"ขุมทรัพย์ที่ชายแดน"

โดย วิลเลี่ยม เมลเลอร์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสองปีก่อน มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียคนหนึ่ง ซึ่งมีกิจการอยู่ในสิงคโปร์ได้เดินทางเข้าไปในป่าลึกทางตอนเหนือของพม่า เพื่อแสวงหาลู่ทางในการขยายธุรกิจป่าไม้ของเขา ผลจากการเดินทางครั้งนั้นไม่ใช่สัมปทานป่าไม้ แต่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนแคบ ๆ ยาว 1 กิโลเมตรที่ขนานไปกับถนนโคลน ซึ่งทอดตัวเป็นเส้นพรมแดนระหว่างจีนกับพม่า

ดูเผิน ๆ พื้นที่นี้ไม่น่าจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพราะเป็นชายแดนที่ห่างไกลของมณฑลยูนนานที่ยื่นเข้าไปเหมือนไส้ติ่งในประเทศพม่า ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นถนนของพม่าที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อลำเลียงทหารจีนไปสู้รบกับญี่ปุ่น ถนนสายนี้เริ่มต้นจากเมืองลาเจียว (LASHIO) ทางตอนเหนือของพม่า คดเคี้ยวไปตามภูเขาและป่าไม้สักไปสิ้นสุดที่คุนหมิง เมืองหลวงของยูนนาน เป็นเส้นทางขนส่งฝิ่น อาวุธ หยกและพลอย แน่นอนว่าเป็นของเถื่อนทั้งนั้น พื้นที่ในแถบนี้เป็นดินแดนต้องห้ามสำหรับบุคคลภายนอกและการค้าขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียคนนี้ ซึ่งมีชื่อว่า คาสแมน เล่าถึงการลงทุนของเขาให้เพื่อนนักธุรกิจชาวจีนในสิงคโปร์ฟัง ใคร ๆ ก็บอกว่าเขาเสียสติไปแล้ว แต่คาสแมนไม่หวั่นไหว เขาทุ่มเงิน 30 ล้านเหรียญก่อสร้างศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน 4 ชั้นขึ้นมาบนที่ดิน 1,040 ตารางเมตรซึ่งอยู่ริมถนนชายแดนฝั่งประเทศจีน

มาถึงวันนี้ เมื่อจีนเปิดพรมแดนสำหรับการค้า คาสแมน ซึ่งมีอายุ 57 ปี ก็คุยด้วยความภูมิใจว่า "หลุ่ยลี่" (RUILI) เมืองชายแดนซึ่งศูนย์การค้าของเขาตั้งอยู่ เป็นเมืองที่เป็นท่าเรือในประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน เขาเรียกมันว่า "เซินเจิ้น แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้"

ถ้าคำพูดของคาสแมนจะเกินความจริงไปบ้าง เขาก็มีเหตุผลของเขา คาสแมนเป็นหนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจเอเซียที่มีสายตายาวไกลซึ่งคาดการณ์ได้ถูกว่าพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ติดกับพม่า จะเป็นหนึ่งในวงกลมความเติบโตของโลกแห่งใหม่ เขาทุ่มเงินทุน 30 ล้านเหรียญลงไปในดินแดนที่ห่างไกลจากความเจริญแห่งนี้ และเป็นพื้นที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด ในอาณาบริเวณวงกลมเศรษฐกิจแห่งใหม่นี้ ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พม่า ไทยและลาวอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ บางครั้งรถบรรทุกต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงสำหรับระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร บนถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นในหน้าแล้ง และเละเป็นโคลนในหน้าฝน

แต่ศักยภาพในทางเศรษฐกิจของผืนแผ่นดินนี้มีอยู่มหาศาล ทั้ง 5 มณฑลทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมีประชากรรวมกัน 220 ล้านคน ครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเสฉวน ซึ่งเป็นมณฑลที่มีพลเมืองอาศัยอยู่มากที่สุดของจีน ถ้าทั้ง 5 มณฑลนี้รวมกันแยกตัวเป็นอิสระจากจีน ก็จะกลายเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นที่สี่ของโลก

