"เอไอเอส"ฟื้นชีพโมบายล์ไลฟ์ ปรับกลยุทธ์ฟันยอด6พันล้าน


ผู้จัดการรายวัน(20 กุมภาพันธ์ 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอเอสฟื้นชีพโมบายไลฟ์ระลอกใหม่ ผุดหน่วยงานภายใต้ชื่อ "Future LAB" ผนึกผู้ผลิตมือถือทุกราย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เจ้าของคอนเทนต์ ผู้คิด ค้นเทคโนโลยีใหม่ สร้างคอนเทนต์ป้อนมือถือสอดรับความต้องการ ของผู้ใช้บริการ ดันบริการแรก m DICTIONARY อัดลงมือถือซีเมนส์ เจาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ก่อนลุยคอนเทนต์ใหม่ตลอดทั้งปีสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวโทรศัพท์มือถือ เชื่อผลักดันธุรกิจบริการเสริมเติบโตเท่าตัว ฟันรายได้กว่า 6,000 ล้านบาทแน่นอน

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงาน การตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่าจากแนวโน้มบริการเสริมหรือนอนวอยซ์เซอร์วิสในปัจจุบัน ถือเป็นรายได้จำนวนมหาศาล เห็นได้จากช่วงปีที่ผ่านมาเอไอเอสมีรายได้จากธุรกิจนอนวอยซ์ถึง 3,200 ล้านบาท ซึ่งขนาดของธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จะโตขึ้นอีก กว่าเท่าตัว หรือประมาณการรายได้ ไว้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท นั่นหมายความว่าคอนเทนต์ที่เข้ามา ซัปพอร์ตจะต้องมีความหลากหลายและสอคคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม

ทั้งนี้ บริการโมบายล์ไลฟ์ (mobileLIFE) เสมือนหนึ่งศูนย์รวมบริการด้านนอนวอยซ์ รวมไปถึงบริการเสริมทั้งหมดที่เอไอเอสได้พัฒนาขึ้นโดยนำเทคโนโลยีที่เลือกสรรมาให้มีรูปแบบการใช้งานสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการ จะถูกปลุกการบริการขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมา โดยโมบายล์ไลฟ์รูปแบบใหม่จะต้องตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย โดย เอไอเอสมุ่งที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อวิถีการใช้ชีวิตของลูกค้าให้ง่ายขึ้น

ทางเอไอเอสได้นำแนวคิดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาตั้งแต่ ขั้นต้นอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดคอนเทนต์ใหม่สำหรับบริการโมบายล์ไลฟ์ จนเกิดเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ Future LAB โดยบุคลากรของเอไอเอสจะทำการจับมือร่วมกับพันธมิตรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนที่สินค้าจะออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้พัฒนาคอนเทนต์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ จนสามารถพัฒนาบริการที่พร้อมใช้งานให้แก่ลูกค้าได้อย่างครบถ้วน

"เราจะมีการเปิดอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ Future LAB ในช่วงเดือนหน้านี้ เพราะนี่คือหน่วยงานที่สร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคต โดยเรามีแผนที่จะเปิดตัวคอนเทนต์ใหม่ๆ สำหรับโมบายไลฟ์ในทุกไตรมาส ซึ่งเป็นแผนระยะยาวทั้งปี""

ล่าสุดผลงานชิ้นแรกของ Future LAB จากความร่วมมือกับบรรดาพันธมิตรถูกพัฒนาออกมาเป็นบริการ mDICTIONARY โดยการติดตั้งซอฟต์แวร์ mDICTIONARY ไว้ภายในตัวเครื่อง ซีเมนส์ S57 ที่เป็นจาวาโฟน โดยจะปรากฏเป็น 1 เมนู ในการใช้งาน

บริการ mDICTIONARY ผู้ใช้บริการสามารถ เลือกใช้งานผ่านทาง 2 เทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีแรกคือจาวา ที่จะไปค้นหาข้อมูลคำแปลของศัพท์ที่ต้องการทราบผ่านทางเครือข่าย GPRS สามารถเข้าไปเลือกเมนูและใช้บริการได้ทันที โดยไม่มีการจำกัดปริมาณคำในการอธิบายความหมายทั้งอังกฤษเป็นไทย และไทยเป็นอังกฤษ และยังสามารถเก็บคำศัพท์ไว้ในเครื่องได้ถึง 50 คำ

ส่วนเทคโนโลยีที่สอง จะใช้บริการ m DICTIONARY ผ่านทาง SMS เนื่องจากเป็นเทคโนโลยี ที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมาก จากที่ปัจจุบันปริมาณการ ใช้ SMS ส่งข้อความในระบบของเอไอเอสสูงถึง 73 ล้านข้อความต่อเดือนและมีการใช้งานพิกเจอร์สูงถึง 11 ล้านครั้งต่อเดือนจึงถือเป็นฐานลูกค้าใหญ่มากกว่า 42% ที่ใช้งาน SMS อยู่ในปัจจุบัน

ทั้ง 2 เทคโนโลยีในบริการ mDICTIONARY ได้เลือกใช้ฐานข้อมูลคำศัพท์จาก "สอ เสถบุตร" ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมคำศัพท์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีการอธิบายความหมายที่กระชับ และได้ใจความจึงทำให้เหมาะสมที่จะนำมาแสดงบนหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลจากเนคเทคในบางส่วนที่นำมาให้บริการด้วย

"บริการ mDICTIONARY เน้นกลุ่มเป้าหมาย หลักที่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีความต้อง การค้นหาคำศัพท์ ก่อนเปิดให้บริการนี้ ทางบริษัทได้มีการสำรวจพบว่ากลุ่มนักเรียน นักศึกษา มีความต้องใช้เครื่องแปลคำศัพท์มาก เห็นได้ จากธุรกิจเครื่องแปลคำศัพท์ติดท็อปไฟว์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ทำให้เอไอเอสพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มนี้ต่างก็มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานอยู่แล้วด้วย"

สำหรับอัตราค่าบริการ mDICTIONARY นี้ ทางเอไอเอสได้จัดโปรโมชั่นพิเศษขึ้น โดยสามารถค้นหาคำศัพท์ได้ในอัตราครั้งละ 2 บาท ไม่รวมค่า GPRS ในกรณีที่ใช้งานผ่านจาวา ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม 2546 ในอนาคตเอไอเอส จะพัฒนาให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นจาวาโฟน สามารถ ใช้บริการนี้ได้ผ่านทาง Over The Air Download

นายกฤษณันกล่าวว่าบริการ mDICTIONARY ถือเป็นนวัตกรรมที่ใช้จาวาครั้งแรก โดยได้รับความร่วมมือจากโทรศัพท์มือถือซีเมนส์ S57 ถือเป็นการสร้างมูลค่าให้กับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ทั้งนี้โทรศัพท์มือถือที่บวกคอนเทนต์ย่อมเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการใช้บริการ ทำให้ขายเครื่องได้ราคาด้วย และในอนาคตต่อไปทางเอไอเอสจะมีการพัฒนาคอนเทนต์ร่วมกับผู้ผลิต โทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.