"เศรษฐกิจ การเมืองพม่าบนหนทางที่ตีบตันของ SLORC"

โดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางกระแสของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาล SLORC กับฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยและประชาชนพม่าที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความสงบเงียบภายหลังจากการปราบครั้งใหญ่ในช่วงปี 2531 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้พม่าต้องหวนกลับไปสู่ยุคของการปิดตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่การปิดตัวครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้นำของพม่าเหมือนก่อน หากแต่เนื่องมาจากปฏิกิริยาของนานาชาติ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า และถึงแม้ว่า SLORC จะพยายามแก้ภาพพจน์ใหม่ โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติขึ้นมาควบคู่ไปกับการใช้นโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ

แต่การริเริ่มเหล่านี้หาได้เกิดผลดีแต่อย่างใดไม่ ตรงข้ามกับเป็นความกดดันทางเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบในทางลบต่อการดำรงชีพของประชาชน ทั้งนี้เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มิได้เกิดผลต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญกับ สภาวะที่สินค้าราคาแพงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากแต่กระจุกตัวอยู่ภายในครอบครัวและเครือญาติของเหล่าบรรดาผู้นำและที่สำคัญการดำเนินนโยบายเปิดทางเศรษฐกิจของรัฐบาล SLORC ที่ผ่านมากลับเป็นการเปิดเพียงในรูปแบบอันเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากต่อการค้าการลงทุน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นเพียงนโยบายที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการรักษาอำนาจสูงสุดของ SLORC เท่านั้น

กรุงย่างกุ้งในวันนี้ เสื้อยืดธรรมดา ๆ ที่นำเข้าไปจากตลาดโบ๊เบ๊ในเมืองไทยราคาตัวละ 800-1,000 จ๊าต โทรทัศน์สียี่ห้อฮิตาชิขนาด 14 นิ้ว ราคาเครื่องละ 34,000 จ๊าต ปูนซีเมนต์ตราช้างชนิดถุงละ 50 กิโลกรัม ราคา 750-850 จ๊าตต่อถุง น้ำมันเบนซินธรรมดาและข้าวสารชนิดคุณภาพต่ำ ราคาลิตรละ 40 จ๊าต ซึ่งการที่จะตัดสินว่าราคาสินค้าเหล่านี้ถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับการคิดคำนวณค่าของเงินจ๊าตว่า จะคิดตามอัตราการแลกเปลี่ยนของทางการหรืออัตราของตลาดมืด

ถ้าหากคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่กำหนดโดยรัฐบาล SLORC (STATE LAW & ORDER RESTORATION COUNCIL) หรือที่คนพม่า เรียกว่า TATMADAW อันหมายถึงรัฐบาลทหารที่กำหนดให้เงินพม่า 6 จ๊าตเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วเสื้อยืดจากตลาดโบ๊เบ๊แต่ละตัวก็จะตกราคา 134-166 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่โทรทัศน์สีฮิตาชิขนาด 14 นิ้วจากญี่ปุ่นจะมีราคาถึง 5,666 ดอลลาร์สหรัฐ และ 125-142 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปูนซีเมนต์ตราช้าง 1 ถุง 6.6 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับข้าวสาร และน้ำมันเบนซินธรรมดาค่าอ็อกเทนต่ำ 1 ลิตร

ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงในตลาดกลับตรงกันข้ามกับอัตราทางการ โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2536 ปรากฏว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐสามารถแลกเงินพม่าได้ถึง 125 จ๊าต ซึ่งมีความแตกต่างกับอัตราทางการพม่าเกินกว่า 20 เท่าตัว เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่จริงแต่ประการใดที่ชาวต่างประเทศที่มีหน้าที่การงานอยู่ในพม่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนรับผิดชอบในด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และบุคคลที่มีตำแหน่งในรัฐบาลของพม่า ซึ่งมีโอกาสช่องทางในการหาประโยชน์และมีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอยู่ในมือนั้น จะสามารถซื้อสินค้าเหล่านี้ได้แม้ว่าราคาจะแพงสำหรับคนพม่าโดยทั่วไปก็ตาม