ส่วนไทย พม่าและลาวก็มีประชากรรวมกัน 105 ล้านคน ถ้ารวมกับ 5 มณฑลที่ว่าของจีนแล้ว ก็จะเป็นตลาดขนาด 325 ล้านคน ซึ่งพอฟัดพอเหวี่ยงกับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและนาฟต้าที่กำลังตั้งไข่อยู่

สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ วงกลมเศรษฐกิจทางภาคตะวันตกเฉียงใต้นี้เป็นตลาดการค้าโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ด้านภูมิศาสตร์-ระยะทางจากบริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังท่าเรือในพม่าและไทยใกล้กว่าเซี่ยงไฮ้และกวางโจวมาก เมืองหลุ่ยลี่อยู่ห่างจากปักกิ่ง 4,000 กิโลเมตร แต่ห่างจากร่างกุ้ง เมืองหลวงพม่าแค่ 1,100 กิโลเมตรเท่านั้น การส่งสินค้าไปยุโรปโดยใช้เส้นทางลงใต้สู่มหาสมุทรอินเดียหรืออ่าวไทย ร่นระยะทางได้มากกว่า 9,000 กิโลเมตรและเวลาเดินทางนับสัปดาห์เมื่อเทียบกับการส่งไปลงเรือที่เมืองท่าชายฝั่ง ทางฝั่งตะวันออกของจีน นักวิชาการพม่าชื่อ MYATHAN แห่งสถาบันเอเซียอาคเนย์ศึกษาที่สิงคโปร์กล่าวว่า "พม่า ลาวและไทยกำลังฟอร์มตัวกันเป็นแลนด์บริดจ์เลยเข้าไปในดินแดนจีนที่อยู่ห่างทะเล" มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นประตูเข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพรมแดนร่วมกับพม่าและลาวเป็นระยะทาง 2,700 กิโลเมตร ส่วนประเทศไทยแม้จะไม่ติดกับจีนแต่ก็ห่างออกไปไม่ถึง 200 กิโลเมตร

ด้านประวัติศาสตร์-พื้นที่เขตวงกลมแห่งการเติบโตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นี้ เป็นชุมทางการค้านานาชาติมานานนับพันปี ก่อนที่นักการเมืองจากแดนไกลจะมาลากเส้นกำหนดพรมแดนให้ ระหว่างสมัยราชวงศ์จิ๋น ของจีน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 200 ปี ก่อนที่เส้นทางสายไหมอันลือชื่อที่เชื่อมระหว่างฉางอันกับยุโรปจะเกิดขึ้น เส้นทางสายไหมตอนใต้ที่มีคนรู้จักน้อยกว่าก็มีอยู่แล้ว ทางสายนี้เริ่มจากเฉิงตู เมืองหลวงปัจจุบันของเสฉวน ผ่านตอนเหนือของพม่า ใกล้ ๆ กับเมืองหลุ่ยลี่ไปสิ้นสุดที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย นอกจากนี้ยังมีเส้นทางย่อยหลายสายแตกแขนงเข้าไปในส่วนที่เป็นดินแดนลาวและไทยในทุกวันนี้

การค้าบริเวณนี้ดำเนินไปเป็นเวลาถึง 2,000 ปี ก่อนที่จะหยุดชะงักลงในศตวรรษที่ 19 และ 20 เพราะผลจากลัทธิอาณานิคมและสงครามเย็น ทำให้มีการขีดเส้นพรมแดนแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นดินแดนของหลาย ๆ ประเทศ เมื่อมีการเปิดพรมแดนขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน นักธุรกิจอย่างเช่นคาสแมน ก็คาดการณ์ว่า ยุคทองของการค้าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งตามเส้นทางโบราณนี้ ฟาน เจี้ยนหัว นักประวัติศาสตร์แห่ง YUNAN ACADEMY OF SOCIAL SCIENCES กล่าวว่า "เส้นทางสายไหมฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว"

