ธุรกิจพลังงานทดแทนเนื้อหอม‘ล็อกซเล่ย์ -สามารถ’ร่วมวง-เจ้าเก่าชี้ตลาดนอกโต30%


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจพลังงานทดแทนปี50 ไปได้สวย “Solar Cell – พลังงานลม –เอทานอล – ไบโอดีเซล” โตต่อเนื่องจากความต้องการใช้ที่มากขึ้น เผย “ล็อกซเล่ย์ – สามารถ”ร่วมวงผลิตพลังงานทดแทน ขณะที่ BOI อนุมัติกว่า 1.5พันล้านสนับสนุนโครงการ ด้าน “โซลาร์ตรอน”เชื่อตลาดในประเทศได้รับกระตุ้นจากโครงการVSPP ส่วน “บมจ.เอกรัฐ”ชี้ตลาดต่างประเทศขยายตัว 30 %

กระแสพลังงานทดแทนเป็นที่ยอมรับของภาครัฐ-เอกชน มากขึ้นกว่าปีก่อนๆเพราะสามารถสร้างโรงงานต้นน้ำได้แล้วโดยเฉพาะธุรกิจโซลาร์เซลล์ที่สามารถขายทั้งใน –นอกประเทศ ขณะที่พลังงานทดแทนด้านอื่นในประเทศยังมีแนวโน้มสดใส

พิชัย กลิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ที่กระแสตอบรับมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มดังกล่าวมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนี้มากที่สุดหากคิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาทแต่ติดที่มีปัญหา คือ ต้นทุนสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 – 16 บาทต่อหน่วย ซึ่งผู้ประกอบการจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือด้านการกำหนดปริมาณการซื้อใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 5 ราย ส่งออกกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการผลิตในประเทศไทย

ขณะเดียวกันในด้านพลังงานลม (Low Speed Wind Turbine) ยังมีโอกาสเติบโตได้เพราะประเทศไทยสามารถผลิตกังหันลมเชิงพาณิชย์ขนาด 5,000 วัตต์ และจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ถึงขนาด 50,000 วัตต์ ซึ่งเป็นกังหันแบบใช้กระแสลมต่ำมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทย คาดในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ มีกระแสลมพัดตลอดปี

‘ล็อกซเล่ย์ – สามารถ’ร่วมวง

อย่างไรก็ดีในปีนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่สนใจมาลงทุนอาทิ บริษัทล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) หันมาสนใจธุรกิจพลังงานชีวมวล หรือ ไบโอแมส (Bio Mass)ขณะที่บริษัทสามารถ (SAMART) ซึ่งเคยได้งานกำจัดขยะในสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว ก็สนใจจะลงทุนเทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยจะไปตั้งโรงงานกำจัดขยะขนาดใหญ่ที่เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 เทคโนโลยีที่นำเสนอและมีความเป็นไปได้คือขยะ150 – 300ตันใช้เทคโนโลยีการแปลงขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล RDF (Refuse Derived Fuel) แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ Gasification - ขยะ 500 ตันขึ้นไปสามารถใช้เตาเผาขยะชนิดปลอดมลพิษและผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่าย

โวย “ ก.เกษตรฯ” อืดเป็นเรือเกลือ

ขณะที่ธุรกิจเอทานอล(Ethanol) และ ไบโอดีเซล (Bio Diesel ) ซึ่งการผลิตน้ำมันดังกล่าวจะต้องใช้พืชเศรษฐกิจเป็นส่วนผสมสำคัญ อาทิ น้ำมันมะพร้าว , น้ำมันถั่วเหลือง ,น้ำมันถั่วลิสง , น้ำมันละหุ่ง , น้ำมันงา , น้ำมันเมล็ดทานตะวัน , น้ำมันสบู่ดำ ทว่ากระทรวงเกษตรฯไม่ได้ให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

