|
ยุคน้ำผลไม้เฟื่องฟู แบรนด์ไทย อินเตอร์แบรนด์เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ เปิดศึกตลาดน้ำผลไม้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
- ค่ายเครื่องดื่มอินเตอร์ ยกขบวน รุมชิงเค้กตลาดน้ำผลไม้
- ขนแบรนด์ดัง เปิดแนวรบครบเซกเมนต์ ตีตลาดแบรนด์ไทย
- เอฟเฟกต์ชาเขียวยอดขายดิ่ง ส่งน้ำส้ม 25% รุ่ง
- มูลค่าน้ำผลไม้โตกระฉูด 50% เฉียด 8 พันล้านบาท
กระแสความนิยมน้ำผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสุดขีด ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ต่อบรรดาค่ายเครื่องดื่มทั้งไทยและเทศ ต่างพากันเปลี่ยนทิศทางนโยบายการตลาดมาร่วมขบวนชิงชัยกันอย่างดุเดือด ยิ่งไปกว่านั้นกระแสฮิตชาเขียวที่มียอดขายร่วงโรยลงตามกาลเวลา ยังเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่ช่วยจุดชนวนทำให้ตลาดน้ำผลไม้ มูลค่า 5 พันล้านบาททวีความร้อนแรงขึ้นอย่างทันที
กอปรกับมีการคาดคะเนกันว่า การฟาดฟันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในตลาดน้ำผลไม้ จะทำให้ทุกค่ายแข่งกันทุ่มงบการทำตลาด และจะส่งผลทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่ได้จากตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ มูลค่ามากถึง 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้แนวโน้มดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง เพราะสัญญาณการแข่งขันของตลาดน้ำผลไม้ไทย ส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่กลางปี2548 ซึ่งถ้าแบ่งตลาดเป็น 2 ฟากระหว่างอินเตอร์แบรนด์คือ สแปลช ทรอปิคาน่า ทวิสเตอร์ และแบรนด์ไทยเจ้าถิ่นซึ่งมี ทิปโก้ และมาลี เป็นผู้นำตลาดน้ำผลไม้ ล่าสุดค่ายโออิชิที่ประกาศเข้ามาชิงชัยแล้ว ความคลื่อนไหวทางฝั่งอินเตอร์แบรนด์ มีความถี่ในการทำตลาดเชิงรุกมากกว่า โดยใช้เทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคที่เป็นให้ความสนใจ "น้ำส้ม"เป็นตัวเปิดตลาด
ค่ายน้ำอัดลม เปิดเกมบุกเพิ่มขาธุรกิจน้ำผลไม้
ทว่า ถ้าย้อนปรากฏการณ์น้ำผลไม้ฟีเวอร์ ขยายเข้าไปสู่กลุ่มลูกค้าผู้ดื่มทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย เริ่มขึ้นเมื่อเหล่าบรรดาค่ายเครื่องดื่มอินเตอร์แบรนด์ที่เป็นผู้นำในตลาดซอฟท์ดริงค์ ค่ายน้ำอัดลมโค้ก เปิดตัว "สแปลช" น้ำส้ม 25% บรรจุภัณฑ์แบบขวดใสชนิดคืนขวด และขวดวันเวย์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มรสผลไม้ของ มินิท เมด ค่ายน้ำสัมอันดับหนึ่งของโลก เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่วัยทำงานที่ใสใจสุขภาพ โดยเริ่มวางขายในร้านค้าและร้านอาหารทั่วไปเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การจำกัดขอบเขตพื้นที่การทำตลาดที่เริ่มจากตลาดในเมือง ยังทำให้ "สแปลช"เป็นแบรนด์แรกที่เข้ามาบุกเบิกตลาดที่ใช้การทำตลาดมีความแตกต่างจากผู้เล่นตลาดในน้ำส้ม เซกเมนต์ต่ำกว่า 25% ซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับการใช้กิจกรรมส่งเสริมการขายแบบครบวงจร พร้อมออกภาพยนตร์โฆษณาเป็นเครื่องมือในการทำตลาด โดยใช้คอนเซปต์การสื่อสารที่เริ่มต้นจากน้ำส้มที่คัดมาจากส้มแคลิฟอเนีย และล่าสุดปรับมาใช้ "We Love" เพื่อสื่อสารถึงการเป็นน้ำส้มที่คนชื่นชอบ