"คนที่มีโอกาสในการทำธุรกิจทั้งในฐานะเป็นนายหน้าและผู้ร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิดของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ใน SLORC แม้แต่การค้าสินค้าบางประเภท เช่น น้ำมัน ซึ่งผูกขาดการนำเข้าโดยทหาร บุคคลเหล่านี้ก็สามารถกระทำได้ ทั้งนี้โดยการนำส่วนเกินจากโควต้าน้ำมันที่ทางการกำหนดให้รถยนต์หนึ่งคัน มีสิทธิ์ใช้น้ำมันได้ 10 ลิตรต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในความจริงออกจำหน่ายในตลาดมืด ในราคาที่สูงกว่าการควบคุมของทางการถึง 20 เท่า ซึ่งช่องทางและโอกาสเช่นนี้ สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับบุคคลเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี" แหล่งข่าวภายในวงการนำเข้า-ส่งออกในพม่ากล่าว

แต่สำหรับคนพม่าส่วนใหญ่ที่มีชีวิตประจำวันและรายได้จากค่าแรงวันละ 40 จ๊าต ผูกติดกับค่าของเงินจ๊าตตามอัตราทางการ ทั้งยังไม่มีสิทธิใช้หรือถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยแล้ว ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องดิ้นรนในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอีก 20 เท่าตัวกว่าจะสามารถซื้อหาสินค้าเหล่านี้มาครอบครองได้

บางทีคนพม่าคนหนึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการเก็บสะสมเงิน สำหรับซื้อโทรทัศน์สีฮิตาชิ 14 นิ้ว 1 เครื่อง!!

ทั้งนี้โดยพิจารณาจากสถิติรายได้ประชากรของทางการพม่า ซึ่งรายงานว่าในปี 2535 ที่ผ่านมา คนพม่ามีรายได้เฉลี่ยคนละ 673 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ นั่นย่อมหมายความว่าคนพม่ามีรายได้เฉลี่ยคนละ 4,038 จ๊าตต่อปี แต่เมื่อคิดคำนวณรายได้ของคนพม่าตามค่าของเงินจ๊าตในอัตราตลาดแล้ว จะพบว่าคนพม่าแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยเพียง 33 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น

ดังนั้นการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งโทรทัศน์สีฮิตาชิ 14 นิ้ว 1 เครื่องนี้ บางทีอาจจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานถึงชั่วชีวิตของคนรุ่นหนึ่ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสดูโทรทัศน์สีฮิตาชิ เช่นเดียวกันกับการสร้างบ้านอยู่อาศัย ที่ผู้สร้างอาจไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่อาศัยในบ้านที่ตนเองเป็นผู้ลงทุนลงแรงสร้างด้วยซ้ำ

ปัญหาความแตกต่างของค่าเงินจ๊าตระหว่างอัตราทางการกับอัตราตลาด ที่มีสภาพกลับกันเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพประจำวันของคนพม่าเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ตามแนวนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล SLORC ที่เน้นการพัฒนาไปสู่ระบบตลาดเสรีของรัฐ ซึ่งเริ่มดำเนินตามแนวนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2531 อีกด้วย

การที่รัฐบาล SLORC กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าของเงินจ๊าตสูงเกินกว่าค่าที่เป็นจริงในตลาดนี้ เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการคำนวณมูลค่าการลงทุน การคำนวณภาษีอากร การแบ่งปันผลกำไรและเฉลี่ยการขาดทุนจากการประกอบการ การกำหนดค่าใช้จ่ายและค่าจ้างลูกจ้าง และการตั้งราคาสินค้า ตลอดจนวิธีการคิดคำนวณมูลค่าการส่งสินค้าออกที่ผู้ลงทุนมีสิทธิในกางส่งออกได้ร้อยละ 20 ของส่วนเกินของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ด้วยระเบียบข้อบังคับที่รัฐบาล SLORC กำหนดให้การลงทุนจากต่างประเทศจะต้องลงทุนและใช้จ่ายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่รายได้จากการประกอบการกลับเป็นเงินจ๊าต ครั้นจะแลกเปลี่ยนรายได้หรือผลกำไรที่เป็นเงินจ๊าตจากการประกอบการดังกล่าว เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องประสบกับปัญหาการที่รัฐบาล SLORC ไม่มีสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะให้แลกเปลี่ยนได้

นอกจากนี้รัฐบาล SLORC ยังมีแนวนโยบายในการจำกัดปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินจ๊าตเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินตราต่างประเทศไหลออกนอกประเทศ ควบคู่กับการใช้มาตรการห้ามนำเงินจ๊าตออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนปริมาณเงินตราภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้การลงทุนจากต่างประเทศสามารถที่จะส่งผลกำไรจากการประกอบการออกนอกประเทศได้ ในรูปของการส่งเป็นสินค้าออกและให้สามารถมีส่วนเกินเพียงร้อยละ 20 ของผลกำไรจากการประกอบการทั้งหมดเท่านั้น

"ผลกำไรจากการประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีแรกจำนวน 3 ล้านบาท ผมต้องใช้เวลาในการติดต่อกับธนาคารของรัฐบาลพม่า เพื่อทำการโอนผลกำไรจำนวนนี้กลับไปยังบริษัทแม่ที่กรุงเทพฯ ถึง 6 เดือน เพราะธนาคารกลางของพม่า ไม่มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะให้ผู้ลงทุนสามารถโอนกลับประเทศได้ และในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางก็ไม่ยอมรับแลกเงินจ๊าต ที่รัฐบาลของตนเองเป็นผู้พิมพ์ออกมาใช้หมุนเวียนแทนเงินตราต่างประเทศที่ผู้ลงทุนนำเข้ามาใช้สำหรับเป็นเงินลงทุนอีกด้วย" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทการบินไทย จำกัด ประจำสำนักงานกรุงย่างกุ้งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

และในปัญหาเดียวกันนี้ นักธุรกิจไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับสัมปทานป่าไม้จากรัฐบาล SLORC บริเวณชายแดนไทย-พม่า แต่ไม่ได้รับพิจารณาต่ออายุสัมปทาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเกี่ยวกับการให้สัมปทานป่าไม้ของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อช่วงกลางปีนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล SLORC ที่ต้องการตัดหนทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า จึงได้กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้เขาต้องเปลี่ยนวิธีการในการทำธุรกิจการค้ากับพม่า โดยเปลี่ยนจากผู้ประกอบการในการทำไม้ในฐานะผู้รับสัมปทานป่าไม้ มาสู่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกแทน ซึ่งเขาได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"ว่า

"บริษัทฯ ของเรานำปูนซีเมนต์ตราช้างและสังกะสีเข้ามาขายส่งในพม่า โดยสินค้าเหล่านี้เราต้องจ่ายเป็นดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อนำมาขายในพม่าเราจำเป็นต้องรับเป็นเงินจ๊าต หลังจากนั้นเราก็จะพยายามใช้เงินจ๊าตไปในการจัดซื้อไม้ซุงจากบริษัทเอกชนของพม่า ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศแต่การแข่งขันในการจัดหาไม้เพื่อส่งออกในช่วงนี้มีมากเหลือเกิน ในขณะที่สินค้ามีอยู่จำนวนจำกัด ก็ยิ่งทำให้จำเป็นต้องแย่งกันซื้อ ผลก็คือไม้ราคาแพงขึ้น จนบางครั้งเราก็สู้ราคาไม่ไหว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดีกับเงินจ๊าตที่มีอยู่อย่างล้นมือ ซึ่งบางครั้งก็แก้ปัญหาด้วยการปล่อยกู้ให้พ่อค้าคนกลางพม่า นำไปใช้จ่ายในการเร่งตัดไม้ที่ได้รับสัมปทาน แล้วส่งไม้ออกในโควต้าของบริษัทฯ"

อู ยาน ลิน ผู้จัดการบริษัท PEPSI-COLA PRODUCTS MYANMAR จำกัด ซึ่งเข้าไปลงทุนสร้างโรงงาน เพื่อผลิตน้ำอัดลมแห่งแรกในพม่าตั้งแต่ปี 2533 ท่ามกลางกระแสการโจมตีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล โดยการร่วมทุนกับบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา PEPSI-COLA INTERNATIONAL ด้วยเงินทุนเบื้องต้น 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐและปัจจุบันสามารถผลิตน้ำอัดลมภายใต้ชื่อ "เป๊ปซี่" และ "เซเว่น-อัพ" ได้จำนวน 5.76 ล้านขวดต่อปี ทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตเป็น 168 ล้านขวดในปี 2537

