I shall Return

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เชื่อมั่นเสมอว่า ชีวิต และการทำงาน ก็เหมือนกับพระอาทิตย์ คือมีทั้งขึ้นและตก แต่หลังจากพระอาทิตย์ของเขาตกลงครั้งล่าสุด เขาต้องใช้เวลารอนานเกือบ 6 ปี กว่าที่แสงสีทองจะปรากฏขึ้นมาบนขอบฟ้า ให้เขาได้มองเห็นอีกครั้ง

วันที่ 18 ธันวาคม 2545 เป็นวันที่สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง สามารถยกภูเขาก้อนใหญ่ออกจากอก เพราะวันนี้เป็นวันแรกที่หุ้นของบริษัทมิลเลนเนียม สตีล เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นเสมือนบทสรุปของการทำงานอย่างหนักมาเกือบ 6 ปี ในฐานะประธานบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป ในการเจรจาต่อรอง ซึ่งมีทั้งบรรยากาศของการทะเลาะ และประนีประนอมกับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหุ้น

ตลอดเวลาเกือบ 6 ปี ที่สวัสดิ์เล่นบทบาทนี้ ภาพลักษณ์ของเขาถูกมองอย่างเลวร้าย โดยเฉพาะวลีของเขาที่ว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ทำให้สื่อต่างประเทศ ต่างวิจารณ์เขาว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่ดีในสายตาของ เจ้าหนี้ ขณะที่สังคมไทยมองเขาว่าเป็นพวกล้มบนฟูก

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป เมื่อกว่า 5 ปีก่อน เป็น สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตที่สวัสดิ์เคยประสบ แม้โดยส่วนลึกในใจ เขายังมีความเชื่อมั่น และความหวังอยู่เสมอว่าวันหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องกลับมาดีขึ้น แต่เขาก็ยอมรับว่า ณ เวลานั้น เขาไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลารอคอยอีกนานแค่ไหน "คุณคิดดู สิ่งที่เราทำมากว่า 30 ปี คืนเดียวมันหายไปหมด" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

ความรู้สึกของสวัสดิ์ในช่วงนั้น เฉกเช่นเดียวกันกับนักธุรกิจ คนอื่นๆ ที่แทบช็อกเมื่อเห็นตัวเลขหนี้สินของตนเองที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันทีที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในช่วงเช้า ของวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2540

แต่สิ่งที่เขามีความแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง เพราะเขาเป็น คนที่มีแรงขับเคลื่อนของชีวิตสูง แรงขับเคลื่อนตัวนี้ ก่อให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมไม่ต่ำกว่า 2 เท่า เพื่อนำพาบริษัทให้ผ่านพ้นจุดวิกฤติจุดนี้ไปให้ได้

"ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจ ก็ไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร อยู่ดีๆ เป็นหนี้แสนล้าน ต้องมานั่งทำงานทุกวัน มันเป็นแรงบันดาลใจ ผนวกกับแรงอาฆาต เป็นความรู้สึกที่เหมือนบอกกับตัวเองว่า อย่าให้ผม กลับมาได้นะ มันเป็นความอาฆาตแบบเดียวกับที่นายพลแมคอาเธอร์ เคยพูดไว้เมื่อตอนที่สหรัฐฯ กำลังจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า I shall return. ผมจะกลับมา ถ้าเป็นภาษาไทย ก็บอกอย่าให้ถึงทีเราก็แล้วกัน"

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง มีชีวิตที่เติบโตมาพร้อมกับเหล็ก เขาใช้ชีวิตในวัยเด็ก ต่อเนื่องมาจนพ้นวัยรุ่น อยู่ในยุคปี 1960 ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่เขาพูดได้อย่างไม่ลังเลว่า "เป็นช่วงที่ beautiful ที่สุด"

คนที่มีประสบการณ์ผ่านพ้นช่วงนี้ จึงเป็นคนที่มองโลกใน แง่ดี และมีความหวังสูงต่อเป้าหมายในการดำรงชีวิต