“ เข้าใจว่ากระทรวงเกษตรฯมีปัญหาการเมืองภายในใครจะสั่งข้ามหน่วยงานไม่ได้ ส่งผลให้การผลักดันเกิดอาการอืดเป็นเรือเกลือ ทั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเดินหน้าไปไกลแล้ว ทั้งกระทรวงพลังงาน กรมพลังงานทดแทน ภาคเอกชน แต่กระทรวงเกษตรฯที่เป็นส่วนหนึ่งกับนิ่งเฉยมาตลอด ” ประธานกลุ่มพลังงานทดแทน ระบุ โดยในปี 2549 ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนสอดรับกับนโยบายสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนของรัฐบาลซึ่งจะช่วยให้ลดการนําเข้าพลังงานจากต่างประเทศและเป็น การพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการด้านพลังงานทดแทนจํานวน 4 โครงการคิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น1,510 ล้านบาท

BOIอนุมัติ1.5พันล้านหนุน

สำหรับโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่ได้รับส่งเสริมทั้งหมดประกอบด้วยกิจการผลิตแอลกอฮอล์หรือเชื้อเพลิง จากผลผลิตการเกษตรของบริษัทพี.เอส.ซี.สตาร์ชโปรดักส์ จํากัด(มหาชน) ซึ่งจะผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5%โดยใช้มันสําปะหลังเป็นวัตถุดิบมีกําลังการผลิตปีละประมาณ 54 ล้านลิตรใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 635 ล้านบาทโครงการตั้งที่จังหวัดชลบุรี

โดยที่ผ่านมา BOI ได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเอทานอลสําหรับเชื้อเพลิงมาแล้ว 12 โครงการแบ่งเป็นการผลิตเอทานอลจากอ้อย 6 โครงการ ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง 3 โครงการ ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและอ้อย 1 โครงการและผลิตเอทานอลจากแอลกอฮอล์ 2 โครงการมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 600ล้านลิตรต่อปี

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas)และพลังงานไฟฟ้า 2 โครงการแก่ Mr. David A. Donnelly โดยจะตั้งโครงการที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพปีละประมาณ 36 ล้านลูกบาศก์เมตรและนำก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าปีละประมาณ 8 เมกกะวัตต์ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 395 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ BOIได้ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตก๊าซชีวภาพไปแล้ว จํานวน 15 โครงการมีกำลังการผลิตรวม 120ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วนโครงการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับการส่งเสริมเป็นกิจการของบริษัทอ่าวไทยเอนเนอร์ ยี จำกัดใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น480ล้านบาทมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 90 ล้านลิตรมีแผนจะจำหน่ายให้กับบริษัทน้ำมันในประเทศ เช่น ปตท. บางจากและผู้ประกอบการขนส่งโดยโครงการจะตั้งที่ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่ผ่านมาBOIให้การ ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตไบโอดีเซลไปแล้ว3โครงการมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 332 ล้านลิตรต่อปี

โซลาร์เซลล์ ดาวรุ่ง

ด้านวันดี กุญชรยาคง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน)หรือ SOLAR ยักษ์ใหญ่ในวงการโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจโซลาร์เซลล์ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะบริษัทฯมีโรงงานผลิตแผ่นโซลาร์เซลล์อาคารใหม่ที่โคราชก็จะสร้างเสร็จในปีนี้ด้วย จะทำให้เกิดการขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น โดยประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัท เช่น แถบยุโรป ได้แก่ เยอรมัน ส่วนในภูมิภาคนี้มีที่อินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการส่งออกในปี 2550 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงจากขณะนี้ที่มียอดส่งออก 5% สูงเพิ่มขึ้นเป็น 20 %

นอกจากนี้แล้วโครงการรับซื้อคืนไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนหรือเอกชนของภาครัฐ หรือ VSPP คาดว่าจะอยู่ที่ 8 บาทต่อหน่วยแต่ภาครัฐอาจจะช่วยเหลือด้วยการซื้อประมาณ 12 บาทต่อหน่วยซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่น่าสนใจเนื่องจากราคาพลังงานที่ใช้กันอยู่มีต้นทุนที่ 4 บาท จะเป็นแรงหนุนที่ทำให้ยอดขายแผงเซลล์พลังแสงอาทิตย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะสามารถขายไฟฟ้าได้ในราคาคุ้มค่า แต่เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดจากทางภาครัฐซึ่งต้องรอการทำประชาพิจารณ์ และการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก่อน คาดว่าหลังจากเรื่องนี้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนจะทำให้ยอดขายแผงเซลล์พลังแสงอาทิตย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี บริษัทโซลาร์ตรอนยังมีบ้านในโครงการ SOLAR HOME ยังเหลือที่ต้องติดตั้งแผงวงจรเซลล์แสงอาทิตย์อีก 80,000 หน่วยครัวเรือน จากทั้งหมดรวมที่ได้ติดตั้งไปแล้ว 230,000 หน่วย ทั้งนี้หากมีการลงนามในสัญญาฉบับใหม่เพื่อสานโครงการณ์เดิมต่อให้เสร็จสิ้น จะทำให้กำไรขั้นต้นของบริษัทในปี 2550 เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถปรับราคาขึ้นได้ตามต้นทุนที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น

