อาร์เอสเลื่อนอีเวนท์รุกคอนเทนต์


ผู้จัดการรายวัน(19 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในภาพรวมไตรมาสแรกปีนี้คาดว่า คงจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯรวมทั้งปัญหาด้านการเมืองด้วย ภาวะเช่นนี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นในตัวผู้บริโภคและลูกค้าทั่วไป ที่จะชะลอการใช้จ่าย การซื้องบโฆษณา และการลงทุน ซึ่งเป็นผลกระทบทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะอาร์เอสเท่านั้น

ในส่วนของบริษัทฯก็ได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับธุรกิจอีเว้นท์ที่เตรียมเอาไว้ ก็คงต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ไม่เหมาะสม เช่น กิจกรรมแอดเวนเจอร์เรซ (การแข่งขันทางด้านกีฬาต่างๆ) ซึ่งมีการเชิญผู้สนใจจากต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขันด้วย เดิมกำหนดจัดช่วงเดือนมกราคมนี้คงต้องเลื่อนออกไปประมาณมีนาคม หรือกิจกรรมประกวดชิงแชมป์พลุโลก ซึ่งเดิมจะจัดปลายปีที่แล้ว แต่ได้เลื่อนออกไปก่อน รวมทั้งแคมเปญบางอย่างก็เลื่อนออกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนกิจกรรมต่างๆนั้นไม่ได้กระทบกับรายได้ของบริษัทฯแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างยังจัดเหมือนเดิม เพียงแต่ชะลอและเลื่อนออกไปเท่านั้น โดยงบที่ใช้คร่าวๆกับกิจกรรมที่เลื่อนออกไปนั้นประมาณ 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปีนี้ก็มีแผนที่เกี่ยวกับอีเว้นท์ต่างๆแล้วหลายงานเพียงแต่อยู่ระหว่างการกำหนดช่วงเวลาแสดงที่แน่นอนเท่านั้น

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทฯจะยังไม่มีการขยายธุรกิจอะไรใหญ่ๆเพิ่มมากขึ้นเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเน้นการพัฒนาธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการสานต่อโครงการใหม่ที่เริ่มปีที่แล้วให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทฯได้ปรับโพซิชันนิ่งหรือรีแบรนด์องค์กรและโลโก้ใหม่จากเดิมเป็นบริษัทค่ายเพลง มาเป็นผู้ผลิตและผู้บริหารคอนเทนต์บันเทิง ที่เรียกว่า Entertainment Content Provider ส่วนโลโก้เป็นรูปหยดน้ำ

โดยโมเดลธุรกิจในปี 2550 นี้ประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลัก คือ 1.กลุ่มคอนเทนท์ คือ การเป็นผู้ผลิตและบริหารคอนเทนต์ทางด้านบันเทิงและกีฬา ประกอบด้วยธุรกิจสายต่างๆคือ อาร์เอสมิวสิค, อาร์เอสสปอร์ต, อาร์เอสโชว์บิซ, อาร์เอสฟิล์ม, อาร์เอสดิจิตอล 2.กลุ่มมัลติมีเดียคือ การเป็นผู้ให้บริการมัลติมีเดียครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจ อาร์เอสเทเลวิชั่น, อาร์เอสเรดิโอ, อาร์เอสพับลิชชิ่ง

ในปีที่แล้วสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มคอนเทนต์ประมาณ 60% (แบ่งเป็น เพลง 30%, โชว์บิซ 17%, อีเว้นท์ 8%, ที่เหลือเป็นดิจิตอล) และมาจากกลุ่มมัลติมีเดีย 40% (แบ่งเป็น ทีวี สัดส่วน 50% วิทยุ 35% และสิ่งพิมพ์ 15%)

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนไป โดยจะเป็น กลุ่มคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 75% ส่วนกลุ่มมัลติมีเดียลดลงเหลือ 25% เนื่องจากว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คอนเทนต์มีส่วนแบ่งมากขึ้นคือ ธุรกิจดิจิตอลเติบโต 60% และธุรกิจโชว์บิสเติบโต 70% และกลุ่มนี้มีอัตรากำไรขั้นต้น 40% เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีมาร์จิ้น 30% ส่วนสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจมัลติมีเดียมีสัดส่วนลดลงเพราะ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจทางด้านรายการโทรทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยรายการทางทีวีของบริษัทฯปีนี้มีรวมลดลงไปมากเหลือประมาณ 12-13 รายการเท่านั้นจากทุกช่อง ขณะที่ปีที่แล้วมีมากถึง 20 กว่ารายการ โดยเฉพาะรายการที่ออกอากาศทางช่อง 5 ของบริษัทฯกล่าวได้ว่าหลุกแทบยกแผงเลยทีเดียว

โดยในปีที่แล้วรายได้ของธุรกิจมีเดียนั้นแบ่งเป็นดังนี้ ทีวี รายได้ประมาณ 600 กว่าล้านบาท วิทยุประมาณ 380 กว่าล้านบาท และสิ่งพิมพ์ประมาณ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้รายได้จากทีวีจะเหลือประมาณ 300 กว่าล้านบาท

“ธุรกิจที่เราทำอยู่นี้ ในส่วนของคอนเทนต์เราสามารถควบคุมได้ เพราะเป็นผลงานของเราเอง แต่ในส่วนของมีเดียหรือสื่อนั้น โดยเฉพาะ สื่อทีวีและวิทยุ นั้นลำบากกว่า เพราะเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทาน มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราควบคุมไม่ได้ แต่ปีนี้ วิทยุเรายังคงมีครบ 3 คลื่นเหมือนเดิม”

ขณะที่ธุรกิจภาพยนตร์โรงหนังนั้น ปีนี้ได้ปรับโมเดลใหม่ โดยจะลงทุนสร้างหนังแต่ละเรื่องด้วยงบประมาณไม่เกิน 20 ล้านบาท และทุกเรื่องจะต้องมีกำไร โดยไม่เน้นปริมาณของหนังแต่เน้นคุณภาพและความมั่นใจมากกว่า พร้อมทั้งการทำธุรกิจต่อเนื่อง โดยปีนี้จะมีปริมาณหนับประมาณ 6 เรื่อง ซึ่งปีที่แล้ว บริษัทฯเริ่มโมเดลนี้และประสบความสำเร็จทั้งสามเรื่องคือ รักจัง ผีคนเป็น แสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า ส่วนธุรกิจสิ่งพิมพ์ วางเป้าหมายว่าปีนี้น่าจะมีกำไรบ้างแล้ว ส่วนด้านธุรกิจกีฬานั้นโดยเฉพาะลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก อยู่ระหว่างการวางแผนทางธุรกิจ คาดว่าแต่ละทัวร์นาเม้นท์จะทำรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

นายสุรชัยกล่าวว่า ด้วยแผนการดำเนินงานรูปแบบใหม่นี้ บริษัทฯคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2549 ประมาณ 15% ที่มีรายได้ รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยจากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 3,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 นั้นรายได้เติบโตขึ้น 11% เมื่อเทียบกับรายได้ในปี 2548 ที่ทำได้ 2,700 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.