|

เว้น30%เงินกู้นอกทุกประเภท
ผู้จัดการรายวัน(26 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง30%ของเงินตราต่างประเทศในกรณีการกู้เงินจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยว่า ในขณะนี้มาตรการที่ ธปท.กำลังพิจารณาอยู่นั้น จะเป็นมาตรการผ่อนคลายที่ครอบคลุมเงินกู้จากต่างประเทศในทุกประเภท จากเดิมที่ดูในส่วน สำหรับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะ โดยจะแยกประเภทเงินกู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น ธุรกิจใดที่มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจประเภทนี้จะทำเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะก็อาจจะได้รับการยกเว้นมาตรการนี้
“ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและเลือกแนวทาง เป็นการผ่อนคลายจะใช้กับเงินกู้ทุกประเภท และไม่กระทบให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทด้วย แต่ขณะนี้ยังมีหลายแนวทางในการพิจารณา แต่คิดว่าการศึกษาคงจะไม่ช้า”
ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า แนวทางที่จะให้มีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในการซื้อขายเงินทันที ที่มีการเอาเงินกู้ต่างประเทศเข้ามาเพื่อลงทุนในประเทศ เป็นแนวทางหนึ่งที่ ธปท.กำลังศึกษาอยู่ เพราะก็ยังแนวทางมีอีกหลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของไทย ล่าสุด สิ้นเดือน ต.ค.2549 มียอดหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนทั้งสิ้น 45,179 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินกู้ที่เข้ามาใน 10 เดือนแรกของปี 2549 จำนวน 1,376 ล้านเหรียญสหรัฐ
ยกเว้น30%เอกชนกู้นอก TDRIจวกมาตรการ30%-ต่างด้าว
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ธปท.ประกาศมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธปท.ว่า ธปท.ประกาศมาตรการเร็ว และแรงจนเกินไป
"หากถามว่าควรสกัดค่าเงินบาท ผมบอกว่าควร แต่มีหลายวิธีที่ทำได้ อย่างเช่น ลดดอกเบี้ยลงมา และไม่จำเป็นต้องต้องกันสำรองสูงถึง 30% หรืออาจเลื่อนเวลาออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ"
โดยคาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้มีแม้จะแข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ค่าบาทอ่อนค่าลง เพราะการส่งออกในปีนี้ขยายตัวไม่มากนัก รัฐบาลจำเป็นต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับการแสดงถึงจุดยืนในการออกกฎหมายต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เสนอมาในขณะนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นว่า เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประเทศ ก็ควรเร่งผลักดันกฎหมาย เหมือนที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงก่อนหน้าที่พยายามผลักดันกฎหมายที่ดีกับประเทศกว่า 500 ฉบับ โดยการผลักดันกฎหมายออกมา จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้คอยให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นนักลงทุน
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว นายสมชัย กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายกระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติแน่นอน ซึ่งตนก็ไม่เคยเห็นหอการค้าต่างประเทศ และสถานฑูต 28 แห่ง พร้อมใจกันคัดค้าน และออกจดหมายเปิดผนึก ต่อต้านการออกกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (นอมินี) อย่างพร้อมเพียงกัน
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังพบประเด็นปัญหาว่าตัวเลขของหน่วยงานที่ออกมาระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทต่างๆ ซึ่งมีความไม่ชัดเจนว่ามีกี่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ และการที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่ามีผู้ประกอบการต่างชาติกระทบเพียงพันกว่ารายเท่านั้น ซึ่งตัวเลขก็ไม่ตรงกันกับของหอการค้าต่างประเทศ เพราะตัวเลขที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำมากล่าวถึงเป็นตัวเลขการขึ้นทะเบียนพ.ร.บ.ต่างด้าวปี 2542 ซึ่งเชื่อว่ามีหลายบริษัทที่เข้าข่ายนอมินี แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในปี 2542 ซึ่งทำให้เห็นว่าผลกระทบน่าจะมีจำนวนมากกว่าที่รองนายกรัฐมนตรีระบุ
อย่างไรก็ตาม การผลักดันกฎหมายนอมินีถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี เนื่องจากมีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจนขึ้น และไม่ให้ใช้นอมินี โดยเฉพาะในส่วนของบัญชีแนบท้าย 3 ที่บอกให้เสรีมากขึ้น ควรบอกเวลาให้ชัดว่าให้เวลากี่เดือนในการปรับตัว 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี.
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|