โดยในปี้นี้จะเน้นการใช้ดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นตัวแทนการขาย กระจายผลิตภัณฑ์ไปตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และยังมีแนวคิดจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก อาทิ เสาร์ไฟส่องสว่าง อินเตอร์เน็ตโซลาร์เซลล์ โทรศัพท์โซลาร์เซลล์ เป็นต้น

อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับบริษัทกรุนด์ฟอส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำชั้นจากประเทศเดนมาร์ก เพื่อนำเอาประสบการณ์ทางเทคโนโลยีชั้นสูงของสองบริษัทมาร่วมพัฒนาระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ เป็นการทำธุรกิจร่วมกันซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสองบริษัทให้มีการเติบโตที่ดีในอนาคตเพราะไทยเป็นประเทศที่มีความต้องการระบบสูบน้ำ เพื่อการจัดสรรน้ำให้ได้อย่างมีคุณภาพระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะช่วยเพื่อศักยภาพในการจัดสรรน้ำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐบาล โดยการร่วมมือครั้งนี้คาดว่าในปี 2550 จะมีการขายโครงการระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์มากกว่า 500 ระบบในทุกภูมิภาคของประเทศมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท

“ ปีหน้าคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 1,300 ล้านบาทเนื่องจากรับรู้รายได้จากการติดตั้งโครงการโซลาร์เซลล์ และ โครงการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นธุรกิจใหม่และเสาไฟฟ้า ”ประธานเจ้าที่บริหารโซลาร์ตรอน ระบุ

เอกรัตน์ เจาะตลาดยุโรป

ขณะที่เกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการ บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม และบริษัทเอกรัฐโซล่าร์ จำกัด มองอนาคตธุรกิจโซลาร์เซลล์ปีนี้ ว่า ภาครัฐต้องให้ความรู้ด้านพลังงานทางเลือกให้ประชาชนมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์เซลล์ที่ประชาชนยังมีเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก แต่ที่เห็นบ่อยครั้งคือ รมว.พลังงาน (ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ) พูดอยู่บ่อยๆ ว่าต้นทุนการผลิตสูง จึงไม่ให้การสนับสนุน ทั้งหมดจึงมาลงที่ภาคเอกชนที่ต้องต่อสู้กันไปตามลำพังขาดการเหลียวแลจากภาครัฐ ซึ่งสวนทางจากต่างประเทศที่เขาหันมาสนใจเรื่องโซลาร์เซลล์มากว่า 10ปีแล้ว อาทิ ประเทศเยอรมัน ที่ในอีก 10-15 ปีข้างหน้าโรงงานพลังงานนิวเคลียร์จะปลดระวางก็จะหันมาสนับสนุนโซลาร์เซลล์อย่างเต็มที่

ในส่วนยอดขายของบมจ.เอกรัฐนั้นยังมุ่งไปที่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ เยอรมัน ซึ่งมียอดส่งออกมากกว่า 90 % ของการผลิตทั้งหมดโดยในปีนี้ 2550 โรงงานต้นน้ำของบริษัทฯได้ก่อสร้างสำเร็จโดยจะส่งออกไปต่างประเทศเกือบทั้งหมดคาดว่าปีหน้ายอดขายอยู่ 800-900ล้านปี 2551 ยอดขายน่าจะอยู่ที่ 2,000บาท และปี 2552 ยอดขายจะอยู่ 3,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.