ยิ่งไปกว่านั้น สแปลช หมายมั่นจะขึ้นครองอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดน้ำส้ม 25% ทั่วประเทศขึ้นเป็นอันดับ 1 จากปัจจุบันที่น้ำส้มสแปลชมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 12% ในตลาดรวมน้ำผลไม้ที่มีกว่า 300 แบรนด์ ซึ่งเป็นการวางอนาคต น้ำส้มสแปลช ภายหลังจากการสำรวจของ บริษัท เอซี นีลเส็น ที่พบว่าใน 4 เดือนแรกที่วางจำหน่าย สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 14% ของร้านค้าในกรุงเทพฯ และครองตำแหน่ง อันดับ 2 ของตลาดน้ำรสผลไม้ในช่องทางจำหน่ายดังกล่าว
ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เป็ปซี่ ก็ได้ฤกษเปิดตัว ทรอปิคาน่า ทวิสเตอร์ แบรนด์น้ำผลไม้ที่ได้รับความนิยมในระดับโลกมากกว่า 70 ปี และเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มจากบริษัทแม่เป๊ปซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย พร้อมอัดงบการตลาด 30 ล้านบาทเพื่อแจ้งเกิดสินค้า "การกระหน่ำโฆษณเพื่อทำให้แบรนด์ของ ทรอปิคานา ทวิสเตอร์ เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค จะเป็นการล้างไพ่ตลาดน้ำผลไม้ 10 % เพื่อทำให้ผู้บริโภคเลือกดื่มมากกว่ากลยุทธ์ด้านราคา และตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาด 6 % หรือ 240 ล้านบาท ในปีแรกของการทำตลาด" ชาลี จิตจรุงพร ผู้อำนวยฝ่ายการตลาด บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวในงานเปิดตัวน้ำผลไม้ ทรอปิคานา ทวิสเตอร์ ลงสู้ศึกในตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา"
การวางตำแหน่งสินค้าทรอปิคานา ทวิสเตอร์ มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ภายใต้คอนเซปต์ "สดชื่นแบบคนอินเลิฟ" ซึ่งชูจุดขายในแง่อารมณ์ (Emotional Benefit) แตกต่างจากสินค้าในตลาดที่ชูจุดขายในเรื่องคุณประโยชน์ของสินค้า (Functional Benefit) ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวจะเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง
รวมถึงกลยุทธ์ด้านสินค้า Winning Product มี 2 รสชาติ คือ รสส้ม ซึ่งเป็นรสยอดนิยม และรสผลไม้รวม องุ่น กีวี สตอร์เบอรี่ และWinning Packaging กลยุทธ์ด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นขวดที่มีรูปทรงทันสมัย 3 ขนาด เพื่อวางในช่องทางที่แตกต่างกันคือ ขวดแก้ว 250 มล. ราคา 13 บาทจะเน้นวางในร้านค้าทั่วไปและร้านอาหาร ขวด PET ขนาด 350 มล.ราคา 18 บาท จะวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และขนาด 1 ลิตร วางในโมเดิร์นเทรด และ Winning Marketing Activity ผ่านกิจกรรมการตลาดทั่วประเทศ สุดท้ายคือ Winning TVC สื่อโฆษณาครบวงจรทั่วกรุงเทพฯ ทั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บิลบอร์ด ภาพโฆษณาบนรถประจำทาง รวมถึงสื่อโฆษณา ณ จุดขาย
การระดมกลยุทธ์ออกมาครบทุกส่วนการทำตลาดของเป็ปซี่นั้น เป็นการวางเป้าหมายเพื่อวางแผนเปิดตัวน้ำผลไม้ลงในเซกเมนต์อื่นๆ โดยสร้างรากฐานแบรนด์ทรอปิคานา ทวิสเตอร์ ให้มีความแข็งแกร่งและเตรียมต่อยอดการทำตลาดน้ำผลไม้ในพอร์ตอื่นเข้ามาทำตลาดได้ ซึ่งมีน้ำผลไม้สินค้าหลากหลายแบรนด์ได้แก่ "Pure Premium" น้ำส้มแท้ระดับพรีเมียม "Drink"น้ำผลไม้แท้ที่เน้นในเรื่องของการช่วยเสริมสร้างวิตามินซี และ"Smoothies"เป็นน้ำผลไม้ผสมโยเกิร์ต ปราศจากไขมัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สองค่ายยักษ์ใหญ่น้ำดำขยายสมรภูมิรบจากน้ำอัดลมมาสู่น้ำผลไม้ ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 