เขาได้กล่าวถึงปัญหาเดียวกันนี้ว่า บริษัทฯ แก้ไขปัญหาการมีเงินจ๊าตล้นมือ โดยการซื้อถั่วเหลืองแล้วส่งออก เพื่อแลกเปลี่ยนกับมูลค่าการนำเข้าขวดน้ำอัดลมจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย หรือในบางครั้งก็ใช้วิธีการให้บริษัทในเครือของเป๊ปซี่ที่กรุงเทพฯ เปิดแอลซีสั่งซื้อขวดให้ และเมื่อทางบริษัทฯ ส่งออกถั่วเหลืองได้เงินดอลลาร์สหรัฐมาแล้วก็จะเปิดแอลซีคืนเงินให้ และในกรณีที่มูลค่าการส่งออกถั่วเหลืองไม่เพียงพอกับมูลค่าการนำเข้าขวดน้ำอัดลม มาตรการเสริมที่บริษัทฯ นำมาใช้ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับชำระหนี้ก็คือ การแลกเปลี่ยนดอลลาร์ในตลาดมืด

โนบูยูกิ นากาโน นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นวัย 50 ปี เจ้าของบริษัท นากาโน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการคมนาคม ขนส่ง และโทรคมนาคมในพม่ามาเป็นเวลาถึง 13 ปี ได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนต้องประสบในพม่าว่า เนื่องจากการลงทุนในด้านธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า-ส่งออก การทำไม้ การประมง และการบริการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการลงทุนที่เสี่ยง เพราะจำเป็นต้องผูกพันกับค่าเงินจ๊าตของพม่าที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างอัตราทางการกับอัตราตลาดมืด ฉะนั้นจึงมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้อัตราเสี่ยงในการลงทุนมีน้อยที่สุดคือ การลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมหนัก ที่มองผลประโยชน์ระยะยาว และในระยะเฉพาะหน้านี้ ควรรับการชำระหนี้เฉพาะเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เช่น การลงทุนในด้านคมนาคม-ขนส่ง การสื่อสารหรือโทรคมนาคม ที่มีจุดเน้นที่การให้บริการแก่ลูกค้าและนักลงทุนชาวต่างประเทศในพม่า และการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เช่น การพลังงาน การแปรรูปวัตถุดิบเป็นสินค้าสำเร็จรูป และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องจักร เพื่อการส่งออกไปยังตลาดในต่างประเทศ

ดูเหมือนว่าแนวทางที่นากาโนนำเสนอนี้ จะสามารถใช้ประโยชน์ได้สำหรับนักลงทุน ที่มีเงินทุนหนาหรือมีสายป่านยาวพอสมควร และในเวลาเดียวกันก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินหรือรัฐบาลของแหล่งเงินทุนนั้น ๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้ และการกำหนดระยะปลอดดอกเบี้ยที่ต้องให้เวลานานพอสมควร ดังที่บริษัทแดวูได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินภายในประเทศเกาหลีใต้ ในการเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ในพม่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในพม่าจะหมดไป
ธีรยุทธ ทุมมานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บี.ยู.ที. โฮลดิ้ง จำกัด เข้าไปลงทุนในด้านการโรงแรม "YANGON FLOATING HOTEL" ที่กรุงย่างกุ้ง โดยการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลของสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ในสัดส่วน 45:55 ด้วยเงินลงทุน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเรือที่จะนำมาเป็นโรงแรมมีจำนวนห้องพัก 132 ห้อง สั่งทำที่ประเทศฟินแลนด์และจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปลายปีนี้ ได้กล่าวให้ความเห็นจากประสบการณ์การลงทุนในพม่าว่า

"ถึงแม้ว่า ในขณะนี้โรงแรมเรือจะดำเนินการต่อเสร็จเรียบร้อยแล้วและสามารถที่จะลากไปเทียบท่าเรือกรุงย่างกุ้งได้ตลอดเวลาก็ตาม แต่เนื่องจากยังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อสัญญาบางประการที่จะต้องเจรจากับรัฐบาลพม่าในขั้นสุดท้าย เพราะในข้อตกลงเดิมนั้น รัฐบาลพม่าได้เพิ่มรายละเอียดในข้อสัญญาว่า ในกรณีที่เกิดความไม่สงบภายในประเทศพม่า รัฐบาลพม่ามีสิทธิอำนาจในการยึดหุ้นทั้งหมดของโรงแรมมาเป็นของรัฐ โดยไม่มีข้อแม้และเงื่อนไขอย่างใด ๆ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุน เพราะรัฐบาลพม่าควรจะให้หลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน มากกว่าการเพิ่มความเสี่ยงเช่นนี้"

