|

สายการบินต่างชาติเผ่น! แฉเหตุรันเวย์ร้าว-แนะเปิดดอนเมือง
ผู้จัดการรายวัน(26 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
“หมอปราเสริฐ” บางกอกแอร์เวย์ส ชี้ทางออกรัฐเร่งแก้ปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิด่วน หวั่นสายการบินต่างชาติหนีเพราะปัญหารันเวย์-แท็กซี่เวย์แตกร้าว เกรงจะเกิดอันตราย แฉปัญหาเกิดจากเทคนิคการก่อสร้างทั้งปูนและทรายที่ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำเกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมาต้องการลดต้นทุนก่อสร้างจนเกิดปัญหาตามมา ชี้ทางออกรีบเปิดสนามบินดอนเมืองเพื่อรองรับสายการบินภายในประเทศ สร้างรันเวย์ใหม่ด้วยเทคนิคการตอกเสาเข็มคุ้มค่ากว่าการรื้อมาซ่อมแซม
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ หรือบางกอกแอร์เวยส์ เปิดเผยถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีมากมายหลายเรื่องไม่ว่าห้องน้ำ แสงสว่าง พื้นที่ใช้สอยต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยแก้ไขได้ง่าย แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ ของสนามบินสุวรรณภูมิตอนนี้คือเรื่องของรันเวย์ซึ่งมีจุดใหญ่ 2 จุดคือบริเวณที่เครื่องบินจะขึ้นและลงเป็นจุดที่ต้องรับน้ำหนักเครื่องบินมากที่สุดมีการทรุดตัว เป็นลูกคลื่น ส่วนบริเวณแท็กซี่เวย์ที่เกิดรอยแตกร้าวจำนวนมาก ทำให้เครื่องบินไม่สามารถวิ่งเข้ามาที่งวงช้างได้ ทำให้เครื่องบินจำนวนมากต้องจอดอยู่บริเวณด้านนอกและใช้รถบัสวิ่งออกไปรับส่งผู้โดยสารเข้ามายังตัวอาคาร
“ตอนนี้รถบัสที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากตัวเครื่องบินไปยังอาคาร มีปัญหาไม่เพียงพอซึ่งต้องเพิ่มจำนวนรถบัส เนื่องจากงวงช้างไม่สามารถใช้การได้เพราะปัญหาของแท็กซี่เวย์มีรอยแตกร้าวจำนวนมากทำให้เครื่องบินต่าง ๆไม่สามารถวิ่งในลานแท็กซีเวย์เพื่อเข้ามาจอดเทียบในงวงช้างได้”
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในสุวรรณภูมินั้นต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดในการเลือกทำเลที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิที่มาก่อสร้างในที่หนองน้ำในพื่นที่ลุ่มเป็นที่เก็บกักน้ำหรือที่เรียกว่าแก้มลิง และพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นเลนซึ่งเป็นเรื่องแปลก นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคการก่อสร้างสนามบินที่ไม่เคยมีการทำที่ใดในโลกมาใช้กับสุวรรณภูมิ เช่น วิธีการถมทรายและดูดน้ำออกจากดินซึ่งเทคนิคเรียกว่า PVD แล้วเอาซิเมนต์คลุกเทลาดทับลงไปอีกที วันนี้พิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ ตามหลักสากลในการก่อสร้างสนามบินนั้นต้องใช้วิธีการตอกเสาเข็มลงไปในพื้นดินอย่างเดียวเพื่อความแข็งแรงในการรองรับรันเวย์
“วิธีสร้างนั้นผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว วัสดุต่างๆ ที่ใช้ก็มีปัญหาเอาซีเมนต์ที่หมดอายุและทรายที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างทรายขี้เป็ดมาถม ทำให้มีปัญหาเรื่องการดูดซึมน้ำส่งผลให้มีแรงดันน้ำขึ้นมายังพื้นรันเวย์ ถึงแม้จะมีการแก้ไขก็จะเกิดรอยแตกร้าวตามมาอย่างต่อเนื่อง อย่าดันทุรังหรือดื้อแพ่งใช้ไปจะเกิดอันตราย”
ที่ผ่านรัฐบาลพยายามเร่งให้มีการเปิดในขณะที่สนามบินยังไม่พร้อม ที่สำคัญมีการต่อรองเรื่องราคาของการก่อสร้างสนามบินลง ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างก็ต้องลดสเปคของวัสดุการก่อสร้างอื่น ๆ มาทดแทน ซึ่งงบก่อสร้างเดิม 1.6 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลต่อรองให้เหลือ 1.2 แสนล้านบาทแล้วมาบอกว่าเป็นผลงานการต่อรองของรัฐบาล แต่ขณะนี้ผลงานของสนามบินมันฟ้องออกมาว่าสนามบินมีปัญหาและเพิ่งเปิดมาได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาของรันเวย์และแท็กซี่เวย์เพิ่งเริ่มจะเกิดขึ้นเท่านั้น และยังโชคดีว่าเป็นช่วงหน้าร้อน แต่ถ้าเข้าฤดูฝนเมื่อใดจะเกิดปัญหามากขึ้นอีก เพราะมีน้ำฝนตกลงมาและไหลซึมลงไปในพื้นรันเวย์ก็จะส่งผลให้เกิดการแตกร้าวเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถระบายน้ำออกไปซึ่งเกิดจากความผิดพลาดในด้านเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานนั่นเอง และควรจะต้องรีบปิดรันเวย์ที่มีปัญหาภายใน 6 เดือนเพื่อทำการซ่อมแซม เมื่อซ่อมแซมเสร็จและเปิดใช้ก็เปรียบเสมือนเด็กพิการไม่มีความสมบูรณ์
