เมื่อมะกันทำโลกจ้ำม่ำ


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ในบรรดาสิ่งที่เป็น "จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม" ของสหรัฐอเมริกาทั้งหมดที่ฝรั่งเศสต่อต้านมาตลอด ดูเหมือนจะมีแต่ เรื่องของอาหารเท่านั้น ที่แดนน้ำหอมพอ จะยืนหยัดต่อต้านอิทธิพลของอาหาร fast food อเมริกันได้ และไม่ต้องผจญกับปัญหา สุขภาพที่ผูกติดมากับการกินอาหารที่มีแคลอรีสูงมากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วดินแดนแห่งแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายด์ และ...การผ่าตัดหลอดเลือดอุดตันอย่างอเมริกา แต่ แล้วตัวเลขสถิติใหม่ๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ กลับค่อยๆ เปิดเผยให้ เห็นว่า ฝรั่งเศสเองก็หวั่นไหวไปกับอิทธิพลของอาหารขยะจากอเมริกาไม่ผิดไปจากประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งโลกกับเขาเหมือนกัน

แม้ว่าชาวฝรั่งเศสที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นชนบท จะยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรงเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ชาวฝรั่งเศสทางภาคเหนือซึ่งเป็นเขตเมืองกลับเริ่มเจ็บป่วยมากขึ้นด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่อง กับการกิน โดยเฉพาะเด็กๆ ชาวฝรั่งเศส ที่กำลังเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น "เราไม่อาจชี้นิ้วโทษสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงสิ่งเดียว" Mariette Gerber นักโภชนศาสตร์แห่งสถาบัน National Institute for Medical Research and Health ใน Montpellier กล่าว "นี่เป็นวิถีการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเราได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐฯ"

ปัญหาพลเมืองกำลังอ้วนขึ้นๆ ของฝรั่งเศส ช่วยตอกย้ำให้เราเห็นชัดถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมอเมริกันในเรื่องนิสัยการกิน ที่ยังคงแผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการกินอาหาร fast food แบบอเมริกัน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ของ McDonald"s และน้ำอัดลม Coca Cola เป็นแฟชั่นที่นิยมกันมาช้านาน

นอกจากนี้ วิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ยังเป็นชีวิตที่ต้องนั่งอยู่ตลอดเวลาและไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย แม้แต่อาหารประจำท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเคยปรุงจากวัตถุดิบที่ใหม่สดและดีต่อสุขภาพ ก็กลับเปลี่ยนมาใช้แป้งสำเร็จ รูปผ่านกระบวนการและวัตถุดิบอื่นๆ ที่ให้แคลอรีสูงขึ้นแต่มีใยอาหารซึ่งดีต่อสุขภาพน้อยลง "เป็นเรื่องง่ายที่จะโทษโลกาภิวัตน์ หรือแบรนด์อาหาร ดังๆ อย่าง McDonald"s หรือ Coca Cola" Derek Yach ผู้อำนวยการโครงการป้องกันโรค โภชนาการ อาหาร และการออกกำลังกาย แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าว "แต่ความจริงแล้ว ปัญหานี้เป็นปัญหาสุขภาพที่ลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก"

สาเหตุพื้นฐานของปัญหาสุขภาพหนีไม่พ้นนิสัยการกินและการออกกำลังกาย พลโลกยุคนี้ต่างได้รับอาหารที่มีแคลอรีสูง ขึ้น แต่กลับมีกิจกรรมที่เผาผลาญแคลอรีน้อยลง จำนวนพลเมืองชาวอเมริกันที่มีน้ำหนักเกินปกติเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวใน ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็น 60% โดยมีชาวยุโรปและเอเชียตามมาติดๆ

ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอ้วนยิ่งสูงไปกว่าในอเมริกาเสียอีก เช่น ในเม็กซิโกและอียิปต์ มีคนอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า ส่วนในจีนและอินเดีย ในแต่ละ ปีมีการตรวจพบคนเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมากกว่าที่พบในประเทศอื่นๆ ทุกประเทศรวมกัน

คำถามคือ พวกเราได้รับอาหารที่มีแคลอรีสูงขึ้นได้อย่างไร หรือจากไหน แหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งที่คุณอาจนึกไม่ถึงคือธัญพืชและอาหารสดต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งเรานำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานประจำวันกันมานมนานนี่เอง

แต่ก่อนอาหารประจำท้องถิ่นเหล่านี้เคยเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ปัจจุบันการปลูกธัญญาหารในเชิงธุรกิจ ซึ่งทำเป็นระบบฟาร์มขนาดใหญ่และนำไปผ่านกระบวนการในโรงงานผลิตก่อนจะมาถึงมือเรานั้น ทำให้คุณค่าทางโภชนาการหลายอย่างสูญเสียไประหว่างทาง และทำให้ "ความหนาแน่นของแคลอรี" ของธัญพืชเหล่านั้นสูงขึ้น แม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นส่วนประกอบ หลักของอาหารประจำท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศ ก็มิได้ดีต่อสุขภาพเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่ก่อนคนจีนเคยทำเส้นบะหมี่หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวเอง จากเมล็ดข้าวครบรูป (whole grains) บดและโม่เป็นแป้งด้วยมือ แต่เดี๋ยวนี้คนจีนใช้แป้งสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงาน ซึ่งเมล็ดข้าวถูกขัดสีเอาเปลือกออกไปจนหมด และสิ่งที่หลุดออกไปพร้อมกันก็คือสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างใยอาหารและแร่ธาตุ สิ่งที่เหลืออยู่จึงเป็นเพียงคาร์โบไฮเดรตล้วนๆ ที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็น ไขมันได้อย่างสะดวกดาย

