินใจ ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นการลงทุนระยะยาว โดยมุ่งลงทุนในสิงคโปร์ ประเทศต่างๆ ในเอเชีย และในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วกลุ่มทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังมีการถือหุ้นผ่านบริษัทที่ถือหุ้นด้วยเช่น กรณีการถือหุ้น บมจ.ซีเอสล๊อกอินโฟ(CSL), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN) ผ่านบริษัทสิงคโปร์เทเลคอม หรือ การที่ธนาคารดีบีเอสสิงคโปร์ ถือหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB)เป็นต้น

โดยกลุ่มทุนดังกล่าวนี้จะเน้นถือหุ้นในกลุ่ม SET 100 เป็นเกณฑ์เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ, ผลประกอบการดี, ซื้อขายคล่อง, ปันผลสูง, มีความเสี่ยงต่ำ โดยมีหุ้นหลักอยู่ประมาณ 30-40 ตัว อาทิ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC), บมจ. บ้านปู (BANPU) ,บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH), บมจ.แคลคอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET), บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF),บมจ.ซีเอสลอคอินโฟร์(CSL), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH), บมจ. อสมท (MCOT), บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ. ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF), บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) ,บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธา (BAY),บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB),บมจ.ชินคอปอเรชั่น(SHIN) บมจ.ธนาคารทิสโก้ (TISCO), บมจ.ปตท. (PTT) บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ,บมจ. ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น (CP7-11) ,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. บางจากปิโตรเลียม (BCP), บมจ. พรีเชียสชิพปิ้ง (PSL) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับพอร์ตลดสัดส่วนไปบ้างแต่ก็คงยังมีหุ้นเหลืออยู่

ในปีที่ผ่านมากลุ่มทุนนี้ได้รับเฉพาะในส่วนของเงินปันผลจ่ายจากการถือหุ้นไทยรวมแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งมาจากหุ้นกลุ่มชินฯ

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่มีการระบุสัญชาติสิงคโปร์ เช่น กลุ่ม HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD ก็มีการเข้ามาลงทุนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งหมด 75 บริษัท เน้นลงทุนในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7 บริษัท ขณะที่ถือหุ้นในกลุ่มสื่อสาร 7 บริษัท รวมไปถึงกลุ่ม CHASE MANHATTAN (SINGAPORE) NOMINEES PTE ที่ลงทุนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งหมด 16 บริษัท เน้นกลุ่มธุรกิจธนาคาร สื่อสาร และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ด้านการใช้บริการซื้อขายหุ้น ถึงแม้ในไทยจะมีโบรกเกอร์สัญชาติสิงคโปร์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น กิมเอ็ง ฟิลลิป หรือ ยูโอบี เคย์เฮียน แต่ทว่าในการซื้อขายบางครั้งก็ไม่ได้มีการทำรายการธุรกรรมดังกล่าวผ่านโบรกฯเหล่านั้นไปเสียทั้งหมด อย่างเช่น ดีลชินคอร์ปเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีการซื้อหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ 6 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์ ,ยูบีเอส ,ภัทรธนกิจ , ไทยพาณิชย์ ,ธนชาติ,กิมเอ็ง ,ทรินิตี้

เมื่อเกิดกรณีกระทบกระทั่งเช่นนี้ก็มีหลายคนที่เป็นห่วงดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ต่ำอยู่แล้วว่าอาจจะต่ำลงไปอีกได้ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข่าวดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะสั้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่กระทบต่อการลงทุนเนื่องจากผู้ลงทุนจะมองปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักและบริษัทแม่ในสิงคโปร์ก็ยังสนับสนุนธุรกิจเป็นอย่างดี แม้ข่าวข้างต้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลให้นักลงทุนในตลาดบ้างก็ตามที

สอดคล้องกับผู้คร่ำหวอดในวงการนี้อีกคนมองว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นแค่การประท้วงเล็กน้อยเท่านั้นไม่ได้มีอะไรใหญ่โตถึงขั้นเรียกทูตกลับหรือปิดสถานทูต ซึ่งคงไม่น่าจะลุกลามอะไรไปมากมาย เพราะการลงทุนของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาวไม่ห่วงภาพลบในระยะสั้นเท่าไหร่นัก เหมือนกับการเข้ามาเทกโอเวอร์แบงก์ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำจนคุ้มให้แก่ผู้ถือได้ เป็นเรื่องของการมองอนาคตมากกว่า

"เงินก็คือเงิน แม้ต่างประเทศก็จะมีสกุลที่แตกต่างกันไป แต่ต้องไม่ลืมว่าหลักการของเงินมันจะตรงข้ามกับน้ำคือ น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ขณะที่เงินจะไหลจากที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปที่ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง เป็นที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียก็เหมือนขมิ้นกับปูนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่วันนี้หลายๆธุรกิจในมาเลยเซียก็มีสิงคโปร์เข้าไปถือหุ้น สำหรับสเน่ห์ของตลาดไทยตอนนี้มีค่า P/E ต่ำมากจนน่าลงทุนคือประมาณ 8เท่า เทียบกับของสิงคโปร์ที่ 14.7เท่า บวกกับเงินปันผลจ่ายที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 4.37% เทียบกับของสเตรทไทม์ที่ 2.7% และยังมีการแข็งค่าของเงินบาทมาเป็นกำไรของแถม มันชัดเจนอยู่แล้วว่าตลาดเรามันน่าจะมีโอกาสอัพไซด์สร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า ธุรกิจก็ย่อมเป็นไปตามครรลองของธุรกิจ"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.