ทางด้านกรินทร ทองปัชโชติ ประธานบริษัทโอ. เอ็น. เค. ไมนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งได้ทำการตกลงในสัญญาเบื้องต้นกับรัฐบาลพม่าในการร่วมทุนกับ MYANMAR TIMBER ENTERPRISE ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสัดส่วนการร่วมทุน 51:49 เพื่อการแปรรูปไม้ในปริมาณ 65,000 ตัน/ปี และมีเป้าหมายในการผลิตไม้อัดจำนวน 600,000 แผ่น/เดือน เพื่อการส่งออกมีระยะเวลา 15 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก 15 ปี ได้กล่าวเน้นย้ำในกรณีเดียวกันนี้ ว่า

"การลงทุนในพม่า ตลอดจนการคิดคำนวณรายได้-รายจ่ายทั้งหมดด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐนั้น สามารถตัดปัญหาความแตกต่างของค่าเงินจ๊าตระหว่างอัตราทางการและอัตราตลาดได้จริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อัตราความเสี่ยงในการลงทุนในพม่าจะหมดไป เพราะความสำคัญอยู่ในประเด็นที่ว่า รัฐบาลพม่าจะมีมาตรการสำหรับเป็นหลักประกันและให้ความคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศอย่างไร"

คำถามที่บรรดานักธุรกิจ นักการค้าและนักลงทุน ต่างกำลังรอคอยคำตอบจากนักวางแผนนโยบายทางเศรษฐกิจ และการเงินของรัฐบาล SLORC ในปัจจุบันก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลพม่าจะประกาศลดค่าเงินจ๊าตลง ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องใกล้เคียงหรือให้เป็นอัตราเดียวกับอัตราที่เป็นจริงในตลาด

คำตอบอย่างชัดเจนที่ผ่าน ๆ มาของรัฐบาลทหารพม่า ก็คือ เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
เพราะสิ่งที่รัฐบาลพม่าหวั่นเกรงมาก ถ้าหากมีการประกาศลดค่าเงินจ๊าตคือ ราคาสินค้าอาจจะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังจะเป็นการเพิ่มปัญหาความกดดันทางด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล และในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการเพิ่มภาระของรัฐบาลในการที่จะต้องเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนของสวัสดิการ และการจัดหาสินค้าราคาถูกเพื่อให้บริการสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้รัฐบาลพม่าได้ใช้วิธีการบังคับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคาที่รัฐเป็นผู้กำหนดจากเกษตรกรร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ แต่ในขณะนี้รัฐบาลพม่าไม่มีเงินงบประมาณสำรองในส่วนนี้เลย

ที่สำคัญก็คือ การลดค่าเงินจ๊าตหรือการประกาศให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราของตลาดมืดนั้น ย่อมเท่ากับเป็นการตัดทอนรายได้ของรัฐบาล

ทั้งนี้เพราะในขณะที่พม่าสามารถส่งสินค้าออกได้น้อย แต่การกำหนดให้ค่าของเงินจ๊าตสูงเกินความเป็นจริงในระบบตลาดนี้ กลับเป็นการสร้างรายได้จากความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องขนเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาลงทุนในปริมาณที่มากขึ้น ตามค่าของเงินจ๊าตที่กำหนดโดยทางการพม่า

"ในสัญญาร่วมทุนกับรัฐบาลพม่า ผมใช้เงินดอลลาร์สหรัฐทั้งหมดและในส่วนของการจ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่าเข้ามาปฏิบัติงานในบริษัท ผมก็คิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหลังจากที่จ่ายค่าจ้างไปแล้ว รัฐบาลพม่าเขาจะดำเนินการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับคนของเขาอย่างไร โดยจะคิดจากอัตราทางการหรืออัตราตลาดนั้น ผมไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะผมถือว่าได้ทำตามสัญญาทุกประการ นอกจากนี้ผมยังต้องตั้งงบบริจาคเงินปีละ 320,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลพม่าอีกด้วย" กรินทร กล่าว

จากรายงานทางด้านเศรษฐกิจพม่าโดยสำนักงานเศรษฐกิจเกี่ยวกับสถานะทางด้านงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลพม่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2536 ได้เน้นย้ำในประเด็นที่ว่า รัฐบาลพม่าแก้ไขปัญหาการจ่ายเกินดุลงบประมาณรายจ่าย อันเนื่องมาจากการใช้งบประมาณ ถึงร้อยละ 49.8 ของงบประมาณทั้งหมด 2,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปในการซื้ออาวุธสำหรับทำสงครามปราบชนกลุ่มน้อย โดยการกู้ยืมเงินจากระบบธนาคารของรัฐ และการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้ปริมาณธนบัตรในระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2534 ถึง 3 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2535 ถึงร้อยละ 25 ของปริมาณเงินจ๊าตทั้งหมดในระบบการเงินของพม่า