น้ำมันพืชเป็นอีกแหล่งหนึ่งของแคลอรีในอาหารที่สูงขึ้นที่คุณอาจนึกไม่ถึงอีกเช่นกัน หลังจากในทศวรรษที่ 1960 ที่นักวิจัยชาวญี่ปุ่นและอเมริกันได้ค้นพบวิธีสกัดน้ำมันจากพืชโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยเป็นต้นมา ทั้งชาวตะวันตกและประเทศกำลังพัฒนาต่างก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืชซึ่งมีราคาถูกกว่าแทนเนย ทั้งยังดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันจากสัตว์หากใช้แต่พอประมาณ
ปัญหาก็คือ เนื่องจากมันมีราคาถูกโดยเฉพาะในประเทศอย่างอินเดีย จึงมีการใช้น้ำมันพืชกันอย่างพร่ำเพรื่อในอาหารทุกมื้อ เป็นเรื่องปกติธรรมดาเป็นอย่างยิ่งในดินแดนอนุทวีป ที่จะใส่น้ำมันพืชลงไปในอาหารทั้งมื้อเช้า กลางวัน เย็น ชาวอินเดียยังนิยมเติมน้ำมันพืชเพิ่มลงไปในอาหารอีกสัก 10-20 กรัม นัยว่าเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น

น้ำตาลคือผู้ร้ายตัวสำคัญอีกตัวหนึ่ง อาหารประจำท้องถิ่น ในประเทศกำลังพัฒนาหลายจานมีปริมาณน้ำตาลมากขึ้นกว่า เมื่อ 20 ปีก่อนและทำให้ผู้คนในประเทศเหล่านั้นได้รับพลังงานสูงขึ้นถึงวันละ 300 แคลอรี พลโลกยังได้รับน้ำตาลส่วนเกินมาจาก ความนิยมดื่มน้ำอัดลม

อย่างไรก็ตาม แหล่งใหญ่ของน้ำตาลกลับเป็นขนมปังและอาหารหลักในท้องถิ่น ที่แต่ก่อนแต่ไรเคยเป็นอาหารที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ แต่เมื่อมีการนำวิธีการผลิตแบบตะวันตกมาใช้ ซึ่งสนับสนุน ให้มีการเติมน้ำตาลลงไปในขนมปังและอาหารท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้มีรสชาติหวาน อร่อยขึ้น ทำให้ประชากรในประเทศอย่าง บราซิลบริโภคน้ำตาลต่อหัวมากกว่าพลเมืองอเมริกันเสียอีก

ไม่มีส่วนใดในโลกนี้ไม่ว่าจะอยู่ไกลปืนเที่ยงสักเพียงใด ที่จะหนีรอด พ้นไปจากเงื้อมมือของอาหารแคลอรีสูง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ชาวเกาะ Samoa ใน Pacific มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเกาะดังกล่าวกลายเป็นโรคอ้วนกันถ้วนหน้า

James Bindon นักมานุษยวิทยาด้านชีววิทยาแห่ง Alabama University ชี้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ชาว Samoa หันมานิยมรับประทานเนื้อกระป๋อง corned beef ที่นำเข้ามาจากอังกฤษ แนวโน้มอย่างเดียวกันนี้กำลัง เกิดขึ้นในเกาะ Fiji ด้วยเช่นกัน "เมื่อก่อน พวกเขาปลูกผักผลไม้กินเอง แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถซื้อหาน้ำอัดลมกระป๋องและเนื้อแกะที่นำเข้าจากนิวซีแลนด์ได้ทั่วไป" Yach จาก WHO กล่าว

พลเมืองทั้งจากประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นอาการที่มีชื่อเรียกว่า "couch-potato syndrome" อันหมายถึง แทนการขี่จักรยานไปทำงานและการทำงานกลางแจ้ง พลโลกยุคนี้ต่างก็ "นั่ง" ทำงานอยู่ในสายพานการผลิต "นั่ง" รถไปกลับจากที่ทำงาน และ "นั่ง" ดูโทรทัศน์ในวันหยุด เดี๋ยวนี้แม้แต่ในจีน 95% ของครัวเรือนต่างก็มีทีวีดูกันแล้ว

couch-potato syndrome ดันค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประเทศต่างๆ ให้พุ่งสูงขึ้นไปตามๆ กัน 100 พันล้านดอลลาร์สำหรับการรักษาโรคอ้วนในเด็กในสหรัฐฯ เพียงอย่าง เดียว แล้วเด็กที่มีปัญหาน้ำหนักเกินอีก 35 ล้านคนทั่วโลกล่ะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงผู้ใหญ่อ้วนอีก 300 ล้านคนด้วยซ้ำ

Karen Miller-Kovach หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน Weight Watchers International เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพลโลกที่อดอยากยากจนและค่าใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ที่เป็นโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ

ที่แย่ก็คือ ผู้ที่รับกรรมจากโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ที่สืบเนื่องมาจากความอ้วนที่หนักที่สุดกลับเป็นคนจน เพราะอาหารขยะแคลอรีสูงมีราคาถูกพอที่คนมีรายได้น้อยจะซื้อหาได้ ในขณะที่คนรวยและมีการศึกษามีเงินไปใช้บริการสถานออกกำลังกาย แต่ในประเทศกำลังพัฒนาพลเมืองในประเทศเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิดถึงสถานออกกำลังกายหรูหราราคาแพง

สรุปแล้วความนิยมในอาหารสไตล์ตะวันตกที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก กำลังก่อให้เกิดปัญหาที่น่าวิตกว่าจะระบาดไปทั่วโลกเช่นกัน นั่นคือ การที่พ่อแม่เป็นโรคอ้วนแต่ลูกๆ กลับได้รับอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งล้วนแต่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพของทั้งพ่อแม่และลูกได้พอๆ กัน

แปลและเรียบเรียงจาก
Newsweek, January 20, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.