ความผูกพันทางวัฒนธรรม-พลังที่ขับเคลื่อนกิจกรรมการค้าในวงกลมแห่งความเติบโตนี้คือ พ่อค้านักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของพื้นที่แถบนี้คือ มีคนเผ่า "ไต" ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกับพลเมือง 57 ล้านคนของประเทศไทยแล้ว ก็จะเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม และภาษาใกล้เคียงกัน ซึ่งมีขนาดเท่ากับกลุ่มคนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมนีในยุโรป ไกรสร จิตธรธรรม แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "สำหรับประเทศไทย การเปิดพรมแดนเหล่านี้เพื่อการค้า ก็เหมือนกับการรวมเยอรมนีตะวันออกเข้าด้วยกันกับตะวันตก เพียงแต่ว่า เราไม่มีปัญหาอย่างที่เยอรมนีประสบอยู่หลังการรวมชาติ"

ลักษณะตลาดที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน-ตลาดในพม่าและลาว ซึ่งคนยังยากจนอยู่ มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกจากจีน ส่วนคนจีนที่เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วก็ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นและทันสมัยจากไทย ทั้งไทยและจีนต่างก็ต้องการไม้ แหล่งพลังงานน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และแรงงานราคาถูกจากพม่าและลาว ในปัจจุบันนักธุรกิจภาคเหนือของไทยกำลังเจาะเข้าไปในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อแสวงหาตลาดสำหรับสินค้ารวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวด้วย

พื้นที่ที่เป็นหัวใจของวงกลมแห่งความเติบโตทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนี้ คือเขตปกครองตนเองเดฮองและสิบสองปันนา จุดที่มีความสำคัญมากที่สุดในปัจจุบันคือจุดผ่านแดน 2 จุดที่เมืองหลุ่ยลี่และวันดิง ทางการจีนประเมินว่าสินค้าที่ผ่าน 2 จุดนี้ มีสัดส่วน 75% ของการค้าระหว่างชายแดนทั้งหมดของยูนนาน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญ

ที่ JIEGAO ซึ่งอยู่ในหลุ่ยลี่ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตการค้าพิเศษ ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีอากร รวมทั้งสัญญาเช่าที่ดินก็มีเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เซินเจิ้นมาก DAO AN JU ผู้ว่าการเขตเดฮองคุยว่า "ที่นี่ก็เปรียบเหมือนฮ่องกง ถึงแม้ว่าขนาดจะต่างกัน แต่หลักการเดียวกันคือ การค้าเสรี"

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เดฮองอยู่บนเส้นทางระหว่างคุนหมิงกับเมืองลาเจียวของพม่า ซึ่งเป็นต้นทางรถไฟที่จะต่อไปยังมัณฑะเลย์ ร่างกุ้ง และท่าเรือ เมือง BASSIEN ที่เป็นเมืองท่าสำหรับการค้าขายกับจีนอย่างเป็นทางการ

ชายแดนฝั่งตรงข้ามกับเดฮองในพื้นที่ของพม่าคือถนนหลักอีกสายหนึ่งชื่อว่า เลโดซึ่งวิ่งขึ้นไปทางเหนือจนถึงอินเดีย ปัจจุบันมีรถวิ่งผ่านพรมแดนตรงเมืองหลุ่ยลี่วันละไม่ต่ำกว่า 2,200 คันและที่วันดิงซึ่งอยู่ห่างออกไป 26 กิโลเมตรอีกวันละ 1,000 คัน

ความคึกคักของตลาดกลางคืนที่เมืองหลุ่ยลี่เป็นประจักษ์พยานถึงความเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเมืองชายแดนแห่งนี้ คนที่มีทำมาค้าขายที่นี่ มีทั้งชาวพม่าในชุดโสร่งที่นำหยกข้ามแดนมาขาย พ่อค้าผ้าไหมและงาช้างจากอัสสัม พ่อค้าจากบังคลาเทศ เนปาล ภูฐาน ตลอดจนถึงปากีสถาน