25% นั่นเพราะว่าการเติบโตที่ลดลงของตลาดน้ำอัดลม ดังนั้นการลดความเสี่ยงโดยไม่พึ่งพาการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มประเภทโคล่าหรือกลุ่มน้ำอัดลมของเป๊ปซี่ และโคคา-โคล่า โดยเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในการทำตลาดน้ำผลไม้ ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 25% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาเป็นเครื่องดื่มทดแทนน้ำอัดลม และชาเขียว เนื่องจากมีจุดขายสร้างความสดชื่น แก้กระหายที่มีราคาถูกใกล้เคียงกับเครื่องดื่มดับกระหายทั่วไป ทำให้ดื่มได้ทุกโอกาส
ที่สำคัญ ตลาดน้ำผลไม้ ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 25% มีจำนวนลูกค้ามากที่สุด ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดมีขนาดที่ใหญ่ โดยจากมูลค่าตลาดน้ำผลไม้ 5 พันล้านบาท ยอดขายของน้ำผลไม้ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 100 % มีสัดส่วนมากถึง 80 % และอีก 20 % มาจากน้ำผลไม้ 100 %
การขยายฐานเข้าไปตลาดใหม่ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับผู้นำตลาดทั้งผู้นำตลาดคือ "ดีโด้" ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดนี้มานาน โดยพื้นที่ที่เข้าถึงส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 37% และสินค้าแบรนด์เล็ก แบรนด์น้อย แต่ค่ายอินเตอร์แบรนด์ทั้งโค้ก และ เป็ปซี่ ก็เชื่อมั่นกับจุดแข็งที่มีภาษีดีทางด้านแบรนด์ที่เป็นสินค้าระดับโลก โดยที่ผ่านมากลยุทธ์ในตลาดนี้ ใช้กลยุทธ์ราคาเป็นกลไกในการขาย และยังไม่มีค่ายไหนให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากนัก และการทุ่มสรรพกำลังเข้ามาในตลาดนี้ของค่ายใหญ่ เพื่อสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์สินค้าให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกรับรู้ถึงความแตกต่างได้
นอกจากนั้น นโยบายตลาด เพื่อแก้เกมน้ำอัดลมที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงของ โคคา-โคลา และเป็ปซี่ ที่มองเห็นเทรนด์การเติบโตของตลาดน้ำผลไม้ ถือว่าเป็นบุกเบิกตลาดทำให้ค่ายอินเตอร์แบรนด์ เปิดฉากในตลาดน้ำผลไม้ตามกันมาหลายระรอก
ที่น่าสนในคือ ซานมิเกล ค่ายเบียร์ชื่อดังจากฟิลิปินส์ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จากการเปิดตัวเครื่องดื่มเบียร์ "เรดฮอร์สและซาน มิเกล"อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2548 เมื่อกลางปีที่ผ่านมาออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ โดยเปิดฉากในตลาดน้ำผลไม้ครบทุกเซกเมนต์ตามกันมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มปูทางจากการนำเข้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 100% ภายใต้แบรนด์ แบร์รี่ ซึ่งเป็นแบรนด์ดังมียอดขายอันดับหนึ่ง ข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาไกล จากออสเตรเลียที่ เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับบนกลุ่มเอและกลุ่มบี โดยใช้งบการตลาด 60 ล้านบาท ผ่านการทำตลาดอย่างครบวงจร ทั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมการตลาดครบวงจร เพื่อสร้างแบรนด์แบร์รี่ที่เป็นแบรนด์หลักให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
