|

สกัดบาทฉุดมาร์เก็ตแคปวูบ5แสนล.
ผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สถานการณ์ 1 เดือนภายหลังการประกาศใช้มาตรการกันเงินสำรอง 30% ที่จะเข้าลงทุนในประเทศไทย แม้ว่าภายหลังจะมีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวให้กับเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนที่ถือว่ารุนแรงมากหลังการประกาศใช้ เนื่องจากส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าว (19 ธ.ค.) ปรับตัวลดลงถึง 108 จุดซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ กระแสการต่อต้านการใช้มาตรการเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข โดยในส่วนของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยซึ่งประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยต้องมีการร่วมหารือเพื่อประเมินผลกระทบจากมาตราการดังกล่าว แต่วันนี้(18 ม.ค.) ครบ 1 เดือนของการใช้มาตรการดังกล่าวความชัดเจนกับเรื่องการประกาศยกเลิกหรือการผ่อนปรนใดๆ เพิ่มเติมยังไม่ถือว่าชัดเจน
โดยดัชนีในช่วงระหว่าง(19 ธ.ค. - 18 ม.ค.) ปรับตัวลดลง 75.66 จุด หรือ 10.35% จาก 730.55 จุด ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์รวม หรือ มาร์เกตแชร์ ปรับตัวลดลง 4.8 แสนล้านจาก 5.4 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.
ด้านความเคลื่อนดัชนีตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (18 ม.ค.) ดัชนีปิดที่ 654.89 จุด เพิ่มขึ้น 3.42 จุด หรือ 0.52% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 655.41 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 650.23 จุด มูลค่าการซื้อขาย 10,005.92 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 669.44 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 139.75 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 529.69 ล้านบาท
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยการกันสำรองเงินที่จะเข้ามาลงทุน 30% ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 1 เดือนว่า เรื่องดังกล่าวคงไม่สามารถประเมินอะไรได้มาก เพราะการประกาศใช้หรือยกเลิกเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรงไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงการคลังว่าจะมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
ทั้งนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยอยู่ระหว่างการรอตัวเลขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวกับการระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจจากมาตรการดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เท่าที่สอบถามมีหลายบริษัทได้ส่งตัวเลขเข้ามาที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่สมาคมต้องการข้อมูลผลกระทบของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง เพื่อประเมินตัวเลขก่อนจะนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน โดยหวังว่าภายในสัปดาห์หน้าสภาธุรกิจตลาดทุนไทยน่าจะได้รับข้อมูลจากสมาคมบริษัทจดทะเบียนครบถ้วนและน่าจะนำเสนอได้ทันสัปดาห์หน้าทันที
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการผู้จัดการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยตัวเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องมาตรการดังกล่าว โดยท่าทีน่าจะมีการผ่อนปรนมากขึ้น ส่วนในเรื่องการรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเสนอให้กับธปท.ก็จะยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่ได้เข้ามาชี้แจงผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวโดยตรงกับธปท. ทำให้เชื่อว่าอาจจจะมีการผ่อนปรนในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ยังประเมินสถานการณ์ในประเทศได้ค่อนข้างยาก หลายเรื่องที่ยังไม่น่าไว้วางใจการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องให้ความสนใจ
**ติดใจกองอสังหาฯไม่ผ่อนปรน
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมบลจ.ได้เสนอผลเสียหายจากมาตรการกั้นเงินสำรอง 30% ของธปท.ที่เกิดขึ้นกับการลงทุนผ่านกองทุนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เพราะการผ่อนปรนมาตรการในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้รับยกเว้นเพียงการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแต่กับไม่ยกเว้นการเข้ามาลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ สมาคมบลจ.คงไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ผ่อนปรนมาตรการ 30% ให้กับเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนต่างๆ เนื่องจากได้นำเสนอข้อมูลไปค่อนข้างมากแล้ว
"มันแปลกนะที่กองทุนอสังหาฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ตัวหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กับไม่ได้รับการยกเว้นเหมือนการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในหลักทรัพย์ปกติ เราเสนอผลกระทบไปเยอะแล้วคงไม่จำเป็นจะต้องเสนออะไรเพิ่มเติมแล้ว"นายมาริษกล่าว
**ประเมินความเสียหายไม่ได้
นายอาจดนัย สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เจพี มอร์แกน (ประเทศไทย) ในฐานะประธานชมรมบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการสำรอง30% ของธปท. 1 เดือนที่ผ่านมาไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ คงต้องติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งหากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะทำให้คลายความกังวลและมีการเข้ามาลงทุนภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
"มาตรการดังกล่าวเราไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะจะเกิดผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่เราก็ยังคงทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ความรู้กับนักลงทุนต่างชาติถึงการเคลื่อนไหวและแนวทางการแก้ปัญหาของมาตรการกันเงินสำรอง 30% และคอยเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง" นายอาจดนัยกล่าว
**ฟันธงตปท.ไม่ทิ้งหุ้นไทย
นายวิชัย พูลวรลักษณ์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวแม้ว่าจะส่งผลทำให้เกิดความกังวลค่อนข้างมากของนักลงทุนต่างชาติ แต่ช่วงที่ผ่านมาการซื้อขายได้สะท้อนความกังวลออกมาน่าจะหมดแล้ว โดยกลุ่มที่กังวลมากก็ขายหุ้นออกมาขณะที่กลุ่มที่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและมองว่าเป็นจังหวะที่น่าลงทุนเพราะราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปค่อนข้างก็เริ่มเข้ามาซื้อ
ทั้งนี้ การประกาศใช้มาตรการคงไม่สามารถพูดได้ชัดว่ารุนแรงมากเกินไปหรือเปล่า เพราะหากหน่วยงานที่ดูแลไม่ใช้มาตรการใดๆเข้ามาควบคุมก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมก็ได้
"เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ต่างประเทศจะทิ้งหุ้นไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติก็เป็นนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนระดับความเสี่ยงลดลงทำให้น่าลงทุน ทำให้เค้าจะเลือกที่จะไม่ลงทุนล่ะ"นายวิชัยกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|