"พระอาทิตย์ ต้องมีวันตกและขึ้นมาอีกครั้งเสมอ" (อ่านรายละเอียดใน "The beautiful life")

พื้นเพดั้งเดิมของครอบครัวสวัสดิ์ เป็นคนจีนกวางตุ้ง ที่อพยพเข้ามาทำธุรกิจ โรงกลึงในประเทศไทย ร้านของเขาใช้ชื่อว่า "รุ่งเรืองอุตสาหกรรมจักรกล" เป็นตึกแถว 2 ห้อง ในซอยวัดพิเรนทร์ ย่านวรจักร

เขาเริ่มต้นทำอุตสาหกรรมเหล็กตั้งแต่อายุ 25 ปี ด้วยการไปช่วยพี่ชายทำโรงงานเหล็กเส้น ชื่อกรุงไทยสตีลเวอร์ค ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก กำลังการผลิตประมาณวันละ 20 ตัน อยู่ในย่านพระประแดง สมุทรปราการ และต่อมาได้ขยายกิจการ โดยการตั้งบริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 ตัน

(อ่านรายละเอียดได้ใน "สวัสดิ์ หอ รุ่งเรือง ความสำเร็จกับความอยู่รอด จะเลือกทางไหน" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2542)

เขาเคยมีประสบการณ์ที่ดีกับการลดค่าเงินบาทในปี 2527 ในยุครัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ของแรงบันดาลใจให้เขาก่อตั้งบริษัทเอ็น. ที.เอส.สตีลกรุ๊ปขึ้น ในอีกประมาณ 7 ปี ต่อมา

"ผมเคยคิดกับตัวเองว่าวันไหนถ้าเรารวยขึ้นมา ผมจะสร้างโรงงานเหล็กให้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"

เดือนพฤศจิกายน ปี 2527 นครไทยสตีลเวอร์คประสบกับปัญหาตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลดค่าเงินประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากมีภาระเงินกู้ต่างประเทศ อยู่ประมาณ 3 ล้านฟรังค์สวิส

ช่วงนั้นสถาบันการเงินของไทย ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของนครไทยสตีลเวอร์ค คือธนาคารทหารไทย ศาสตราจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เชิญตัวสวัสดิ์เข้า ไปพบ เพื่อปรึกษากันถึงเรื่องความเสียหาย และได้ให้วงเงินกู้เพิ่มมาอีกก้อนหนึ่ง เพื่อยืดอายุธุรกิจให้กับนครไทยสตีลเวอร์ค

"มันเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ในความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ"

ภาวะเศรษฐกิจของไทย ภายหลังการลดค่าเงินบาทในปี 2527 ยังคงตกต่ำต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2 ปี ในช่วงนั้นธุรกิจต่างๆ ล้วนชะงักงัน โดยเฉพาะการก่อสร้างมีผลทำให้ราคาเหล็กเส้นลดต่ำลงมาเหลือเพียงตันละ 6,000 บาท

ด้วยความมั่นใจในประสบการณ์ที่อยู่กับธุรกิจเหล็กเส้นมานานนับ 10 ปี ทำให้สวัสดิ์เชื่อมั่นว่าขณะนั้นเขาอ่านแนวโน้มของธุรกิจนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ขณะที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ ชะลอการลงทุนเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สวัสดิ์กลับทำตรงกันข้าม เขาสั่งวัตถุดิบเข้ามาอย่างมาก และเพิ่มการผลิตในโรงงานนครไทยสตีลเวอร์คขึ้นเต็มกำลัง เหล็กเส้นทั้งหมดที่ถูกรีดออกมา จะถูกส่งเข้าไปจำนำไว้กับโกดังของบริษัทเอเซียคลังสินค้า ในเครือธนาคารกรุงเทพ

"เก็บไปกี่ตัน เขาก็จ่ายให้มาตันละ 5,000 บาท ผมก็เอาเงินมาจ่ายค่าแรง จ่ายค่า ไฟ แต่ว่าได้มา 5,000 บาท ขณะที่ราคาเหล็กเส้นตันละ 6,000 บาท ผมไม่ขาย ช่วงนั้น ผมเก็บเหล็กไว้ถึงเกือบแสนตัน ทั้งเหล็กเส้น ทั้งวัตถุดิบ"

