|
แบงก์ทิสโก้สั่งลุยปีนี้ปล่อยกู้เพิ่ม17%มั่นใจเศรษฐกิจโต-ดอกเบี้ยขาลงหนุน
ผู้จัดการรายวัน(17 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ทิสโก้ฝืนกระแสเศรษฐกิจซบตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่ม 17% หรือยอดสินเชื่อรวม 9 หมื่นล้าน เดินหน้าลุยตลาดสินเชื่อรถมือสองเต็มสูบ เร่งขยายสาขาเพิ่ม 15 สาขา-ออกหุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้านรองรับธุรกิจ ขณะที่ผลประกอบการปี 49 ไม่น่าประทับใจลดลง 245 ล้าน หรือ 13.7% และหนี้เน่าพุ่ง 9,897.46 ล้าน จากยอดเงินกู้ยืมระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 90,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 17% จากปี 2549 ที่มีอัตราการเติบโต 75,000 ล้านบาท โดยจะเน้นขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองมากขึ้นเนื่องจากให้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ารถยนต์ใหม่ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของรถยนต์มือสองในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% ขณะที่รถยนต์ใหม่อยู่ที่ 3% ส่วนการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ธนาคารจะมีการพิจารณาอนุมัติเฉพาะบางประเภทธุรกิจเท่านั้น
“เราเชื่อมั่นว่าการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้จะ มีโอกาสเติบโตในอัตราที่สูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเห็นได้จาก บริษัทโตโยต้าที่ออกมา มองตลาดรถยนต์ว่ามีโอกาสขยายตัวถึง 3 % ขณะที่ ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมาก ขึ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การเติบโตของสินเชื่อมี โอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น” นายปลิว กล่าว
ขณะเดียวกันในปีนี้ธนาคารยังมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม 10-15 สาขา จากเดิมที่มีสาขาทั้งสิ้น 14 สาขา โดยใช้งบการลงทุนทั้งหมดประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยาย ตัวของสินเชื่อและการขยายตัวของฐานลูกค้ารายย่อยที่จะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในเดือนเมษายน ธนาคารยังมีแผนที่จะทำการขออนุมัติผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้ใหม่วงเงิน ประมาณ 25,000 - 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการระดมเงินฝาก โดยจะเป็นการออกหุ้นกู้ แบบ REVOOVING และรองรับการออกหุ้นกู้ชุดที่ผ่านมาที่มีวงเงิน 25,000 ล้านบาทที่กำลังจะครบกำหนดต้นปีนี้ในวงเงินที่เหลืออยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท
ส่วนการนำมาตรฐานบัญชีใหม่มาใช้ (IAS39) ตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดนั้น ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากธนาคารได้มีการตั้งสำรองไว้ตามเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด โดยมีการสำรองที่ระดับ 1.5 – 2 %ของพอรต์สินเชื่อ ขณะเดียวกันธนาคารยังได้เตรียมเงินกองทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท เพื่อรองรับเกณฑ์ BASEL II ซึ่งมั่นใจว่าเพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนอีก ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ เชื่อว่าน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลง
สำหรับผลประกอบการ ณ สิ้นวันที่ 31 ธ.ค.2549 ของธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 1,545.53 ล้านบาท ลดลง 245.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.7 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง ร้อยละ 9.4 ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 11.4 จากการเติบโตของธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แม้ว่าภาวะตลาดทุนโดยรวมจะปรับตัวลดลงก็ตาม รายได้สุทธิก่อนหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2548 หากแต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการขยายตัวธุรกิจและการปรับสถานะธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อได้ปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากต้นทุนเงินทุนเริ่มคงที่หลังจากได้ปรับตัวขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคม
“ภาพรวมปี 2549 อัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.9% ในปี 2548 เป็น 7.3% ขณะเดียวกัน ต้นทุนเงินทุนได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า จึงส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อสำหรับปี 2549 อ่อนตัวลงจากปี 2548 มาอยู่ที่ 3% แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ เริ่มทรงตัวอยู่ที่ 3.3% ระหว่างไตรมาสที่สองถึงไตรมาสที่สี่ ของปี 2549”นายปลิว กล่าว
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ มีจำนวน 887.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขยายตัวของธุรกรรมธนาคารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้เพิ่มเติมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกันชีวิต ธุรกิจจัดการการเงิน (Cash Management) กำไรจากเงินลงทุน มีจำนวน 455.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.31 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างสูงจากการขายเงินลงทุนเพื่อทำกำไรในช่วงไตรมาส 1 ส่วนรายได้อื่นๆ มีจำนวน 295.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.14 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการขายสินทรัพย์รอการขายและสินทรัพย์จากการปรับโครงสร้างหนี้
ด้านหนี้สินรวมของธนาคารและบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 มีจำนวน 72,098.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,897.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.9 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น เป็นผลจากการที่ธนาคารได้ระดมฐานเงินฝากไว้เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ทั้งนี้หุ้นกู้ระยะยาวอายุ 5 ปี จำนวนรวม 4,800 ล้านบาท มีการปรับให้เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากมีอายุครบกำหนดชำระในปี 2550
สำหรับในงวดไตรมาส 4 ปี 2549 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อนุมัติใหม่มีจำนวน 11,888.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,812.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 68 เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปี 2548 และอัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของธนาคารและบริษัทย่อยต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของปี 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.3 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 6.8 ในงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นรวมมีจำนวน 66,288.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,514.55 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 จากสิ้นปี 2548 โดยสัดส่วนเงินฝากประเภทเงินฝากออมทรัพย์และเผื่อเรียกต่อยอดเงินฝากและเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 3 ณ สิ้นปี 2548
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|