ผวาสิงคโปร์ถอนทุน-ย้ายฐานอ้างบรรยากาศไม่เอื้อถูกตีตราเป็นศัตรู!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยตัวเลข 7ปี ทุนสิงคโปร์แห่เข้าไทยกว่า 250รายในธุรกิจหลัก 5ประเภท ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนBOI สะพัดกว่า 2.8หมื่นล้านเมื่อปี49เป็นรองแค่ญี่ปุ่นประเทศเดียว ด้านหอการค้า –สภาอุตฯเชื่อผลกระทบไม่ถึงขั้นถอนทุน –ย้ายฐานการผลิต ส่วนนักวิชาการระบุ ‘ทุนสิงคโปร์’กำลังถูกมองเป็นศัตรูจากสังคมเชื่อหากสถานการณ์ไม่ดีเกิดการประท้วงไม่รู้จบกลุ่มทุนสิงคโปร์ถอนทุน-ย้ายฐานการผลิตแน่

ระเบิดลูกล่าสุดที่มีผลจากกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย หลังจากกระทรวงต่างประเทศไทยประกาศระงับความร่วมมือภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Program หรือ ซีเสป (CSEP) และยังยกเลิกการประชุม CSEP ครั้งที่ 8 ซึ่งเดิมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29-31 มกราคม 2550 รวมถึงการถอนคำเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ ที่จะมาเยือนไทย ในวันที่ 29-30 มกราคม 2550 เพื่อร่วมในการประชุม CSEP

แม้เรื่องดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องการเมืองเป็นหลักแต่ผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า -การลงทุนของนักลงทุนทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะกลุ่มนักลงทุนสิงคโปร์ถือว่าเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดรองจากนักลงทุนญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปเท่านั้น แม้หลายฝ่ายจะรีบออกมาการันตีอย่างทันทีทันด่วนว่าผลกระทบที่ตามมาจะไม่มีแน่นอน แต่ความเป็นจริงนั้นอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้

ทุนลอดช่องแห่เข้าไทยกว่า 250 ราย

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า กลุ่มนักลงทุนสิงคโปร์เป็นกลุ่มนักลงทุนหลักที่เข้ามาในไทยประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และหากแยกตามประเภทธุรกิจที่เข้ามาลงทุนตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2549 พบว่ามีนักลงทุนสิงคโปร์ให้ความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยมากถึง 250 รายในธุรกิจหลัก 5 ประเภทด้วยกันคือ 1.)เป็นตัวแทนสำนักงานผู้แทน / สำนักงานภูมิภาคเป็นบริษัทลูกที่อยู่ในประเทศไทยรายงานความเคลื่อนไหวของตลาดในประเทศไทย ,จัดหาแหล่งสินค้าและรายงานความเคลื่อนไหวต่อบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ จำนวน 141 ราย 2.)ธุรกิจบริการเช่น การให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือ , บริการให้เช่า, ให้เช่าแบบลีสซิ่ง , ให้เช่าซื้อทรัพย์สิน ,บริการซ่อมแซมสินค้า,เฉพาะยี่ห้อฯลฯ จำนวน 73 ราย 3.)ธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทน ,ค้าปลีก , ค้าส่ง และบริการที่เกี่ยวเนื่องจำนวน 20 ราย 4.)ธุรกิจก่อสร้าง, บริการทางวิศวกรรม และบริการเป็นที่ปรึกษาโครงการให้ภาครัฐจำนวน 9ราย 5.)ธุรกิจบริการทางบัญชี ,บริการทางกฎหมายจำนวน 7 ราย

ปี’49ทุนสิงคโปร์สะพัดกว่า 2.8หมื่นล้าน

ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน( BOI )ระบุในชั้นคำขอส่งเสริมการลงทุนปี 2549 ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคมมีนักลงทุนสิงคโปร์มายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 86 รายจำนวน 108 โครงการมูลค่ากว่า 28,921 ล้านบาทมากกว่า 2548 ถึง 1เท่าตัวซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวที่มียอดนักลงทุนมายื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI กว่า 110,476 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจที่นักลงทุนสิงคโปร์สนใจลงทุนโครงการในรอบปีที่ผ่านมาแบ่งเป็น

