|
ไอทีวีดิ้นหาเงินจ่ายสปน.หลังแบงก์งดให้กู้
ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ไอทีวี ดิ้นหาแหล่งเงินใหม่จ่ายค่าสัมปทานคงค้างให้กับสปน. มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ก่อนถูกยึดสัมปทานคืน หลังเจอทางตันสถาบันการเงินปฏิเสธปล่อยกู้ และไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเม็ดเงินค่าปรับมูลค่าแสนล้าน ด้าน“สปน.” ยืนกรานพันครั้ง ไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการ ตามคำขอของ ไอทีวี เตรียมร่อนหนังสือคัดค้านสำนักอนุญาโตฯ 1-2 วันนี้ คาดโทษไอทีวี หากเล่นตุกติกหนีหนี้ “เลิกสัมปทาน”ทันที
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2550 ได้มีการประชุมกันเพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีการชำระค่าสัมปทานส่วนต่างและค่าปรับจากการปรับผังรายการ ที่ต้องจ่ายให้กับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 ได้อนุมัติจัดหาเงินเพื่อชำระหนี้ค่าสัมปทานส่วนต่างมูลค่า 2,210 ล้านบาท ว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริษัทฯยังไม่ประสบความสำเร็จในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำไปชำระค่าสัมปทานคงค้างดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯไม่สามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนเองได้ให้ความเห็นว่า ไอทีวีไม่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) และการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทุกราย (Right Offering) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความไม่แน่นอนของจำนวนเงินค่าปรับจากการปรับผังรายการจำนวนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท
"เม็ดเงินค่าปรับผังรายการมูลค่ามหาศาล เป็นปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไอทีวี หรือแม้แต่ธุรกิจอื่นเองก็คงไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงส่งผลให้ไอทีวีไม่สามารถระดมทุนในตลาดทุน และสถาบันการเงินเองก็ไม่ยอมปล่อยกู้ เนื่องจากไม่มั่นใจในฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท แต่อย่างไรก็ดี ไอทีวีอยู่ระหว่างการติดต่อหาแหล่งเงินจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมและเจรจากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เกี่ยวกับแนวทางชำระหนี้ดังกล่าวอยู่"
โดยเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ไอทีวีได้มีหนังสือถึงสปน. เสนอแนวทาง และทางเลือกต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของบริษัท พร้อมทั้งร้องขอให้สปน. จัดประชุมเพื่อพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมโดยเร็ว ขณะที่สปน. ได้ระบุผ่านสื่อมวลชนว่า จะกำหนดวันประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม หากไอทีวีและสปน. ไม่สามารถตกลงกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้ และไอทีวียังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด สปน. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 บริษัทฯได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของสปน. เรื่องดอกเบี้ยในค่าสัมปทานส่วนต่างและค่าปรับจากการปรับผังรายการ โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการได้รับคำเสนอข้อพิพาทของไอทีวี ไว้เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ระหว่างไอทีวีกับสปน. แล้ว และเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 สถาบันอนุญาโตตุลาการได้จัดส่งสำเนาคำเสนอข้อพิพาทไปยังสปน. เพื่อให้จัดทำคำคัดค้านคำเสนอข้อพิพาทภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำเสนอข้อพิพาท
"ไอทีวีจะดำเนินการแก้ปัญหาของบริษัทอย่างสุดความสามารถ โดยคณะกรรมการจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป"
สปน.ยืนกรานไม่ตั้งอนุญาฯ
นายจุลยุทธ หิริณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าดำเนินการเรียกร้องให้ บมจ.ไอทีวี ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ทำผิดสัญญาว่า ในวันที่ 24 ม.ค.นี้จะมีการประชุมร่วมคณะกรรมการประสานงานและดำเนินการระหว่างสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอช เอฟ ซึ่งจะมีผู้แทนจากสำนักอัยการสูงสุดมาร่วมประชุมด้วย โดย คาดว่าจะมีการนำเรื่องที่ บมจ.ไอทีวีจะขอจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายจำนวน 2.2 พันล้านบาท รวมถึงจ่ายค่าปรับกรณีที่ทำผิดสัญญาจำนวน 9.7 หมื่นล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาด้วย เนื่องจาก สปน.ได้ทำหนังสือทวงถามไปแล้ว โดยจะครบกำหนด ในวันที่ 30 ม.ค.นี้
ทั้งนี้นายจุลยุทธ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่ไอทีวีอาจจะขอเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอลดการจ่ายค่าปรับที่มีกว่า กว่า 9.7 หมื่นล้านบาทว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะต้องขอความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ ก่อน ไม่อยากชี้นำ แต่ถ้าไอทีวียังไม่มีคำตอบหลังจากวันที่ครบกำหนดต้องจ่าย สปน.ก็จะทำหนังสือไปทวงถามทันที
ส่วนกรณีที่บมจ.ไอทีวีส่งเรื่องไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ตั้งอนุญาโตตุลาการร่วมกัน นายจุลยุทธ กล่าวว่า ทางสปน.เพิ่งได้รับเรื่องดังกล่าว โดยทาง สปน.ก็จะทำคัดค้านไปยังสำนักอนุญาโตตุลาการฯ ภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งจะขอยืนยันว่า จะไม่ตั้งอนุญาโตฯ อย่างแน่นอน การจะตั้งอนุญาโตฯ หรือไม่นั้นถือเป็นสิทธิของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว เพราะในสัญญาได้เขียนไว้ชัดเจนว่า หากฝ่ายใดอยากตั้งก็สามารถทำได้ แต่ถ้าฝ่ายใดไม่ต้องการก็สามารถทำคัดค้านไม่ให้ตั้งไปยังสำนักอนุญาโตฯ ได้
“เรายืนยันว่าไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการอย่างแน่นอน ต่อจากนี้ก็ขอให้สำนักงานอัยการฯ ดำเนินการทางศาล ด้วยการส่งฟ้องไปยังศาลปกครองได้เลย ก่อนหน้านี้ทางอัยการฯ ได้ส่งหนังสือทวงถามมาแล้ว แต่ทางสปน.ยังไม่ได้ตอบกลับ เพราะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ม.ค.นี้ หากที่ประชุมเห็นว่าอย่างไรเราก็จะเร่งตอบไปให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เราจะต้องนำผลของการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้รับทราบด้วย”ปลัด สปน.กล่าว
เมื่อถามว่า การจะส่งหนังสือกลับไปทวงถามการเรียกร้องค่าปรับกว่า 9.7 หมื่นล้านบาทนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานภาพทางการเงินของไอทีวีหรือไม่ นายจุลยุทธ กล่าวว่า ตอนนี้เราก็ดูอยู่แล้วและจำเป็นต้องนำข้อมูลที่เป็นจริงมาพิจารณาอีกรอบ แต่ถ้าบมจ.ไอทีวี ดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายค่าปรับจำนวนดังกล่าว ตามสัญญาก็ระบุไว้ชัดเจนว่า สปน.สามารถบอกเลิกสัญญาสัมปทานได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|