ธุรกิจแบงก์พาณิชย์ปี50ยังไม่สดใสส่วนต่างดบ.หด-สำรองIAS39กดกำไรลด


ผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มธุรกิจแบงก์พาณิชย์ปี 50 ยังไม่สดใส ปัจจัยลบเพียบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ-การเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ภาคการลงทุน-บริโภคเอกชนไม่ขยับเพิ่ม ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อสะดุด คาดผลประกอบการยังมีสิทธิ์ลดลงหรือใกล้เคียงกับปีก่อน จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลง-ภาระการกันสำรองหนี้เสียเพิ่มตามเกณฑ์ IAS 39 แนะเร่งหารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยช่วยพยุง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 ว่า ยังคงเป็นปีที่เงื่อนไขการประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความซับซ้อน โดยมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมทั้งยังอาจมีอิทธิพลต่อเงินฝากของภาคครัวเรือนที่ธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ สภาวะการแข่งขันระหว่างธนาคาร ล้วนแต่จะมีความเข้มข้นขึ้นในทุกๆ บริการและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ไทยยังจะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการอีกด้วย

คาดสินเชื่อแบงก์ปี 50 โต 5-7%

โดยคาดว่าเงินให้สินเชื่อดีของธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 น่าจะขยายตัวประมาณ 5.0-7.0%เทียบกับตัวเลขเบื้องต้นที่ประมาณ 6.4% ในปี 2549 จากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจผนวกกับความไม่แน่นอนด้านการเมืองต่างๆ อาจกดดันความต้องการสินเชื่อจากภาคธึรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 แม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มขึ้น แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์คงจะใช้เวลานานกว่านั้น และคงจะช่วยหนุนการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า ประกอบกับสินเชื่อบางประเภท อาทิ บัตรเครดิต คงจะไม่ได้รับผลดีจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงมากนัก เนื่องจากเพิ่งจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยบัตรเครติดจาก 18% เป็น 20%

ทั้งนี้ สินเชื่อที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอการตัดสินใจขอสินเชื่อจากภาคครัวเรือน ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่นั้น แม้อาจได้รับผลดีทางอ้อมจากการที่มาตรการสำรอง 30% ของธปท. ให้หันกลับมาขอขยายวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่ผลดีดังกล่าว ก็อาจจำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับสูง อาทิ ธุรกิจส่งออกเท่านั้น

ขณะที่สินเชื่อที่คงจะได้รับปัจจัยบวกจากภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล เนื่องจากสินเชื่อทั้งสองประเภทดังกล่าว ให้อัตราผลตอบแทนสูง ซึ่งการปรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มาที่ตลาดสินเชื่อดังกล่าวมากขึ้นนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาอัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อโดยรวม ในระหว่างที่แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม อาจส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของพอร์ตสินเชื่อในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน ผนวกกับความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์คงจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการติดตามและดูแลคุณภาพสินเชื่อมากขึ้นตามไปด้วย

ด้านเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงขยายตัวอยู่ในระดับเหนือ 5% จากปีก่อนที่อยู่ในระดับกว่า 6% ในปี 2549 แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผู้มีเงินออมจะยังคงให้ความสนใจกับการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ต่อไป ในระหว่างที่ทางเลือกในการออมประเภทอื่นๆ อาทิ การลงทุนในตลาดหุ้น ยังคงไม่สดใส และอ่อนไหวต่อปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลอดจนความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ของทางการไทย

จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในปีนี้ จึงคาดการณ์ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน ถึง 24 เดือนประมาณ 0.75-1.0% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR อีก 0.75% ในปี 2550 ขณะที่กำหนดให้มีการเติบโตของสินเชื่อดีและเงินฝากประมาณ 5.0-7.0% และ 5% ตามลำดับ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯลดลงจากระดับปัจจุบันในกรอบประมาณ 0.5-0.75% นั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ในปี 2550 อาจอยู่ที่ประมาณ 3.22% ลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 0.15% ในขณะที่คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้สุทธิจำนวนประมาณ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียงประมาณ 1.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงชัดเจนจาก 16.2% ในปี 2549

ชี้แบงก์ต้องหาเร่งรายได้ค่าฟีโปะส่วนต่างดบ.ลด

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2550 ขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการเร่งเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินภาพไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกที่กำหนดให้รายได้และค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวเท่ากับอัตราเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งจะได้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิของปี 2550 ที่ลดลง 24.5% จากปีก่อนหน้า และกรณีที่สอง กำหนดให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิมีระดับที่ทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2550 มีจำนวนไม่น้อยกว่าปี 2549 โดยผลการคำนวณชี้ว่า กรณีแรก กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ในปี 2550 อาจชะลอลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 13.4% เทียบกับที่ขยายตัว 6.1% ในปี 2549 ในขณะที่ ในกรณีที่สองนั้น กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) จะเท่ากับของปี 2549 ได้ เมื่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิชะลอลงเพียง 4%

ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ไทยต้องการให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) สูงกว่าของปี 2549 ก็จะต้องเร่งเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ/หรือทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิติดลบน้อยกว่า 4% ซึ่งคงจะเป็นงานที่ค่อนข้างหนักมาก จึงคาดว่ากำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ยังคงมีโอกาสที่จะลดลงจากปีก่อนได้ หรือถ้าเพิ่มขึ้น ก็คงจะเป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองในปี 2550 ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากเกณฑ์ IAS39 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมีความจำเป็นจะต้องกันสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ IAS39 ระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีและสิ้นปี 2550 ตามลำดับ โดยคาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์อาจต้องมีการกันสำรองเป็นจำนวนอีกไม่กว่า 4-5 หมื่นล้านบาทในปี 2550 เทียบกับ 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2549 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่คงจะกดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2550 ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.