1.โครงการขนาดน้อยกว่า 50 ล้านจำนวน 34 โครงการมูลค่า 725.4 ล้านบาท

2.โครงการขนาด 50 -99ล้านบาทจำนวน 10 โครงการมูลค่า 748.4 ล้านบาท

3.โครงการขนาด100 -499ล้านบาทจำนวน 29 โครงการมูลค่า7,694.5ล้านบาท

4.โครงการขนาด 500 -999ล้านบาทจำนวน 4โครงการมูลค่า 2,898.4ล้านบาท

5.โครงการขนาดใหญ่ลงทุนมากกว่า 1,000ล้านบาทจำนวน 9โครงการมูลค่า 16,854.6 ล้านบาท อย่างไรก็ดี 86โครงการของนักลงทุนสิงคโปร์ข้างต้นยังสามารถแบ่งเป็นโครงการใหม่จำนวน 57 โครงการมูลค่า 11,315.3ล้านบาท และเป็นโครงการที่ขอขยายกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 29 โครงการมูลค่า 17,606ล้านบาท

สิงคโปร์ ฮิตลงทุนภาคบริการ-อิเล็กฯ

สำหรับอุตสาหกรรมที่กลุ่มนักลงทุนสิงคโปร์ให้ความสนใจมากที่สุดคือธุรกิจภาคบริการจำนวน 33 โครงการมูลค่า 7, 741.5ล้านบาท ต่อมาคืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 21 โครงการมูลค่า 14,549.1ล้านบาทรองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและเครื่องจักรจำนวน 20โครงการมูลค่า 4,680.2ล้านบาทอับดับต่อมาคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีและกระดาษจำนวน 8 โครงการมูลค่า 1,659.9ล้านบาทส่วนอันดับสุดท้ายคือ อุตสาหกรรมการเกษตรจำนวน 4 โครงการมูลค่า 290.6 ล้านบาท

โดยหากแบ่งแยกลงไปอีกพบว่ามีนักลงทุนจำนวน 20 รายที่เข้ามาลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกระหว่าง 80-100 % ที่ผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 ที่นักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกมีจำนวน 22 โครงการแต่มีมูลค่าแค่ 5,377.9ล้านบาทซึ่งปี 2549 มีเงินทุนไหลเข้าสูงกว่าปี 2548 กว่า1 เท่าตัว อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าในปี 2549 ที่ผ่านมานักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกในสัดส่วน 100 % ของที่ผลิตได้จำนวน 15 โครงการมีมูลค่าโครงการกว่า 6,500 ล้านบาท

นอกจากนี้แล้วในจำนวนโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากBOI จำนวน62รายทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 6,000ตำแหน่งในจำนวนนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและสิงคโปร์จำนวน14โครงการมูลค่ากว่า 630ล้านบาทท

เชื่อไม่กระทบการค้า-การลงทุน

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าไทยกล่าวว่า ในเรื่องการเมืองคงจบกันไปแล้วเพราะเท่าที่ติดตามดูกระทรวงต่างประเทศของไทยก็ได้แสดงจุดยืนที่ไม่พอใจไปแล้ว ซึ่งคิดว่าหากไม่มีอะไรเพิ่มเพิ่มเติมนอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์คงจะกลับอยู่ในจุดเดิมไม่มีอะไรน่าห่วง

ขณะเดียวกันเชื่อว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ขยายวงกว้างจะไม่กระทบต่อการค้า-การลงทุนจากลุ่มทุนสิงคโปร์เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มทุนเหล่านี้เขามีความเป็นมืออาชีพแม้เกิดการประท้วงตามสถานที่ต่างๆของกลุ่มทุนสิงคโปร์ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติในประเทศเสรีที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้คงไม่มีผลกระทบใดๆ