หลังจากนั้นแนวการทำตลาดนอนแอลกอฮอล์ครั้งแรกในบ้านเราของซานมิเกล มีการเสริมทัพสินค้าโดยออกสินค้าใหม่ที่ผลิตโดยโรงงานที่จ.ระยอง ภายใต้อัมเบรลล่าแบรนด์ "แบร์รี่"คือ Berri Sunblest ในตลาดน้ำผลไม้ 40% เริ่มวางตลาดตั้งแต่ปลายปี 2549 ในขนาด 330 ม.ล. ราคา 17 บาท เพื่อเจาะผู้หญิงอายุ 18-25 ปี วางจำหน่ายในช่องทางร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ขนาด 500 ม.ล. ในราคา 20 บาท จะเน้นในช่องทางอื่นๆ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ ซึ่งขนาดดังกล่าวจะเน้นจุดขายเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมปั้น"เบอร์รี่จุซซ่า"โซดาผสมน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นน้ำผลไม้เซกเมนต์ใหม่ เข้ามาเจาะตลาดวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป
นอกจากนั้นยังวาดอนาคตจะลงไปเล่นในตลาดน้ำผลไม้ 25% ด้วยเช่นกัน การเข้าไปตีตลาดที่ละเซกเมนต์ เป็นวิธีการเดียวที่ค่ายอินเตอร์แบรนด์ มองเห็นโอกาสทางตลาดมากที่สุด ซึ่งภาพรวมตลาดอย่างไม่มีผู้นำตลาดอย่างเบ็ดเสร็จทุกเซกเมนต์ ทั้งนี้การดำเนินการตลาดในเชิงรุกของน้ำผลไม้แบร์รี่ในปีนี้ ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาดน้ำผลไม้ 40% ประมาณ 4-5% ส่วนน้ำผลไม้แบร์รี่ 100% ตั้งเป้าภายใน 5 ปีตั้งเป้ามีส่วนแบ่งมากกว่า 40% ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 100% ประเภทนำเข้าจากต่างประเทศ
การทำตลาดของค่ายอินเตอร์แบรนด์ ที่ประสพความสำเร็จในการทำตลาดน้ำผลไม้ในบ้านเราค่อนข้างมาก "ยูนิฟ" ซึ่งเป็นค่ายน้ำผลไม้ จากไต้หวัน เพราะเพียงช่วงไม่กี่ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งการตลาดและขึ้นเป็นท๊อปทรีในตลาดน้ำผลไม้ ที่มีความเข้มข้น 100% ครองส่วนแบ่ง 17% และเป็นเบอร์หนึ่ง มีส่วนแบ่ง 34%ของตลาดน้ำผลไม้ 40%
แบรนด์ไทย ตามกระแสจ่อคิวลงน้ำผลไม้ต่ำ 25%
ทว่า หากโฟกัสประเภทน้ำผลไม้ ที่มีหน้าใหม่เข้ามาเคลื่อนไหวเข้ามาชิงรุมแบ่งเค้กมากที่สุดแล้ว ตลาดกลุ่มน้ำผลไม้ มีความเข้มข้นต่ำกว่า 25% เป็นเซกเมนต์ที่มีสภาพฝุ่นตลบ และเป็นตลาดสุดฮอตที่มีค่ายเครืองดื่มรายใหม่เรียงแถวเข้ามากมาย ไม่เว้นแม้แต่ โออิชิ ซึ่งเมื่อตลาดชาเขียวมีการเติบโตลดลง ทำให้การตลาดล่าสุดนั้นโออิชิ ยังพลิกสถานการณ์หันหัวเรือมาให้ความสนใจในตลาดน้ำส้ม ซึ่งอยู่ในเซกเมนต์ต่ำกว่า 25% พร้อมเตรียมต่อยอดไปสู่การทำตลาดน้ำผลไม้ 100% ซึ่งเป็นตลาดหินในอนาคต
ไม่เฉพาะหน้าใหม่นอกวงการน้ำผลไม้เท่านั้น ที่มองเห็นศักยภาพความร้อนแรงของตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% ว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีแนวโน้มการเติบโตน่าสนใจ ค่ายน้ำผลไม้แบรนด์ไทย ทั้งทิปโก้ และมาลี ซึ่งมีจุดแข็งรอบด้าน เพราะมีความเชี่ยวชาญตลาดน้ำผลไม้มาระยะเวลานาน จนได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภคทั้งด้านความน่าเชื่อถือของตราผลิตภัณฑ์ และรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภค ก็เตรียมปั้นแบรนด์ลงไปเล่นตลาดนี้ด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา "ทิปโก้" เจ้าตลาดน้ำผลไม้ 100 % ก็เริ่มเปิดฉากด้วยการส่ง Sub Brand จูปิเตอร์ และเตเต้ น้ำผลไม้ 10 % ในราคา 5 บาท บรรจุใน Standing Pouch หรือถุงอลูมิเนียมฟอยด์แบบตั้งได้ และแบบ Carlton หรือถุงสามเหลี่ยม เข้ามาจับกลุ่มเป้าหมายเด็ก-วัยรุ่น
