พฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรยากาศการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับแต่เริ่มก่อตั้งของบริษัทเวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม (WMS) ค่อนข้างร้อนอบอ้าว เพราะนอกจากเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในประเทศไทยแล้ว ยังจัดขึ้นในวันเดียวกับที่เครื่องปรับอากาศของห้องซันฟลาวเวอร์ ภายในบางกอกคลับ บนชั้นที่ 28 อาคารสาธร ซิตี้ เกิดขัดข้องขึ้นชั่วคราว

Edward A. Corcoran ประธานกรรมการ และผู้อำนวย การฝ่ายปฏิบัติการ WMS ถึงกับต้องถอดเสื้อนอกออกระหว่างการแถลง

"ปริมาณธุรกิจของเรายังค่อนข้างต่ำและไม่มั่นคง เนื่อง จากยังมีผู้ให้บริการอีกหลายรายที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกฎหมาย และกฎหมายเองก็ยังนำมาบังคับใช้ไม่เต็มที่" Edward Corcoran ให้เหตุผล

WMS เป็นผู้ให้บริการศูนย์กำจัดของเสียชนิดไม่อันตรายครบวงจร ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการรายเดียวในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการ "ศูนย์กำจัด ของเสียครบวงจรเพื่อสิ่งแวดล้อม" (Eastern Seaboard Environmental Complex : ESBEC) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 275 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน)

ESBEC ให้บริการหลุมฝังกลบขยะไม่มีพิษแบบนิรภัย (Secure Landfill) ที่ได้รับการออกแบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังให้บริการขนส่งและคัดแยกขยะเพื่อนำมาสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Recycle) บริการบำบัดน้ำเสีย ระบบรวบรวมและกำจัดก๊าซ และบริการตรวจสอบ และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และระบบ ISO 14000

กลุ่มลูกค้าของ ESBEC ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีขยะมูลฝอยชนิดไม่อันตรายในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าไม่เฉพาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังขยายขอบข่ายการให้บริการไปทั่วประเทศ

ESBEC เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ปริมาณธุรกิจที่เข้ามามีน้อยมาก

ความจุของหลุมฝังกลบของ ESBEC สามารถรองรับขยะได้ในปริมาณสูงสุดถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความสามารถ ในการให้บริการตรวจรับ และฝังกลบขยะวันละ 500-2,000 ตัน แต่ปริมาณขยะที่มีเข้ามาในแต่ละวัน ปัจจุบันมีไม่ถึงครึ่ง

"มันเป็นเรื่องของพฤติกรรม (behaviour) ของนักธุรกิจไทย ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง"

Corcoran ค่อนข้างจะเน้นย้ำเรื่องความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง behaviour บ่อยครั้งตลอดการแถลงข่าว และ behaviour ที่เขาสรุปออกมาได้มีหลายข้อ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของการลดต้นทุน โดยเฉพาะความนิยมในการกำจัดขยะโดยใช้วิธีการเทกอง ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าวิธีการฝังกลบ ทำให้บริษัทอุตสาหกรรมของไทยไม่นิยมใช้วิธีหลัง แม้ว่าจะถูกหลักวิชาการมากกว่า

ปัจจุบันการให้บริการกำจัดขยะโดยวิธีการเทกองในประเทศไทย มีผู้ให้บริการอยู่แล้วคือผู้บริหารส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ส่วนมากเป็นการจัดการ โดยปราศจากการควบคุมให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยเป็น เพียงการนำขยะมาเท และกองสุมไว้เฉยๆ

"แม้แต่บริษัทที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศ ก็มีหลายแห่งที่ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้การรับรองในมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ ISO 14000 เอง ก็ไม่เปิดเผยว่าบริษัทเหล่านั้นมีวิธีการจัดการกับขยะ หรือของเสียอย่างไร โดยวิธีใด"

ESBEC คิดค่าใช้จ่ายในการจัดการกับขยะในอัตราตันละ 1,000-1,500 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเทกอง โดยผ่านเทศบาลตกเดือนละไม่ถึง 100 บาท นอกจากนี้กิจการอีกหลายแห่งยังนิยมนำขยะไปทิ้งยังที่ว่างเปล่า โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจของ ESBEC

"ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับของเสียของ ESBEC คิดแล้วไม่ถึง 0.1% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด" เขาย้ำว่าแม้ดูตัวเลขอาจสูง แต่ผลที่ได้รับต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และประโยชน์ที่จะตกกับสังคมแล้วถือว่าคุ้มค่า

อีกจุดหนึ่ง ซึ่ง Corcoran พยายามย้ำคือภาวะการแข่งขัน การค้าในตลาดโลกปัจจุบัน ที่กำลังมีความพยายามเปิดเสรีทางด้านภาษี ดังนั้นแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องสรรหาวิธีการกีดกันการค้ารูปแบบอื่น ซึ่งประเด็นของสิ่งแวดล้อม ก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นหนึ่งที่ถูกนำมาใช้

"ระบบของ WMS ถูกออกแบบมาตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยองค์กรการค้าโลก (WTO) ตลาดร่วมยุโรป (EU) และ มาตรฐานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (USEPA)"

การแถลงข่าวเปิดตัว WMS ครั้งนี้อาจดูแตกต่างจาก การเปิดตัวบริษัทอื่นๆ ทั่วไป เพราะประเด็นที่ถูกนำมาพูดส่วน ใหญ่เป็นเรื่องของปัญหา ซึ่ง Edward A. Corcoran คงคาดหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าเหตุผลต่างๆ ที่นำมาพูดผ่านสื่อในครั้งนี้ น่าจะมีผลกระตุ้นให้เอกชนไทยมีการตื่นตัว และปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการกับขยะใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.