ห่างจากตลาดไม่กี่กิโลเมตรเป็นลานจอดรถที่มีรถบรรทุกจากจีนและพม่าจอดอยู่เต็ม สินค้าที่มากับรถบรรทุกคือไม้สัก หนังสัตว์ อาหารทะเล เครื่องไฟฟ้าจากไต้หวันและฮ่องกง เครื่องสำอางและสินค้าอุปโภค บริโภคจากไทย รถยนต์จากญี่ปุ่นและเยอรมนี ส่วนสินค้าที่มากับรถบรรทุกจีนมีทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องยนต์ดีเซลไปจนถึงเข็มหมุด

ถ้าเดฮอง คือศูนย์กลางของวงกลมของความเติบโตด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในวันนี้ มันก็กำลังถูกท้าทายจากเมืองชายแดนหลาย ๆ เมืองที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสซึ่งยังมีอำนาจปกครองเวียดนามอยู่ในตอนนั้น ใฝ่ฝันที่จะใช้แม่น้ำโขงเป็นประตูหลังเข้าสู่จีน แต่ก็เป็นแค่ความฝันเท่านั้น ผู้ที่บรรลุความฝันนี้ กลับเป็นคนเอเซียด้วยกันเอง ทุกวันนี้มีเรือบรรทุกสินค้าระวางต่ำกว่า 100 ตัน ขนปูนซีเมนต์ล่องลงมาจากเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของสิบสองปันนา มาขึ้นท่าที่อำเภอเชียงของ ในจังหวัดเชียงราย

ขบวนเรือที่กำลังจะตามมาก็คือ เรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว ถ้าแผนการของรัฐบาลจีนที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงลุล่วงไปได้ บริษัทท่องเที่ยวทั่วของจีนและไทยก็หวังว่าจะสามารถเปิดเส้นทางท่องเที่ยวตามลำโขง โดยใช้เรือขนาด 2000 ตันล่องระหว่างเมืองซือเหมาที่อยู่ถัดเชียงรุ้งไปทางเหนือกับเวียงจันทน์ และจะหยุดตามท่าเรือริมโขง 6 แห่งของจีน กับอีก 4 แห่งของไทย

เส้นทางเดินเรือเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในดินแดนแถบนี้ เส้นทางขนส่ง คมนาคมอื่น ๆ ได้แก่

ถนน-ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างถนนวงแหวนที่จะเชื่อมทุกประเทศ ยกเว้นเวียดนามเข้าด้วยกัน ส่วนบนสุดของถนนวงแหวนสายนี้คือเชียงรุ้ง ด้านใต้คือเชียงราย เส้นทางยาว 250 กิโลเมตรที่ยืดออกไปทางทิศตะวันออกจะเชื่อมเมืองต้าหลัวซึ่งอยู่ตรงชายแดนจีน-พม่าเข้ากับอำเภอแม่สอด โดยผ่านเชียงตุงเมืองหลวงของรัฐฉาน ส่วนเส้นทางทิศตะวันออกจะผ่านหลวงน้ำทา บนชายแดนยูนนาน-ลาว ไปสิ้นสุดที่ห้วยทราย จากห้วยทรายจะมีเรือเฟอร์รี่ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยที่เชียงของ

เมื่อใดที่โครงการนี้สำเร็จไปได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นปี 1996 การเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพเป็นระยะทาง 1,300 กิโลเมตรไปถึงคุนหมิงก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

การเดินทางทางอากาศ-ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากเชียงใหม่ไปคุนหมิงสัปดาห์ละ 2 เที่ยว และที่เชียงรายกำลังมีการขยายสนามบินให้เป็นสนามบินนานาชาติ เพื่อรองรับเครื่องโบอิ้ง 747 ที่อำเภอแม่สาย ASHOK JAGOTA นักธุรกิจท่องเที่ยวและพ่อค้าสิ่งทอ กำลังพยายามตั้งสายการบิน "โรยัล ออร์คิด" โดยการหนุนหลังจากนักธุรกิจไทย เพื่อเปิดเส้นทางบินระหว่างเชียงราย เชียงตุง ตองคะยี พะกันและมัณฑะเลย์