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่กลุ่มทุนสิงคโปร์จะถอนทุน หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น” ประธานสภาหอการค้า ระบุ

ชี้อาจกระทบกลุ่มทุนในตลท.-ธนาคารฯ

สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ซึ่งเท่าที่สอบถามจากผู้ประกอบการสมาชิกส.อ.ท.ไม่มีใครทำธุรกิจโดยตรงกับสิงคโปร์ หรือร่วมทุนกัน และการลงทุนที่ผ่านน้อยมากที่นักลงทุนไทยไปประกอบธุรกิจที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ในทางกลับกันกลุ่มทุนสิงคโปร์ต่างหากที่หลั่งไหลเข้าไทยจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีปกติเรื่องการเมืองกับเรื่องธุรกิจแทบทุกประเทศจะต้องแยกออกจากกันอยู่แล้ว จึงคิดว่าปัญหาดังกล่าวน่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะหากจะบอกว่าจะเกิดการย้ายฐานการผลิตมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะทุนสิงคโปร์ที่เข้ามามีจำนวนมาก ทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศน่าลงทุนมากที่สุดหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเชียนด้วยกัน

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นหากจะมีน่าเป็นในส่วนตลาดทุน,กลุ่มไฟแนนซ์ โลจิสติกส์ ธนาคารต่างๆที่ทุนสิงคโปร์เข้ามามากกว่าสาขาอื่นๆ ซึ่งคาดว่าทุกฝ่ายกำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลไทย”ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

ชี้ ‘สิงคโปร์’จ่อย้ายฐานการผลิต

ขณะที่ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ประธานโครงการอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมองว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้า-การลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวแค่ไหน เพราะจากเหตุการณ์รัฐประหารจนถึงเหตุการณ์ปัจจุบันย่อมมีผลกระทบทั้งสิ้น แต่กรณีดังกล่าวเจาะจงลงไปว่าเป็นกลุ่มทุนจากสิงคโปร์เพราะบรรยากาศในประเทศไทยมองชาวสิงคโปร์เป็นศัตรูไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อบรรยากาศในไทยไม่เอื้อต่อกลุ่มทุนสิงคโปร์เขาจะทนอยู่ทำไม เมื่อมีทั้งเงิน เทคโนโลยี ซึ่งสามารถย้ายฐานการผลิตได้ง่ายมาก และสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายทุนในยุคทุนนิยมเสรี ซึ่งกลุ่มทุนเหล่านี้อาจจะได้ย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย ที่เศรษฐกิจไม่ต่างกันมากที่พร้อมจะอ้าแขนรับและก็อาจจะสบายใจมากกว่าอยู่ในประเทศไทยด้วย

ไทยมอง ‘สิงคโปร์’เป็นศัตรู !

ประธานโครงการอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำว่าการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช. และ ผบ.ทบ ให้สัมภาษณ์ว่าสิงคโปร์ได้ดักฟังโทรศัพท์ เรื่องดังกล่าวถือว่าร้ายแรงมากนะ เพราะท่าทีที่แสดงออกบอกชัดเจนว่าเรามองสิงคโปร์เป็นศัตรูทางการเมือง เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจไปแล้วนักลงทุนสิงคโปร์ที่อยู่ในไทยเขาจะคิดอย่างไร

ดังนั้นบรรยาการลงทุนต่างๆในขณะนี้จึงไม่เอื้อต่อนักลงทุนจะเห็นได้จากปัจจุบันทั่วประเทศไทยเริ่มมีการประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนสิงคโปร์คงต้องดูสถานการณ์ไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มว่าอาจจะไปสู่ถอนทุนในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะการตอบโต้ระหว่างรัฐต่อรัฐแบบนี้ไม่ค่อยได้เห็นในปัจจุบันและอาจจะขยายวงกว้างนำไปสู่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามมาได้มากมาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.