ในระหว่างที่สวัสดิ์กำลังเร่งผลิตเหล็กเส้นเพื่อนำไปสะสมไว้ในโกดังสินค้า เหล็กแท่งซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เขาสั่งนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งได้ถูกแบ่งขายต่อให้กับโรงงานผลิตเหล็กเส้นรายอื่นๆ ไปด้วย โดยบวกราคาขึ้นตามแนวโน้มของค่าเงิน

"วันนั้นค่าเงินบาทที่รัฐบาลประกาศ 27 บาทก็จริง แต่จริงๆ แล้วหลังจากประกาศ แล้วมันไม่ใช่ 27 บาท มัน 28-29 บาท และยังเคยคุยกันถึงขั้นว่าค่าเงินจะต้องขึ้นถึง 32 บาท เพราะฉะนั้นเวลาเหล็กแท่งของผมเข้ามา แล้วผมจะขายให้กับเพื่อนโรงงานเหล็กที่ไม่มีวัตถุดิบในช่วงนั้น ผมก็เอาอัตรา 32 บาทเป็นเกณฑ์"

การกำหนดราคาสินค้าไว้ที่ดอลลาร์ละ 32 บาท ถือเป็นการสร้างกำไรขั้นต้นให้กับสวัสดิ์ เพราะทิศทางค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งขึ้นในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม เมื่อถึงเวลาครบดีลที่เขาจะต้องนำเงินไปจ่ายคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนได้ลดลงมาเหลือเพียง 26 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

กลางปี 2529 ก่อน พล.อ.เปรมจะประกาศยุบสภา และวางมือทางการเมือง เศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณของการพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ราคา เหล็กเส้นได้เริ่มสูงขึ้น จนในที่สุดก็มายืนอยู่ในระดับตันละ 13,000 บาท

สวัสดิ์ระบายเหล็กของเขาออกจากโกดังในช่วงนี้

"ช่วงนั้นผมได้กำไรเยอะมาก ทั้งใน ประเทศไทยรู้หมดว่า นายสวัสดิ์รวยตายเลยตอนนั้น"

สถานการณ์ที่พลิกผันกลับมาเป็นดี ทำให้สวัสดิ์คิดการใหญ่ เขาตัดสินใจตั้งบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปขึ้น ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

"ในช่วงนั้นผมก็ถามตัวผมเองว่าผมจะเลิกไหม ผมลองถามน้องชายว่า เรารวยแล้ว ใช้หนี้หมดแล้ว มีเงินเก็บเป็นร้อยๆ ล้าน แล้ว จะเลิกไหม น้องชายผม เขาชื่อไสว เขา บอกทำต่อ ผมบอกถ้าทำต่อ เราจะต้องย้ายไปอยู่อีสเทิร์นซีบอร์ด"

สวัสดิ์เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกว่าจะเป็น gateway สำคัญของประเทศ เขานำเงินกำไรที่ได้จากการขายเหล็กเส้น ไปซื้อที่ดินริมทางหลวง หมายเลข 331 จำนวน 4,898 ไร่ ในเขตตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แล้วตั้งบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินขึ้น เพื่อดำเนิน กิจการนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน)

เขาแบ่งพื้นที่ในนิคมแห่งนี้จำนวน 500 ไร่ ขายให้กับบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมปีละ 800,000-1,000,000 ตัน มากกว่ากลุ่มเหล็กสยามในเครือซิเมนต์ไทย ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ก่อนหน้านั้น ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 630,000 ตันต่อปี

กิจการของสวัสดิ์ มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปด้วยดีในปี 2531 เขาได้นำบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมเงินมาซื้อที่ดิน เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก (มาบตาพุด) มีเนื้อที่ 2,486 ไร่ บนหลักกิโลเมตรที่ 204 ถนนสุขุมวิท ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) เนื้อที่ 6,996 ไร่ ริมทางหลวงหมายเลข 331 ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