"ไม่มีใครรู้ว่าปริมาณที่แท้จริงของเงินจ๊าตในระบบมีจำนวนเท่าไรในปัจจุบัน เพราะปัญหาที่พม่าประสบในขณะนี้ เป็นปัญหาในลักษณะที่ว่า ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประกาศไม่ยอมให้ความช่วยเหลือหรือปล่อยเงินกู้ให้แกรัฐบาลพม่า จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และด้านสิทธิมนุษยชนภายในพม่า แต่สำหรับรัฐบาลพม่าแล้วเชื่อว่าหากไม่มีการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจก่อนย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้" วีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

รัฐบาลทหารพม่าถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และถูกตัดความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงที่รัฐบาลพม่าใช้กำลังทหารเข้าปราบและสังหาร นักศึกษา ประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ที่ร่วมในการประท้วงและเรียกร้องให้มีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย และนำไปสู่การยึดอำนาจทางการเมืองโดยทหารในนามว่า SLORC ในปี 2531 ต่อเนื่องด้วยการจับกุมและกักกันออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารไว้ภายในบริเวณบ้านในกลางปี 2532 และการประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ที่พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า 80% ในปี 2533

การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้กลายเป็นแรงกดดันให้ SLORC ที่มีพลเอกซอ หม่อง เป็นประธานใต้อำนาจการบังคับบัญชาที่อยู่เบื้องหลังของพลเอก เน วิน จำเป็นต้องดิ้นรนในการแสวงหาหนทางเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้โดยได้มีความพยายามที่จะสร้างภาพพจน์ใหม่ของรัฐบาลทหารในสายตาของนานาชาติด้วยการปลดพลเอก ซอ หม่องที่ว่ากันว่าสมองเลอะเลือนออกจากตำแหน่งประธาน SLORC แล้วแต่งตั้งให้พลเอก ตัน ฉ่วย อดีตผู้บัญชาการทหารบกขึ้นมาแทนที่

พร้อมกันนั้นก็ได้มีการประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์จราจลในปี 2531 จำนวนกว่า 2,000 คน ในปี 2535 ทั้งยังได้ประกาศจัดตั้งกองประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งชาติ (NATIONAL CONVENTION) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกถึง 800 คนที่แต่งตั้งโดย SLORC ทั้งนี้เพื่อต้องการแสดงให้นานาชาติเห็นถึงความพยายามในการนำประเทศไปสู่วิถีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ว่าจะร่างให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ตาม

จากรายงานการประชุมสมัชชาฯ ครั้งล่าสุดในช่วงปลายปีนี้ โดยแหล่งข่าวภายในวงการทูตที่กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่าที่ประชุมสมัชชาฯ ได้กำหนดให้มีการประชุมครั้งต่อไปภายในเดือนมกราคม 2537 แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็ได้มีการกำหนดหลักการใหญ่ที่จะใช้เป็นรูปแบบการปกครองของพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้ใช้การปกครองแบบประธานาธิบดี ที่จำลองแบบมาจากระบอบของฝรั่งเศสที่เรียกว่า EXECUTIVE PRESIDENCY ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเฉพาะในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

ทั้งยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ทั้งนี้โดยตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ มาจากการแต่งตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นอำนาจการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ส่วนสิทธิอำนาจในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยใน 7 รัฐนั้น จะยังคงให้สามารถปกครองตนเองต่อไปได้ แต่ไม่มีสิทธิในการแยกตัวออกเป็นอิสระจากสหภาพ (UNION OF MYANMAR)

"ความต้องการทางการเมืองของ SLORC คือต้องการที่จะแบ่งการเมืองภายในประเทศ ออกเป็น 2 ระดับ โดยแบ่งเป็นการเมืองระดับชาติ (NATIONAL POLITIC) กับการเมืองระดับพรรคการเมือง (PARTY POLICTIC) ทั้งนี้โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การเมืองระดับเมืองชาติที่มีทหารเป็นผู้ใช้อำนาจควบคุมเหนือการเมืองระดับพรรคฯ และในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง อันจะเป็นกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้ถือเป็นสิทธิอำนาจโดยชอบของทหารตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการที่จะประกาศยึดอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ" แหล่งข่าวในวงการทูตในกรุงย่างกุ้ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

