ปัญหาสิงคโปร์ไม่กระทบหุ้นโบรกเกอร์จี้ธปท.ยกเลิก30%


ผู้จัดการรายวัน(18 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

โบรกเกอร์เชื่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศไทย-สิงค์โปร์ไม่กระทบตลาดหุ้น บิ๊กบล.กิมเอ็ง เชื่อไม่กระทบต่อการลงทุน เหตุเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไม่เกี่ยวภาคเอกชน ด้านบล.ทรีนิตี้หวังแบงก์ชาติยกเลิกมาตรการ 30% คาดไตรมาส 2 หรือ 3 ดัชนีอาจรูดไปทดสอบที่ 550-560 จุด ขณะที่บล.บีฟิท หั่นเป้าดัชนีสิ้นปีเหลือแค่ 720 จุดจากเดิม 800 จุด

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (17 ม.ค.) ยังคงถูกปกคลุมไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งจากปัจจัยในประเทศไม่ว่าจะเป็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ที่ให้สำรอง 30% รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับล่าสุดผลกระทบต่อจิตวิทยาหลังรัฐบาลไทยใช้มาตรการการตอบโต้ประเทศสิงคโปร์หลังจากเผยแพร่ข่าวอดีตนายกรัฐมนตรีเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงค์โปร์

โดยตลอดทั้งวันดัชนีแกว่งตัวค่อนข้างมากก่อนปิดที่ 651.47 จุด ลดลง 4.43 จุด หรือ 0.68% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 658.10 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 650.63 จุด มูลค่าการซื้อขาย 12,892.94 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,188.24 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 491.19 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 697.05 ล้านบาท

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยระงับความร่วมมือโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Civil Service Exchange Programme : CSEP) ครั้งที่ 8 รวมถึงการประชุมที่จะจัดขึ้น ในวันที่ 29-31 มกราคมนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่สะท้อนความรู้สึกไม่พอใจของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เป็นการยกเลิกมิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศในระยะยาวและความช่วยเหลือทางด้านอื่นๆ

"ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ทำให้คนไทยทั้งประเทศมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนสิงคโปร์ แต่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเพียงการส่งสัญญาณของผู้นำประเทศ โดยไม่ถือว่าจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันในระยะยาว "นายมนตรี กล่าว

ขณะเดียวกน เรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะนักธุรกิจสามารถที่จะแยกแยะเรื่องได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นทางการเมืองไม่เกี่ยวกับการลงทุนและการดำเนินกิจการ โดยขณะนี้บริษัทแม่ของ บล.กิมเอ็ง ยังไม่ได้มีการสอบถามเรื่องดังกล่าวมายังบริษัท

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) หรือ UOBKH กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยระงับความร่วมมือดังกล่าว ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวเป็นเรื่องทางด้านการเมืองและเป็นเพียงการระงับความร่วมมือระหว่างราชการเท่านั้น แต่จะต้องมีการติดตามจะมีประเด็นใดที่มีความต่อเนื่องออกมาอีกหรือไม่

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (17 ม.ค. ) ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนมีการขายหุ้นกลุ่มพลังงานออกมาจากราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลดลงมา และการที่ธปท. ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรือ PR 1 วัน เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแทนอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน หรือ RP14 วัน โดยมีการปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 4.75% จากเดิม 5% ทำให้มีแรงขายในหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ จะต้องติดตามในเรื่องการการประชุมของธปท.ว่าจะมีการทบทวนในมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน ว่าจะมีการผ่อนคลายในทิศทางใด รวมถึงติดตามว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วแค่ไหน

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและสิงค์โปร์เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นทางด้านการเมือง โดยคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ อาจจะผันผวนตามปัจจัยทางด้านการเมือง ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศจะชะลอการเข้ามาลงทุน จากที่ผ่านมาเข้ามาซื้อหุ้นคืน เพราะที่ผ่านมามีการขายหุ้น โดยบริษัทแนะนำนักลงทุนควรที่จะมีการขายหุ้นออกมาหามีกำไรพอสมควร และหากดัชนีมีการปรับตัวลดลงแรงก็ควรที่จะมีการชะลอการลงทุน โดยมองแนวรับที่ระดับ 648 จุด แนวต้านที่ระดับ 662 จุด

จี้แบงก์ชาติยกเลิกกันสำรอง30%

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการกันสำรองน่าจะได้รับการผ่อนคลายภายในระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ โดยหากเปรียบเทียบกับมาตรการควบคุมเงินทุนของมาเลเซียเมื่อเดือนกันยายน 2541 ที่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการลงแล้วตลาดหุ้นของมาเลเซียใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานต่างประเทศ (NRB) ที่ปกติจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท หลังจากวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่ายังมีเงินอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะมีการย้ายเม็ดเงินออกนอกประเทศหรือนำกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ว่ามีโอกาสอ่อนตัวลงทดสอบระดับ 550-560 จุด ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของอเมริกาบ่งบอกว่าภาคการผลิตกำลังอยู่ในช่วงหดตัว ประกอบกับการอ่อนตัวของเศรษฐกิจโลกอาจเป็นสาเหตุฉุดให้ตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยจากเศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภาวะเงินฝืด จากการที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้จ่าย และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงถูกปรับระดับลงเหลือ 3-3.5% ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังคงไม่มีเสถียรภาพ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าตลาดหุ้นไทยจะเสียเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ขณะที่การใช้พ.ร.บ.ต่างด้าว จะทำให้เงินลงทุนทางตรงลดลงไป ปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแปรปรวนหากประเทศประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

BSECปรับเป้าดัชนีเหลือ720จุด

นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.บีฟิท กล่าวว่า บริษัทได้ปรับลดประมาณการดัชนีสิ้นปีอยู่ที่ 720-740 จุด จากเดิมที่คาดว่าดัชนีจะสามารถแตะระดับที่ 800 จุดได้ โดยมีค่าพี/อี เรโชอยู่ที่ 8.5 เท่า ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีแรก ตลาดหุ้นจะมีความผันผวนต่อเนื่องเนื่องจากปัจจัยลบอย่างปัจจัยทางการเมืองยังส่งผลต่อจิตวิทยาในการลงทุน ประกอบกับนักลงทุนยังรอความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับลดตัวเลขของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศมาอยู่ที่ 3.2-4.2 % ซึ่งต่ำจากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.2-4.7% ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะอยู่ที่ 2.2% จากปี 2549 อยู่ที่ 3-4% โดยเหตุผลที่ลดลงเนื่องจากผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานน่าจะปรับตัวลดลงจยติดลบประมาณ 5% จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง

ส่วนมาตรการการตอบโต้ประเทศสิงคโปร์หลังจากเผยแพร่ข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นั้น เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าคงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก เพราะเชื่อว่านักลงทุนยังมีความมั่นใจในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเพราะต่างก็เป็นสมาชิกของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากกว่า คือมาตรการสำรองร้อยละ 30 ของธปท. ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวมีการผ่อนคลายน่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นทันที และส่วนตัวเชื่อว่า ธปท.คงจะไม่ใช้มาตรการดังกล่าวอีกไม่นาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.