นอกจากนั้น ยังมีการเสนอให้เปิดเที่ยวบินจากเชียงใหม่และเชียงรายไปยังเชียงรุ้งซึ่งมีสนามบินแล้ว กับเมืองหลวงพระบาง ในเขตเดฮอง สนามบินใหม่ที่มังชา เปิดใช้งานมาได้ 20 เดือนแล้ว สนามบินแห่งนี้เกิดขึ้นด้วยการผลักดันของผู้ว่า DAO ซึ่งมีเชื้อชาติไตด้วย เมื่อสามปีก่อน ทุกวันนี้การเดินทางโดยเครื่องบินจากคุนหมิงไปเดฮองใช้เวลาเพียง 50 นาที หากเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลา 2-3 วัน สำหรับระยะทาง 900 กิโลเมตร ขณะนี้ DAO กำลังเคลื่อนไหวให้สนามบินมังชาเป็นสนามบินนานาชาติด้วยและการเปิดบริการเฮลิคอปเตอร์จากมังชาไปหลุ่ยลี่

สายการบินยูนนาน แอร์ไลน์ซึ่งเป็นของรัฐ เพิ่งจะรับเครื่องโบอิ้ง 737 มาประจำการ 4 ลำ โดยใช้วิธีบาร์เตอร์ แลกแร่ดีบุกกับโบอิ้ง ยูนนานแอร์ไลน์ บินไปกรุงเทพสัปดาห์ละ 5 วัน

ทางรถไฟ-การเชื่อมเมืองสำคัญ ๆ ในวงกลมแห่งความเติบโตด้วยทางรถไฟ เป็นแผนการที่ดูเหมือนจะมุ่งหวังในผลสำเร็จมากที่สุดในบรรดาแผนการทั้งหมด ในปี 1970 จีนสามารถสร้างทางรถไฟจากเฉิงตู ผ่านเทือกเขาที่ทุรกันดารของเสฉวนไปถึงคุนหมิงได้สำเร็จ ซึ่งเท่ากับเป็นการลบล้างคำพูดของหลี่ไป๋ กวีเอกในราชวงศ์ถังที่ว่า การไปให้ถึงเสฉวนยากยิ่งกว่าไปสวรรค์ เป็นที่คาดกันว่า ในปี 1995 ทางรถไฟนี้จะขยายไปทางตะวันตกจนถึงดาลิ

เป้าหมายในขณะนี้คือ การต่อทางรถไฟให้ผ่านเดฮองและข้ามพรมแดนไปบรรจบกับทางรถไฟของพม่าที่เมืองลาเจียว "เป็นไปได้ที่แผนการนี้จะเป็นจริงในชั่วชีวิตของผม เราอาจจะได้เห็นก่อนสิ้นศตวรรษนี้ด้วยซ้ำ" DAO ซึ่งอายุ 58 ปีแล้วกล่าวยืนยัน

สำหรับลาว สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงจากหนองคาย ก็มีพื้นที่ที่กันไว้สำหรับสร้างทางรถไฟไปถึงเวียงจันทน์ที่อยู่ห่างออกไป 23 กิโลเมตรได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสินค้าจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ผ่านไทยตรงไปยังเวียงจันทน์ได้

ขณะที่นักการเมืองยังนั่งฝันหวานถึงโครงการในอนาคตที่วาดไว้สวยงาม นักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็เดินหน้าไปก่อนแล้ว ทุกวันนี้ในเส้นทางระหว่างเชียงรายกับเชียงรุ้ง เต็มไปด้วยรถบรรทุกเก่า ๆ ที่บรรทุกสินค้าน้ำหนักถึง 35 ตันของพ่อค้า สินค้าส่วนใหญ่จะต้องผ่านดินแดนพม่า และจะต้องเสียค่าผ่านทางให้กับพวกกบฎว้า ซึ่งคุมเส้นทางช่วงเชียงตุงถึงชายแดนยูนนานอยู่ การเรียกค่าคุ้มครองเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ให้ความสนใจที่จะจัดการให้หมดไป เพื่อให้มีการค้าขายข้ามพรมแดนเป็นไปได้โดยสะดวก