สายการบินต่างชาติเริ่มถอย
นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวต่อไปว่าปัญหารันเวย์และแท็กซี่เวย์ที่แตกร้าวนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสายการบินต่างประเทศ และต้องยอมว่าองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (IKO)ยังไม่มีในรับรองเรื่องความปลอดภัยของสนามบิน จะมีแต่กรมการขนส่งทางอากาศของไทยเป็นผู้ออกใบรับรองความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น ซึ่งหากเมื่อใดทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศออกมาเตือนเรื่องความไม่ปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะทำให้สายการบินต่างๆ ไม่กล้าบินมาลงที่ประเทศไทย
“มีหลายสายการบินที่เริ่มไม่มั่นใจในรันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิ และหันไปใช้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยแทน เพื่อความปลอดภัย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องรีบแก้ปัญหารันเวย์โดยเร็วก่อนที่จะเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นของสายการบินต่างชาติ”
ชี้ทางออกเร่งย้ายบินในประเทศไปดอนเมือง
ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินกรุงเทพ กล่าวต่อไปถึงแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่าควรจะรีบแก้ไขด้วยการย้ายสายการบินในประเทศไปอยู่ที่สนามบินดอนเมืองทั้งหมด เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินขึ้นลงในพื้นรันเวย์ ได้กว่า 30% เป็นการชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรันเวย์ และแท็กซี่เวย์ไปได้อีก ส่วนสายการบินต่างประเทศอีก 70% ให้อยู่ที่สุวรรณภูมิไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ปัญหาแตกร้าวของรันเวย์และแท็กซี่เวย์หรือสร้างรันเวย์ใหม่เสร็จ
“รันเวย์ใหม่ที่ยังไม่ก่อสร้างควรเปลี่ยนเทคนิคการก่อสร้างใหม่ เพราะการรื้อรันเวย์ที่มีปัญหาก็เหมือนการซ่อมแซมบ้าน แต่ถ้าสร้างใหม่ก็จะหมดปัญหาซึ่งคาดว่าถ้าก่อสร้างจริงจะใช้เวลาประมาณ 15-18 เดือนก็เสร็จ ซึ่งใช้งบอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท”
นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวต่อไปถึงสนามบินดอนเมืองว่า หากมีการลงทุนเพิ่มและปรับปรุงหลุมจอดเพิ่มขึ้นอีก 40 หลุมก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเสนอให้มีการย้ายพื้นที่ของกองทัพอากาศออกไป และลงทุนเพิ่มก็จะสามารถใช้งานต่อไปได้อีก 6 ปีซึ่งก็คุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะเดียวก็เร่งปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นสนามบินที่มีมาตรฐานและดีที่สุดในเอเชีย
“การเปิดสุวรรณภูมิเร็วก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเลย เพราะมีปัจจัยอื่น ๆที่มากระทบต่อการท่องเที่ยวทำให้จำนวนผู้เดินทางเข้ามาในปีนี้ไม่เติบโตเพิ่มขึ้น”
สำหรับการลงทุนในการสร้างรันเวย์ในสุวรรณภูมินับเเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีผลตอบแทนที่ดี ซึ่งหากรัฐไม่มีงบประมาณในการก่อสร้างและขยายรันเวย์เพิ่มและเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนทางบางกอกแอร์เวย์ส พร้อมที่จะเข้าถือหุ้น 30% สัญญา 30 ปี ซึ่งคาดว่าการลงทุนสร้างสนามบินนั้นคุ้ม เพราะรายได้จากการให้บริการขึ้นลงของเครื่องบินนั้นมีรายได้ประมาณ 30 % อีก 70% เป็นเรื่องพื้นที่เช่าเชิงพาณิชย์ในบริเวณสนามบิน
ปิดปรับระบบใหม่อีกหลายโครงการ
นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวว่ายังมีอีกหลายโครงการที่สำคัญๆ เช่น ระบบออนไลน์ในสนามบินของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ก็ไม่สามารถออนไลน์กับทั่วโลกได้ ทำให้มีปัญหาของคนเข้าเมือง ปัญหาของทางเลื่อนไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีการทำเพิ่มเติม เพราะระยะเป็นกิโลเมตรที่จะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินนั้นควรจะต้องมีทางเลื่อน แต่กลับไม่มีและเป็นปัญหาสำหรับคนพิการ รวมถึงห้องน้ำที่มีน้อยเกินไปและห้องน้ำสำหรับเด็กก็ต้องมี
“ปัญหาเหล่านี้เมื่อมีการปิดปรับปรุงก็ควรจะต้องทำเรื่องระบบออนไลน์ ทางเลื่อนไฟฟ้า ห้องน้ำ ซึ่งหากปิดปรับปรุงจริงก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งลงทุนทำใหม่ดีกว่ารื้อออกมาแก้ไขจะคุ้มกว่า”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|