ปี 2536 หลังจากเริ่มเดินเครื่องผลิต ได้ประมาณ 1 ปี สวัสดิ์ก็ได้นำ เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่ 2 หลังจากนั้นอีก ปีเดียว เขาได้ตั้งบริษัทนครไทยสตริปมิลขึ้นเพื่อผลิตเหล็กแผ่นขนาดย่อม ชนิดรีดร้อน และนำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทที่ 3 ในปี 2539 ขณะที่ยังไม่ได้เริ่มต้นเดินเครื่องผลิต

"ตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระเบียบที่เปิดช่องไว้ให้กับอุตสาหกรรมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สามารถเข้าไประดมทุนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผลประกอบ การย้อนหลัง 3 ปี เหมือนธุรกิจประเภทอื่น เราก็เข้า ช่องทางนี้ และเป็นรายแรกด้วย"

การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นช่องทางให้กิจการทั้ง 3 แห่งของสวัสดิ์ ได้มีโอกาสระดมทุนเพิ่ม โดยการออกไปขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเอ็น.ที.เอส.สตีล ได้ออกหุ้นกู้วงเงิน 180 ล้านดอลลาร์ ในปี 2537 เพื่อนำเงินมาลงทุน ขยายสายการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 สาย

วันที่เซ็นสัญญาขายหุ้น เป็นวันที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิต เพราะแสดงถึงความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ชาวต่างประเทศที่มีให้กับเขา

แต่เงินกู้จากต่างประเทศก้อนนี้ก็กลับกลายมาเป็นภาระหนักอกให้กับสวัสดิ์ในภายหลัง

ปลายปี 2538 เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ด้วยสัญชาตญาณของสวัสดิ์ เขามองเห็นเป็นโอกาสอีกครั้ง เขามองว่าหลังน้ำลด จะต้องมีการก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมความ เสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีผลให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มสูงขึ้น

ช่วงนี้โรงงานเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป เริ่มเร่งการผลิต และนำสินค้าเข้าไปเก็บไว้ใน โกดัง โดยยังไม่ปล่อยสินค้าออกมาสู่ท้องตลาด

แต่สถานการณ์ของสวัสดิ์ในฐานะประธานบริษัทเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป ณ วันนั้น แตกต่างจากเมื่อครั้งเป็นเจ้าของบริษัทนครไทยสตีลเวอร์ค ในปี 2528 อย่างสิ้นเชิง การที่เขาไม่นำสินค้าออกมาขาย ส่งผลต่อตัวเลขผลประกอบการ และสร้างความสงสัยให้กับเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นนักลงทุนชาวต่างประเทศ

"เขาเริ่มถาม ทำไมเก็บ inventory สูง ไม่ว่าจะเป็นพวก bond holder พวกผู้ถือ หุ้นสถาบันฝรั่งต่างๆ ก็เข้ามา เขาเริ่มถาม พอเขายิ่งถามมากเท่าไร ความเชื่อของผมที่ผมจะไปพูดให้พวกเหล่านี้ให้เชื่อแบบผมนี่ลำบากมาก เขาถามจี้ตามทฤษฎีบอกว่าคุณไม่น่าจะต้องเก็บอย่างนี้ ถ้าคุณเก็บอย่างนี้ คำถามต่อมาของเขาก็คือคุณไม่ใช่ผู้ผลิตแล้วนายสวัสดิ์ และเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปกำลังทำตัวเป็นนักเก็งกำไรใช่หรือไม่"

ปี 2539 ราคาหุ้นกู้ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในตลาดหุ้นกู้ต่างประเทศ เริ่มลดต่ำลง จากราคาหน้าตั๋ว 1 ดอลลาร์ มีการซื้อขายกันอยู่ในช่วง 30-40 เซ็นต์ ความที่สวัสดิ์มีความเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ ของตัวเอง ทำให้เขาไม่แคร์ความรู้สึกของผู้ถือหุ้นกู้เท่าไรนัก เขานำเงินสด ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ ที่ยังมีเหลืออยู่ในพอร์ต ของบริษัทไปซื้อหุ้นกู้เหล่านั้นคืนบางส่วน