อันที่จริงแล้ว ความตั้งใจของคนท้องถิ่นในการขจัดเงื่อนไขเรื่องพรมแดนประเทศ ซึ่งกำหนดจากนักการเมืองในเมืองหลวงที่ห่างไกล มีผลในการสลายอำนาจของรัฐสมัยใหม่อย่างสำคัญ ในด้านธุรกิจการค้า ปรากฏการณ์ "ข้ามรัฐ ลอดรัฐ" นี้ ยิ่งทำให้บทบาทของรัฐบาลส่วนกลางไม่มีความหมายเลย เช่นกรณีของหอการค้าเชียงราย ที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับหอการค้าสิบสองปันนานั้นเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลชวน หลีกภัยจะไปทำข้อตกลงแบบเดียวกันนี้กับรัฐบาลจีนระหว่างเยือนปักกิ่งด้วยซ้ำไป

ความสนใจของภาคธุรกิจไทยที่มีต่อเพื่อนบ้านทางตอนเหนือ ซึ่งไม่ได้สังกัดอยู่ในกลุ่มอาเซี่ยนนั้นทำให้สมาชิกอาเซี่ยนอื่น ๆ เฝ้ามองด้วยความกังวลใจ ทั้งๆ ที่หนึ่งในกลุ่มอาเซี่ยนอย่างสิงคโปร์เอง ก็แสดงความกระตือรือร้นในการอ้าแขนรับประเทศจีนที่อยู่นอกกลุ่มอาเซี่ยนอย่างเปิดเผย

ตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ไทยต้องให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านตอนเหนือ อย่างไม่ต้องใส่ใจว่า จะเป็นอาเซี่ยนหรือไม่เป็น เพราะตัวเลขการค้าชายแดนอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยกันในปัจจุบัน แม้จะมีมูลค่าสูง แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมูลค่าการค้าที่เกิดขึ้นจริงๆ อย่างมากก็แค่ 50% ส่วนที่เหลือคือ การค้าที่ไม่ได้ผ่านจุดผ่านแดนที่เป็นทางการ ในเดฮองที่เดียวมีจุดผ่านแดนเล็ก ๆ นับร้อยแห่งที่ยังคงใช้รถจักรยานและแรงงานคนขนส่งสินค้า

ประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการค้าข้ามชายแดนที่เป็นไปอย่างเสรีคือจีน เนื่องจากสามารถระบายสินค้าจำนวนมากจากคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาขายที่นี่ได้ สินค้าเหล่านี้มีราคาถูก เพราะต้นทุนการผลิตของจีนยังต่ำอยู่ และนี่คือสัญญาณสำหรับประเทศไทยว่า จีนคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้

ปณิธิ ตั้งผาติ รองประธานหอการค้าจังหวัดตากวัย 43 ปี แสดงความไม่สบายใจต่อเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินจ๊าตในตลาดมืด ที่พ่อค้าจีนให้ราคาดีกว่าไทย คือ 3 จ๊าตต่อ 1 บาท ขณะที่พ่อค้าไทยที่แม่สอดกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน 5 จ๊าตต่อ 1 บาท "สินค้าจีนคุณภาพสู้ของเราไม่ได้ แต่ราคาถูกกว่า" ปณิธิกล่าว

แต่อนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ เลขานุการหอการค้าเชียงรายวัย 35 ปี ไม่สู้เป็นห่วงนัก เขากล่าวว่า "เราชอบการท้าทาย เราอยู่ในระบบทุนนิยมโลกมานานกว่าจีน เรามีการตลาดและการบริหารที่ดีกว่า"

