SGFขาดทุน893ล.หลังแก้ไขงบQ3ปี49เตรียมสู้คดีเงินกู้ในชั้นศาลมั่นใจยกฟ้อง


ผู้จัดการรายวัน(25 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

SGF เผยงบการเงินไตรมาส 3 ปี 49 ที่แก้ไขตามคำสั่ง ก.ล.ต.ส่งผลเกิดตัวเลขขาดทุนสุทธิ 893 ล้านบาท ขณะที่งบเดิมมีกำไรสุทธิ 507.31 ล้านบาท หลังมีข้อพิพาทกับเจ้าหนี้เงินกู้ แจงบริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาและได้มีการขอปฏิบัติการชำระหนี้ถูกต้องตามวิธีการและบทบัญญัติทางกฎหมายแล้ว ทำให้ปลอดจากการเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ พร้อมต่อสู้ในชั้นศาล มั่นใจถูกยกฟ้องแน่ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในอนาคต

นายธีรภัทร์ โกยสุขโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) (SGF ) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3ปี 49 ที่แก้ไขตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า บริษัท มีผลขาดทุนสุทธิ 893 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 15.73 ล้านบาท ส่งผลให้จากเดิมที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ 3 สตางค์ เป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.001 บาท ส่วนงวด 9 เดือนจากเดิมที่มีกำไรสุทธิ 24.33 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 581.49 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามที่ผลการดำเนินงานตามรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2549ของบริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 และ 2548 สำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 บริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิจำนวน 0.89 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงจากงบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2549 เดิมซึ่งมีกำไรสุทธิจำนวน 507.31 ล้านบาทนั้น

เนื่องจากบริษัทฯจำเป็นจะต้องปรับปรุงรายการตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ซึ่งมีความเห็นว่าการที่บริษัทฯและเจ้าหนี้เงินกู้มีคดีพิพาทกันในเรื่องการชำระหนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมและยังไม่มีคำวินิจฉัยนั้น ทำให้ไม่อาจสรุปได้ว่าบริษัทฯได้รับการปลดจากความรับผิดชอบต่อหนี้สินโดยทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของบริษัทได้พิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับความเห็นตามความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท สำนักกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด และบริษัท สำนักกฎหมายวิชัย ทองแตง จำกัดแล้ว มีความเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าว บริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาและได้มีการขอปฏิบัติการชำระหนี้ถูกต้องตามวิธีการและบทบัญญัติทางกฎหมายแล้ว ทำให้บริษัท ปลอดจากการเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ และหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้เงินกู้ที่มีอยู่

นอกจากนี้ ตามความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายทั้ง2 แห่ง เห็นว่าหากบริษัทได้ดำเนินการต่อสู้คดีตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว และความเสียหายดังกล่าวก็น่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต

บริษัทฯคาดว่าจะสามารถหาแหล่งเงินเพื่อใช้ในการขยายสินเชื่อได้ โดยการนำลูกหนี้สินเชื่อแฟคตอริ่งไปเป็นหลักประกัน และจัดให้มีการค้ำประกันสินเชื่อโดยบริษัทประกัน เพื่อค้ำประกันวงเงินกู้ของบริษัทฯต่อธนาคาร ซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถขยายสินเชื่อและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.