|
เอลนินโย่พ่นพิษนมผงขาดตลาดผู้ค้าดิ้นต้นทุนพุ่งร้องรัฐขึ้นราคานม
ผู้จัดการรายวัน(26 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีพี-เมจิ ชี้ เอลนินโย่พ่นพิษตลาดนมผงขาดแคลนทั่วโลก 3 ยักษ์ใหญ่ผลิตลดลง กระทบราคาส่อเค้าขยับขึ้น เทรนด์ผู้ผลิตไทย-เทศแห่ร่วมทุนรับมือทะลวงตลาดข้ามภูมิภาค ด้านตลาดนมไทย 3 หมื่นล้านกระอัก ยูเอชทีรับศึกหนักแบกรับต้นทุนอ่วม ด้านตลาดไทยนมดิบโอกาสขาดแคลน-ปรับราคา ผู้ประกอบการเตรียมชงกรมการค้าภายในปรับราคานมขึ้น 1.50 บ.ต่อลิตร ซีพีเมจิอัดฉีด 600 ล้านบาท สู้ศึกตลาดเต็มรูปแบบ สิ้นปีโต 20% จากปืที่ผ่านมามีรายได้ 3,000 ล้านบาท
นายไพศาล จงบัญญัติเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมตราเมจิ เปิดเผยว่า ภาวะตลาดนมผงและนมดิบปีนี้มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลน เนื่องจากผู้ผลิตนมผง 3 รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ประสบกับปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังการผลิตจึงลดลง โดยพบว่าราคานมผงทยอยปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาจาก 2,100 เหรียญฯ ต่อตันเป็น 3,200 เหรียญต่อตันในปัจจุบัน หรือเฉลี่ย 14 บาทต่อลิตร ภาวะดังกล่าวยังส่งผลต่อตลาดนมดิบภายในประเทศไทยที่จะขาดแคลน จากปัจจุบันเกษตรกรไทยผลิตได้ 1,500 ตัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าภาครัฐต้องปรับราคานมดิบจากเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 12.50 บาทลิตร เพิ่มเป็น 13.75 บาท ซึ่งล่าสุดนมดิบขยับราคาขึ้นแล้ว 12.75 บาท
สำหรับภาวะนมผง-นมดิบจะขาดแคลนในช่วง 2 ปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดนมโดยรวมของประเทศไทยมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันผู้ประกอบการต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนมยูเอชทีเป็นเซกเมนต์ที่ใช้นมผงนำเข้ามากที่สุดจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก รองลงมา คือ นมพาสเจอร์ไรส์ นับว่าเป็นเซกเมนต์ที่ใช้นมดิบเป็นวัตถุดิบมากที่สุด โดยมีแนวโน้มผู้ประกอบการนมจะเสนอให้กรมการค้าภายในปรับราคานมเพิ่มขึ้น ตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งหากไม่มีการปรับราคาขึ้นผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้การขาดแคลนนมผง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนมร่วมทุนกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง ดาน่อน ผู้ประกอบการนมรายใหญ่จากประเทศฝรั่งเศสร่วมทุนกับบริษัทดัชมิลล์ ประเทศไทย จัดตั้งบริษัทดาน่อน แดรี่ ประเทศไทย และบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมตรามะลิได้ร่วมทุนกับบริษัทคัมพินา อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตนมภายใต้ยี่ห้อคัมพินา ยาซู โชคชัย อลาสก้า และอื่นๆ จากเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งบริษัท ทีดีไอ คัมพินา จำกัด เพื่อร่วมมือกันทั้งทางการผลิต การตลาด และเครือข่ายการกระจายสินค้าขยายสู่ตลาดใหม่ๆ
ซีพีเมจิทุ่ม600ล.ขยายลงทุน
นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่าซีพี-เมจิ อยู่ในตลาดนมมากว่า 16-17 ปี ปีนี้นับว่าเป็นปีแรกที่ต้องประสบกับภาวะวัตถุดิบขาดแคลนขนาดนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่ได้กังวลเรื่องวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอ เพราะบริษัทได้ทำสัญญากับฟาร์มเกษตรกรนานหลายปี โดยมีนมดิบในสัดส่วน 900 ตัน พอที่จะผลิตได้นานถึงไตรมาสที่สามนี้ สำหรับการลงทุนปีนี้บริษัทวางไว้ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นงบการตลาด 200 ล้านบาท และงบลงทุนเครื่องจักรใหม่ 100 ล้านบาท โดยแนวทางการตลาดจะมุ่งเน้น 4 เซกเมนต์หลัก ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์เป็นสินค้าเรือธงหลักของบริษัท ซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่งกว่า 50% จากตลาดมูลค่า 2,500 ล้านบาท ตามด้วยคัพ โยเกิร์ต นมเปรี้ยวแลตโตบาซิลัส และนมเปรี้ยวผสมน้ำผลไม้พร้อมดื่ม
สำหรับแผนการตลาดเปิดตัวสินค้าภายใต้นวัตกรรมใหม่ทุกไตรมาส โดยเฉพาะเน้นพัฒนานมมีแคลอรี่ต่ำหรือไม่มีแคลอรี่ ซึ่งเป็นเทรนด์ตลาดนมในปีนี้ลงสู่ตลาด อีกทั้งยังเน้นการทำโค มาร์เก็ตติ้ง คือ จับมือร่วมกับพันธมิตรเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดได้จับมือร่วมกับอาหารเช้าคอนเฟก เป็นต้น จากปัจจุบันมีพันธมิตรทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น สตาร์บัคส์ ฯลฯ
ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทจะสร้างช่องทางจำหน่ายเทรดิชันนัลเทรดเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35-40% โดยเตรียมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายจาก 200 ราย เป็น 300 ราย และเพิ่มทีมขายตรงเป็น 3 ,000คน ส่วนตลาดต่างประเทศมีแผนขยายตลาดไปยังประเทศไต้หวัน ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซียได้เริ่มเข้าไปทำตลาดแล้วได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คาดว่าปีนี้สัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มจาก 10% เป็น 15% ทั้งนี้ภายในอีก 3 ปีข้างนี้หากซีพี-เมจิ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จะขยายโปรดักส์ไลน์ไปสู่เซกเมนต์อื่นๆ อาทิ นมถั่วเหลืองพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น
สำหรับตลาดนมโดยรวมมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต10-12% โดยตลาดนมพาสเจอร์ไรส์มูลค่า 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 12% ส่วนตลาดคัพ โยเกิร์ต 3,000 ล้านบาท โตเกิน 20% ตลาดนมเปรี้ยวผสมผลไม้พร้อมดื่ม 1,200 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดนมถั่วเหลืองมูลค่า 7,000 ล้านบาท เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด ที่เหลือเป็นมูลค่าตลาดยูเอชที7,500 ล้านบาท ตลาดสเตอริไลน์มูลค่า 1,500 ล้านบาท และตลาดเครื่องดื่มช็อกโกแลตมูลค่า 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ผลประกอบการปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 20% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีรายได้ 3,000 ล้านบาท โดยซีพี-เมจิมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 26% จากรายได้รวม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|