อนันต์มีเหตุผลที่จะมีความมั่นใจเช่นนี้ เพราะสนามบินเชียงรายได้รับการขยายเป็นสนามบินนานาชาติเรียบร้อยแล้ว ราคาที่ดินในตัวเมืองก็ขยับสูงขึ้นถึง 20 เท่าตัวในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ที่ดินซึ่งมีราคาไร่ละไม่ถึง 25,000 บาท เมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันซื้อขายกันในราคา 6 ล้านกว่าบาท ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในอนาคตทางเศรษฐกิจของเชียงรายได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่แม่สายก็กำลังเติบโต โดยเฉพาะหลังจากพม่าเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้เมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั้นราคาที่ดินก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ในรัศมีครึ่งกิโลเมตรจากชายแดนมีราคาแพงจนซื้อไม่ลงแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งกำลังพัฒนาไปอย่างน่าทึ่งคือ เมืองท่าขี้เหล็กที่ชายแดนพม่า ตรงข้ามกับแม่สาย เจ้าของร้านค้าที่นี่ไม่รับเงินจ๊าต รับเงินบาทเพียงสกุลเดียว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในภูมิภาคนี้ไม่ได้มีแต่ด้านที่ดีเพียงด้านเดียว การเปิดเส้นทางการค้าอีกครั้งหนึ่ง คือการเปิดพื้นที่ที่ซ่อนตัวจากอิทธิพลของโลกภายนอกมาเป็นเวลากึ่งศตวรรษ ผลในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดพรมแดนของจีนและพม่าคือ หญิงสาวชาวไตจะหลั่งไหลเข้ามาเป็นสินค้าใหม่ของธุรกิจการค้ากามในไทย

ผลกระทบอีกข้อหนึ่งคือ ผลของการพัฒนาต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนการของจีนที่จะระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง แต่ไม่ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร การพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว และไม่มีทางที่หยุดถอยไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ปู จินฟุ รองประธานเขตเศรษฐกิจจิเกาของเดฮองกล่าวว่า "มันก็เหมือนหม้อข้าว ซึ่งตั้งอยู่บนเตาไฟ รอให้ข้าวสุกเท่านั้น"

ความคาดหวังถึงความรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้เกิดขึ้นและแทรกซึมไปถึงประชาชนในระดับล่างแล้ว หลี่ เจิ้น โส่ว นายกเทศมนตรีเมืองหลุ่ยลี่พูดถึงคืนวันอันขมขื่นที่ชาวนาต้องข้ามไปหางานทำในพม่า และหญิงสาวหน้าตาดีปฏิเสธที่จะแต่งงานกับคนจีนด้วยกันเพราะอยากฝากชีวิตไว้กับสามีชาวพม่ามากกว่า

ทุกวันนี้ คนหนุ่มสาวจากส่วนอื่น ๆ ของจีนพากันเดินทางมาที่เดฮอง เมื่องหวง ซิน หัว วัย 26 จากบ้านในคุนหมิงไปเรียนที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ในกวางโจว ครอบครัวของเธอคาดว่าเธอจะหางานทำที่นั่น แต่หลังจากจบการศึกษาด้านอิเลคโทรนิคส์ หวงและสามี หวาง เซิน ชิน วัย 29 ก็กลับมายูนนาน และมุ่งหน้าสู่เมืองหลุ่ยลี่ซึ่งห่างจากคุนหมิง 900 กิโลเมตร ทั้งคู่เปิดร้านบนถนนหน้าชายแดนจีน-พม่า ขายสินค้าหัตถกรรมทุกอย่างตั้งแต่ต่างหูหยกราคาถูก ๆ ไปจนถึงตะเกียบงาช้างฝีมือคนอินเดีย คู่ละ 500 เหรียญ

สามี ภรรยาคู่นี้เชื่อเช่นเดียวกับคาสแมนว่าดินแดนสามเหลี่ยมทองคำมีอนาคตในระยะยาวที่ดีกว่าพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจีน หวางพูดถึงการลงทุนทำธุรกิจหนังสัตว์กับต่างชาติ โดยใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ในการฟอกหนัง และใช้หนังวัว หนังควายจากพม่าเป็นวัตถุดิบ

WANG อธิบายเหตุผลที่เขาเลือกมาอยู่ที่นี่แทนกวางโจวว่า "ผมยังหนุ่ม และที่นี่คือดินแดนใหม่ที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ มันเป็นที่ที่ผมจะทดสอบตัวเอง" นี่คือความท้าทายที่จะดึงดูดนักธุรกิจหนุ่มสาวชาวเอเซียมาสู่เส้นทางสายไหมสายเก่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนที่ห่างไกลและเต็มไปด้วยภยันตราย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.