ไทม์ฯหวั่นตลาดนาฬิกาปีนี้ฝืดเพิ่มแบรนด์-ลุยจังหวัดท่องเที่ยว


ผู้จัดการรายวัน(22 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทม์แพลนเน็ต เผยกลยุทธ์ตลาดปีนี้นำเข้านาฬิกาแบรนด์ใหม่เพิ่ม ล่าสุดนำเข้า 2 แบรนด์ดัง ซุโมริ ชิซาโตะ และ แอปปี้ไทม์ พร้อมเล็งขยายช่องทางขายเข้าแหล่งท่องเที่ยวโฟกัส พัทยา หัวหิน ภูเก็ต ยอมรับปีนี้เผชิญภาวะลำบาก คาดสิ้นปีนี้เติบโต 10%

นางภัทรี ศิริจินดาเลิศ กรรมการบริหาร บริษัท ไทม์แพลนเน็ท จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายนาฬิกาจากบริษัท SEIKO INSTRUMENTS INC.(SII) หรือเอสไอไอ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2550 บริษัทฯ มีแผนที่จะนำเข้านาฬิกาแบรนด์ใหม่เพิ่มอีก โดยขณะนี้ได้นำเข้ามาแล้ว 2 แบรนด์

โดยบริษัทฯ ได้นำเข้านาฬิกาแบรนด์ใหม่ในเครือเอสไอไอ เพื่อมาเปิดตัวในช่วงมกราคมนี้ 1 แบรนด์ คือ ซุโมริ ชิซาโตะ"TSUMORI CHISATO" เป็นนาฬิกาสำหรับสุภาพสตรี ซึ่งผู้ออกแบบเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ชื่อดังของประเทศญี่ปุ่นชื่อ TSUMORI CHISATO และเป็นชื่อเดียวกับแบรนด์นาฬิกา โดยจุดเด่นของแบรนด์นี้ จะอยู่ที่ตัวเรือนได้รับแรงบันดาลใจในการดีไซน์มาจากแมวนำโชคของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Maneki-neko ที่จะนำมาซึ่งความโชคดี ในช่วงตรุษจีนและวาเลนไทน์นี้ และบริษัทฯ ยังได้นำนาฬิกา แอปปี้ไทม์รุ่นใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 1 คอลเลกชั่น คือ Vegetable ซึ่งมีสีสันและดีไซน์เป็นธรรมชาติเหมือนผักต่างๆ

ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการนำเข้า รุ่นใหม่ของแบรนด์แอปปี้ไทม์ (APPETIME) จำนวน 2 รุ่น คือ ลูลลี่ป๊อป(LOLLIPOP) และ แพลนเน็ตทาริโอ(PLANETARIO) และแบรนด์อีสเซ่ มิยาเกะ (ISSEY MIYAKE) จำนวน 1 รุ่น คือ ทรัพพิซอยด์ (TRAPEZOID)

ปัจจุบันการนำเข้านาฬิกาทั้งหมด 5 แบรนด์เป็นของเอสไอไอ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือ ดีไซเนอร์แบรนด์ เป็นลักษณะของแบรนด์ที่ตั้งชื่อมาจากดีไซน์เนอร์ ที่เป็นคนออกแบบนาฬิกาแบรนด์ จำนวน 3 แบรนด์ ได้แก่ อีส์เซ่ มิยาเกะ(ISSEY MIYAKE),อเลส์ซี่ ALESSI และแอนดี้ วอร์ฮอล (ANDY WARHOL) ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็น แฟชั่น แบรนด์ (FASHION BRANDS) จำนวน 2 แบรนด์ ได้แก่ แอปปี้ ไทม์ (APPETIME) และเจ.สปริงส์ (J.SPRINGS)

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายตลาดไปในจังหวัดท่องเที่ยวเช่น พัทยา หัวหิน ภูเก็ตและสมุย มากขึ้นด้วย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษารูปแบบอยู่

แนวโน้มตลาดนาฬิกาในปี 2550 คาดว่าอัตราการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก โดยปัจจัยลบทางด้านการเมือง ได้ส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดการชะลอตัวในการใช้จ่ายสินค้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี คาดว่าจะไม่มีการเติบโตแต่อย่างใด

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2549 ที่ผ่านมานั้น มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปี 2548 แต่ถือว่าการเติบโตต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ประมาณ 3% เนื่องจากการปฏิวัติและเหตุการณ์ระเบิดในช่วงปีใหม่ ส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นและเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ยอดรายได้สิ้นปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโต10% ซึ่งถือว่าเป็นการลดยอดลงจากเดิมที่ยอดขายในปีที่ผ่านมา ทำได้ถึง 15-20% ทั้งนี้บริษัทฯ มองจากปัจจัยลบต่างๆ แล้วนั้นจะทำให้ ส่งผลให้ยอดขายไม่สามารถเติบโตได้ อย่างไรก็ตามจากแผนการขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มนั้นจะสามารถช่วยให้ยอดการเติบโตทรงตัวได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.