"ช่วงนั้นผมใช้เงินไปหลายสิบล้านเหรียญเหมือนกัน"

ขณะเดียวกัน ปี 2539 ก็เป็นปีที่สัญญาณเลวร้ายของเศรษฐกิจไทย ได้ส่อเค้าออกมาให้เห็นบ้างแล้ว จากสถานการณ์ ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มตกต่ำ เนื่องจาก supply มีมากกว่า demand ทำให้การก่อสร้างเริ่มชะลอตัว ความต้อง การเหล็กเส้นที่สวัสดิ์เคยพยากรณ์ไว้ว่าจะสูงขึ้นหลังน้ำลด ไม่เป็นไปตามคาด เขาถูกผู้ถือหุ้นกู้ และเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ บังคับให้ขายสินค้าที่เก็บไว้ในโกดังออกมา ในราคา ต่ำกว่าที่เขาตั้งเป้าหมายไว้

ความตกต่ำของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อให้เกิดความตื่นตัวของผู้ประกอบการ ที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ สวัสดิ์ถูกขอร้องให้เป็นตัวแทนในการนำความต้องการของ ภาคเอกชนเข้าไปเจรจากับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี แต่การเจรจากลับไม่สัมฤทธิผล และไม่ทันการ วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

"ถึงตอนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เรียบร้อย จบสมบูรณ์"

ก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ขณะที่สวัสดิ์กำลังเล่นบทเป็นตัวแทนการเจรจากับรัฐบาล เพื่อให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในอีกทางหนึ่งเขาก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าธุรกิจผลิตเหล็กเส้นเริ่มมีแนวโน้มที่ไม่สวยหรูอย่างเก่าแล้ว จากการแข่งขันที่มีสูงมากในขณะนั้น

เขาเริ่มไปเจรจากับบริษัท PERWAJA ซึ่งเป็นโรงงานเหล็กเส้นที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าของ เพื่อควบหรือรวมกิจการ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะ PERWAJA กำลังอยู่ในขั้นตอนของการแปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นธุรกิจเอกชน

สวัสดิ์ติดต่อมาที่ปูนซิเมนต์ไทย

"ผมก็เริ่มรู้แล้วว่า เราอยู่คนเดียวไม่ได้อีกแล้ว ก่อนที่จะมีวิกฤติ ผมไปหาคุณชุมพล ณ ลำเลียง ถึงที่ office ของท่าน บอกว่าเรารวมกันไหม คุยกันแป๊บเดียว ก็ตกลงกันโดยวาจาเลยว่าจะรวมกัน แต่หลังจากนั้นก็เกิดวิกฤติ คราวนี้ทุกโรงเหล็ก ก็เจอหมดเลย ทางโรงเหล็กของกลุ่มปูนฯก็โดนเหมือนกัน แต่ว่าเขาโชคดีกว่า เพราะ เขาไม่ได้ไปกู้เงินตามแบงก์กระจัดกระจายเหมือนกับเรา"

แผนการควบรวมกิจการระหว่างเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป กับโรงงานเหล็กเส้นในเครือซิเมนต์ไทย ต้องชะงักลงไปประมาณ 2 ปี หลังการลอยตัวค่าเงินบาท เพราะเป็น ช่วงที่ธุรกิจทุกแห่งเกิดความสับสน จนกระทั่งปลายปี 2541 ที่กรณีของเอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การเจรจาเพื่อควบรวมกิจการกับเครือซิเมนต์ไทย จึงเริ่มเดินหน้าต่อ

การเจรจาในส่วนของกลุ่มบริษัทเหล็กสยาม ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย เป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ขณะที่เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป ยุ่งยากกว่า เพราะมีเจ้าหนี้จำนวนมาก ทั้งในส่วนที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นกู้

บทบาทของสวัสดิ์ในช่วงนี้คือการเจรจากับเจ้าหนี้จำนวนทั้งหลาย เพื่อต่อรองรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นใน เอ็น. ที.เอส.สตีลกรุ๊ป ให้ลงตัว ก่อนจะเริ่มกระบวนการควบกิจการ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ซื้อหุ้นเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

