"ความฝันของจาง หวาน หยุน ฝากไว้กับทางรถไฟสายเก่า"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

อดีตนักกีฬาหญิง จาง หวาน หยุน ฝากความสำเร็จของธุรกิจของเธอไว้กับการเชื่อมโยงวงกลมเศรษฐกิจสองวงที่อยู่ติดกันเข้าด้วยกัน

ในประเทศที่การดื่มชาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บริษัทของจางในคุนหมิงกลับเลือกที่จะผลิตกาแฟอิตาลีชั้นดี ซึ่งสกัดจากเม็ดกาแฟที่ปลูกในหุบเขาอันหนาวเย็น ทางตอนบนของแม่น้ำสาละวิน ในพื้นที่มณฑลยูนนานที่มีชื่อว่า นู เจียง (NU JIANG)

ถึงแม้ปีที่แล้วจะมียอดขายแค่ 1 ล้านเหรียญ จางก็ยังหวังว่าจะส่งกาแฟออกไปขายในประเทศที่ประชาชนนิยมดื่มกาแฟ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สเปนและสหรัฐฯ เธอยังวางแผนตั้งโรงงานในไทย เมื่อเส้นทางการค้าที่มุ่งลงใต้ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

แต่จางไม่ได้คิดว่าถนนที่เชื่อมระหว่างยูนนาน พม่าและลาวจะเป็นทางออกเพียงทางเดียวสำหรับการแก้ปัญหาการขนส่ง สิ่งที่เธอกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวายคือ การเปิดใช้ทางรถไฟแคบ ๆ ซึ่งฝรั่งเศสสร้างขึ้นเมื่อต้นศตวรรษนี้ เพื่อวิ่งระหว่างเวียดนามกับคุนหมิง นับตั้งแต่เกิดสงครามชายแดนระหว่างจีนกับเวียดนามเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทางรถไฟสายนี้ก็ไปสิ้นสุดแค่ชายแดนฝั่งจีนที่ เหอโขว่
ขณะนี้ทางการจีนกำลังผลักดันให้ เหอโขว่ เป็นเมืองค้าชายแดนอย่างเป็นทางการ จางจึงหวังว่าจะมีการเดินรถไฟไปจนถึงฮานอยและต่อไปที่ท่าเรือเมืองไฮฟองของเวียดนาม ในไม่ช้านี้

"เราต้องการไปให้ถึงไฮฟองมาก" จางกล่าว เธอเคยคิดจะส่งกาแฟไปยุโรปผ่านทางเซินเจิ้น และทางมอสโคว์โดยขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน แต่ปีที่แล้วเธอต้องสูญเสียออร์เดอร์กาแฟ 200 ตันจากอิตาลี และ 100 ตันจากสเปน เพราะเส้นทางขนส่งที่คิดจะใช้มีระยะทางยาวไกลมาก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาเดินทางถึง 45 วัน เธอประเมินว่า หากส่งกาแฟไปลงเรือที่ท่าไฮฟองทางตอนเหนือของเวียดนามแล้ว จะใช้เวลาเดินทางถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตในฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ถึงหนึ่งเดือน

จางเคยเป็นนักบาสเก็ตบอลและพนักงานขายจักรยาน เมื่อสี่ปีก่อนเธอตั้งโรงงาน "KUNMING YUNFEI PELLET COFFEE FACTORY โดยร่วมทุนกับหุ้นส่วนคอกาแฟคนหนึ่ง ปี 1992 เธอก็ร่วมทุนกับบริษัทไต้หวันแห่งหนึ่งชื่อ GOLDEN MEMBER TRADING แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทนี้คือสิ่งทอ แต่การที่จางเข้าไปร่วมก็เพราะต้องการอาศัยสถานะนักลงทุนต่างชาติที่จะได้อภิสิทธิ์ในการทำธุรกิจจากรัฐบาล ปัจจุบันบริษัทนี้ผลิตกาแฟได้ปีละ 3,000 ตัน

เดือนแรกของการร่วมทุน บริษัทส่งกาแฟไปขายที่ญี่ปุ่นได้ 5 ตัน แต่จางบอกว่าจุดที่พลิกผันที่ยิ่งใหญ่ของเธออยู่ที่ปี 1990 ซึ่งมีการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ปักกิ่ง เธอนำกาแฟ 10 ตันไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ย่านสถานฑูตในปักกิ่ง "พวกนักการฑูตได้ลองรสชาติกาแฟของฉัน แล้วก็เลยติดอกติดใจ" เธอเล่าให้ฟัง

เมื่อ 200 ปีก่อน บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำเมล็ดกาแฟอราบิก้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่ยูนนาน ปัจจุบันมีไร่กาแฟของรัฐ 34 แห่ง ผลิตผลจากไร่เหล่านี้จะถูกขายให้กับเนสท์เล่ และคร้าฟท์ เจเนรัล ฟู้ดส์ในรูปเม็ดกาแฟสด แต่เม็ดกาแฟจากไร่ของจางจะถูกอบแห้ง บด และผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผงกาแฟ เธออ้างว่า กาแฟของเธอมีคุณภาพอยู่ในขั้นแนวหน้าของโลก และดีกว่ากาแฟที่ผลิตในเวียดนาม ลาวและไทย

ปัจจุบันจางเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของจีน เป้าหมายของเธอคือ ส่งออกให้ได้ 70% ส่วนที่เหลือขายในประเทศ "ปัจจุบัน คนจีนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีชอบดื่มกาแฟกันมาก ในปีหน้าเราจะเริ่มผลิตกาแฟที่ชงดื่มได้ทันที" เธอกล่าว

ยูนนานมีชื่อเสียงในด้านผลิตผลการเกษตรหลาย ๆ ชนิด เช่น ยาสูบ จาง ไม่หยุดอยู่แค่กาแฟเพียงอย่างเดียว แต่ขณะนี้เธอกำลังเป็นผู้จัดจำหน่ายดอกไม้สด และแฮม "ซวน เว่ย" ที่เลื่องชื่อของยูนนานทั่วประเทศจีน มูลค่าการลงทุนของกิจการทั้งหมดที่มีอยู่เกือบๆ 2 ล้านเหรียญ

สำหรับชาวฝรั่งเศสที่สร้างทางรถไฟขึ้นมา โดยหวังว่าจะเป็นเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับเวียดนาม เส้นทางสายนี้เป็นความยิ่งใหญ่ทางด้านวิศวกรรม แต่ล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ อีก 80 ปีต่อมา ทางรถไฟสายเดิมนี้จะเป็นเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการชาวจีนอย่างเช่น จาง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.