|

IAS39ซ้ำเติมหุ้นแบงก์-มูลค่าวูบ4หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
มาตรการ30% แบงก์ชาติยังไม่ทันจบเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 เข้ามาซ้ำเติมหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบ 1 เดือนที่ผ่านมามาร์เกตแคปหายเกือบ 4 แสนล้านบาทโดยทหารไทยรูดเยอะสุด 36% ตามมาด้วยไทยธนาคารร่วง 19.66% โบรกฯมองผลประกอบการแบงก์ปี 49 ร่วงตามคาด
แนะเก็บหุ้นกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่ BBL KBANK SCB เหตุแนวโน้มจ่ายเงินปันผลสูง
กว่า 1 เดือนภายหลังการประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดกับตลาดหุ้นไทยทั้งในแง่ของการปรับตัวลดลงของดัชนีรวมถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มหลักทรัพย์ที่ต้องรับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นในกลุ่มที่มีมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนแต่แผลลึกที่ถูกฝังไว้กับตลาดหุ้นไทยยังไม่รักษาได้หายกลับต้องโดยปัจจัยลบเข้ามาซ้ำเติมเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IAS39 ที่เริ่มใช้ทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารเกือบทุกบริษัทปรับตัวลดลงค่อนข้าง โดยหากพิจารณาการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งจะพบว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตลาดราคาตลาด หรือ มาร์เกตแคป ของหุ้นในกลุ่ม 13 บริษัทโดยก่อนหน้าการประกาศใช้มาตรการของธปท.( 18 ธ.ค.49)มาร์เกตแคปอยู่ที่ 8.5 แสนล้านบาทแต่ล่าสุด (19 ม.ค.50) มาร์เกตแคปปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 8.09 แสนล้านบาท ปรับลดลงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท หรือ 4.68%
ในส่วนของผลการดำเนินประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิปรับตัวลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 56,118.02 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 94,433.52 ล้านบาท หรือลดลง 38,315.50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40.57%
สำหรับราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดระหว่างวันที่ (19 ธ.ค.49 - 19 ม.ค.50) ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ราคาปิดที่ 1.88 บาท ลดลง 1.06 บาท หรือ 36.05%, ธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT ราคาปิดที่ 4.78 บาท ลดลง 1.17 บาท หรือ 19.66%, ธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ราคาปิดที่ 16.60 บาท ลดลง 3.60 บาท หรือ 17.82%, ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ราคาปิดที่ 11.90 บาท ลดลง 2 บาท หรือ 14.38%, ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ราคาปิดที่ 60.50 บาท ลดลง 10 บาท หรือ 14.18%, ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ราคาปิดที่ 59 บาท ลดลง 8.5 บาท หรือ 12.59%, ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ราคาปิดที่ 110 บาท ลดลง 13 บาท หรือ 10.56%
นายปรเมศร์ ทองบัว นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2549 ลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากต้องมีการตั้งสำรองหนี้สูญและจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่งผลกดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพปรับตัวลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มีความน่าสนใจเข้ามาทยอยลงทุน เช่น BBL โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 122 บาท, KBANK ให้ราคาเหมาะสมที่ 70 บาท และ SCB ให้ราคาเหมาะสมที่ 72 บาท
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มธนาคารแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยระยะสั้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ตามแนวโน้มทางเทคนิค ขณะที่ระยะยาวคาดว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลประกอบการในปีนี้บริษัทคาดว่าจะเป็นไปตามการเติบโตของภาวะเศษฐกิจโดยขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนเพราะจะยังต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับตัวเลขการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในวันที่ 26 มกราคม 2550ก่อน
แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในระยะยาวราคาหุ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาจจะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นที่มีขนาดใหญ่จากปัจจัยหนุนในเรื่องแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และ พฤษภาคม 2550
ทั้งนี้บล.ซิกโก้แนะนำซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการจ่ายปันผลที่ดี เช่น BBL คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลงวดปี2549ที่ 1.80 บาทต่อหุ้น โดยประเมินราคาเหมาะสมที่ 138 บาท, KBANK คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลที่ 0.75 บาทต่อหุ้น ประเมินราคาเหมาะสมที่ 83 บาท และ SCB คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลที่ 1.50-2 บาทต่อหุ้น ประเมินราคาเหมาะสมที่ 73 บาท
ส่วนหุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงลงทุนเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง เกี่ยวกับตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) เช่น ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)หรือ TMB และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือKTB
สำหรับผลประกอบการในปี2550คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้อย่างต่อได้ เนื่องจากคาดว่าการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อจะเติบโตประมาณ 6-7% ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะเติบโตประมาณ 3.5-4.5% จากที่ค่าเงินบาทเริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|