ยุคเฟื่องฟูของตลาดน้ำผลไม้ ต่ำกว่า 25% ยังเป็นแม่เหล็กดูงดูดให้ "โออิชิ" เจ้าแห่งตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม เข็นน้ำส้มแบรนด์ "เซกิ" เริ่มจากยอดขายในงานพืชสวนโลก ที่ขายได้วันละกว่า 1 หมื่นขวด และหลังจากนั้นทำการตลาดโดยกระจายสินค้าให้ครอบคลุม ผ่านร้านอาหารของโออิชิ กรุ๊ป
การสยายปีกของโออิชิ เข้าไปทำตลาดสินค้าใหม่ ที่ไม่ใช่ชาเขียว แต่เป็นตลาดน้ำผลไม้นั้น ถือว่ามีความสำคัญกับ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีการวัดผลภายใน 4 เดือน "ภายในหน้าร้อนปี 2550 หากช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไม่ได้ 20% ของตลาดน้ำส้ม มูลค่าประมาณ 2.5 พันล้านบาท โดยจะมีการทบทวนแผนสองและอาจกลับลำไปเน้น 2 ขาธุรกิจหลัก ชาเขียวโออิชิ และร้านอาหารเป็นหลัก"
ดังนั้นทันทีที่กระจายสินค้าได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตลาดแล้ว ก็มีการออกภาพยนตร์โฆษณาต เพื่อย้ำแบรนด์ "เซกิ" ภายใต้งบตลาดช่วงเปิดตัว 50 ล้านบาท พร้อมทั้งลงทุนเป็นพรีเซ็นเตอร์เองในภาพยนตร์โฆษณาเนื่องจากน้ำส้ม"เซกิ" ของโออิชิ ต้องเข้าไปขับเคี่ยวกับ น้ำส้มอินเตอร์แบรนด์อย่าง สแปลช และทรอปิคาน่า ที่ส่วนแบรนด์ไทยที่จ่อคิวรอ จะเข้ามาร่วมแบ่งแชร์ตลาดน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% ปีนี้คือ กรีนสปอต ที่วางตำแหน่งสินค้าเป็นเครื่องดื่มไม่อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากว่า 50 ปี โดยใช้คอนเซปต์สื่อสารถึงผู้บริโภคว่าเป็น "อร่อยรสส้มแท้ๆ" ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่มีความใกล้เคียงกับตลาดน้ำส้มที่กำลังได้รับความนิยม เตรียมต่อยอดเพิ่มธุรกิจอีกขาหนึ่งที่บริษัทกำลังจะรุกตลาดมากขึ้นในตลาดน้ำผลไม้อีโคโนมี่ ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 25%
ขณะที่กลุ่มบริษัทมาลีสามพราน ซึ่งปัจจุบันมาลีมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 19% เป็นอันดับสองของตลาดน้ำผลไม้ 100% วางนโยบายการตลาดปีนี้ เตรียมเปิดตัวน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% เพิ่มอีก 1 แบรนด์ จากเดิมแยกเซกเมนต์ โดยทรอปิคัล ทำตลาดน้ำผลไม้ 15% และมาลีทีน ทำตลาด 40 %
สำหรับกลยุทธ์การตลาด เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดน้ำผลไม้นั้น ค่ายน้ำผลไม้ตรามาลี ได้ปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่ จากเดิมที่เน้นเจาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้หญิงเรียบง่ายมาสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพที่เหมาะกับทุกวัย และเตรียมขยายฐานลูกค้ามาสู่กลุ่มเด็กลง อายุระหว่าง 15-29 ปี
โดยเทงบ 10 ล้านบาท ออกภาพยนตร์โฆษณาครั้งแรกในรอบ3-5 ปี ภายใต้ชุด"แค่เห็นชื่อ ก็เชื่อแล้วว่าดี" เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดน้ำผลไม้ พร้อมกับเปิดตัวแคมเปญฉลอง 29 ปี ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และหมดเขตในปลายเดือนมกราคม 2550 เพื่อเป็นการขอบคุณและตอบแทนความไว้วางใจที่ลูกค้ามีให้แก่มาลีมาโดยตลอดโดยแคมเปญดังกล่าวจะส่งผลภาพลักษณ์ที่ดีต่อทั้งแบรนด์และตัวผลิตภัณฑ์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลังจากที่ผ่านมามาลี ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย (Below the line) เป็นหลักกว่า 90% ทำให้ไม่สามารถขยายฐานไปยังผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|