บุคลิกของสวัสดิ์ เป็นคนโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก ประกอบกับกิจวัตรประจำวัน ที่เขาปฏิบัติ เช่น การขับรถเบนซ์ 6 ประตูไปทำงาน การสวมใส่เสื้อผ้าราคาแพง และในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่เขานำรถหรูที่สะสมไว้ออกมาขับเล่นบนท้องถนน มีส่วนทำให้สังคมเกิดการกังขา และการเจรจากับเจ้าหนี้ในช่วงแรก ล่าช้าไปบ้าง (อ่านรายละเอียดใน "Drive and Challenge")

แต่ในที่สุด การเจรจาต่อรองก็ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย หลังจากเขา กล้ายืดอกยอมรับต่อหน้าเจ้าหนี้อย่างใจเป็นนักเลงว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นกับ เอ็น.ที.เอส.สตีล เขาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้น

"ไม่ว่าเหตุการณ์มันจะเกิดขึ้นจากอะไร ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเงินหรือไม่ แต่ผมก็มีส่วนทำให้มันพังเหมือนกัน"

ดังนั้นภายหลังการควบกิจการ สวัสดิ์ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นส่วนตัวของเขาในบริษัทใหม่ลงมาเหลือเพียง 2% แต่ให้คงสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของเอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปไว้ที่ระดับ 8-10%

เงื่อนไขที่เขาขอไปยังเจ้าหนี้ คือไม่ให้มีการลดทุนจดทะเบียนของ เอ็น.ที.เอส.สตีล กรุ๊ป ก่อนที่เจ้าหนี้จะแปลงหนี้เป็นหุ้นในบริษัทใหม่ และให้โอกาสกับเขาสามารถซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวคืนได้ในอนาคต รวมทั้งให้บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ ออกวอร์แรนต์อายุ 10 ปี ให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยของ เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป และถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ใช้สิทธิ subscribe วอร์แรนต์ดังกล่าว สิทธิในวอร์แรนต์ที่เหลือต้องตกเป็นของเขาทั้งหมด

วันที่ 19 กรกฎาคม 2545 ศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เอ็น.ที.เอส.สตรีลกรุ๊ป ที่ให้ควบรวมกิจการกับบริษัทในกลุ่มเหล็กสยาม โดยการจัดตั้งบริษัทมิลเลนเนียมสตีล ขึ้นมาเป็น holding company

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ตลาด หลักทรัพย์ได้รับบริษัทมิลเลนเนียมสตีลเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนและอนุญาตให้หุ้น เริ่มการซื้อขายกันได้ในวันที่ 18 ธันวาคม

ในวันนี้สวัสดิ์ยอมรับว่าเขาสบายใจ ที่สุด ที่วิกฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับเอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป คลี่คลายลงไปได้ หุ้นของบริษัทมิลเลนเนียม สตีล บริษัทตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป กับกลุ่มบริษัทเหล็กสยาม ได้เข้า ไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่ากับเปิด โอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถนำหุ้นออกมาซื้อขายได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนในบริษัทใหม่ ก็สามารถลดความเสียหาย ลงมาได้ จากราคาหุ้นของมิลเลนเนียม สตีล

"วันที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมา subscribe วอร์แรนต์ เป็นวันที่ผมแฮปปี้มาก ผู้ถือหุ้นบางคนถึงกับมาขอบคุณผม ที่ต่อสู้เรียกร้อง สิทธิให้กับเขา"

สวัสดิ์ยังคงเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ธุรกิจเหล็กเส้นเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้องการการพัฒนา และแนวโน้มของธุรกิจนี้จะยิ่งแข็งแรงมากขึ้น จากการรวมตัวของกิจการขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง

เขารอเพียงว่า วันที่เขาจะได้ใช้สิทธิ ในการซื้อหุ้นคืน จะมาถึงเมื่อไร

พระอาทิตย์ของเขา ใกล้จะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.