พร้อมกันนี้ SLORC ได้จัดตั้ง UNION SOLIDARITY AND DEPARTMENT ASSOCIATION ขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการวางรากฐานและขยายการจัดตั้งฐาน สนับสนุนทางการเมืองลงไปในระดับท้องถิ่น โดยการให้มีสาขาของสมาคมฯ กระจายเข้าไปในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ อันเป็นการวางรากฐานทางการเมืองของ SLORC ในระยะยาว ทั้งนี้สมาคมฯ จะถูกแปรสภาพเป็นพรรคการเมืองเมื่อเป็นที่แน่ใจแล้วว่า SLORC สามารถควบคุมฐานคะแนนเสียงสนับสนุนทางการเมืองเหล่านี้ได้

แหล่งข่าวแกนนำคนสำคัญของ NATIONAL LEAGUE FOR DEMOCRACY (NLD) ที่มีออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านอำนาจทางการเมืองของรัฐบาล SLORC กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลทหาร จะพยายามสร้างภาพพจน์ทางการเมืองให้ดูเหมือนว่าประเทศกำลังพัฒนา เพื่อก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยรูปแบบมากเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยในสายตาประชาชน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนทุกคนต่างก็รู้และเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงในหมู่ทหาร

"ทหารสามารถที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้สวยหรูหรือเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหนก็ได้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของ NATIONAL CONVENTION เป็นคนของ SLORC และถึงแม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสมบูรณ์ แล้วมีการประกาศบังคับใช้ให้เป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม แต่มันจะมีประโยชน์อะไรต่อประชาชน ในเมื่อทหารยังคงคุมอำนาจทางการเมืองต่อไปควบคู่ไปกับการคุมนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ทหารต้องการเพียงให้ได้มา ซึ่งเงินเพื่อการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สำหรับทำสงครามปราบชนกลุ่มน้อยเท่านั้น" แกนนำคนสำคัญของ NLD กล่าว

ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการกระจายเสียงและรายงานข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบาล SLORC รายงานว่ารัฐบาล SLORC ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลปกครองตนเองแห่งรัฐคะฉิ่น อันเป็นรัฐชนกลุ่มน้อยที่มีกำลังทหารใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากกองทัพของรัฐกะเหรี่ยง ทั้งนี้สาระสำคัญในข้อตกลงร่วมดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลคะฉิ่นมีสิทธิอำนาจโดยอิสระในการปกครองตนเอง มีกองทัพเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์แห่งรัฐเป็นของตนเอง โดยที่กองทัพของรัฐบาลกลางไม่มีสิทธิอำนาจเข้าไปแทรกแซง แต่รัฐบาลของรัฐคะฉิ่นไม่มีสิทธิในการแยกตัวเองออกเป็นอิสระจากสหภาพเมียนมาร์ (UNION OF MYANMAR) ได้

ส่วนการจัดสรรผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาตินั้น ให้ขึ้นอยู่กับการวางแผนนโยบายร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลคะฉิ่น ทั้งนี้โดยการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านรายได้ให้เป็นการส่งเข้าคลังรัฐบาลกลางร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดของรัฐคะฉิ่น อย่างไรก็ตาม ในด้านการดำเนินแนวนโยบายการต่างประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจให้เป็นสิทธิอำนาจของรัฐบาลกลางเท่านั้น

การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐคะฉิ่นกับรัฐบาล SLORC ครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จของรัฐบาล SLORC ในการเจรจาเพื่อการแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองการปกครองกับรัฐบาลของรัฐชนกลุ่มน้อย แต่ในขณะเดียวกันผลจากการลงนามในข้อตกลงอันนี้ได้เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างรัฐชนกลุ่มน้อยอีก 5 รัฐ (ยกเว้นรัฐฉาน ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาล SLORC ไปก่อนหน้ารัฐคะฉิ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกะเหรี่ยง ที่มีกำลังทหารมากที่สุดในบรรดารัฐชนกลุ่มน้อยด้วยกันทั้ง 7 รัฐกับรัฐคะฉิ่น เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้ของรัฐบาลคะฉิ่น

"ถ้าหากข่าวการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐคะฉิ่นกับ SLORC เป็นความจริง เราก็จะขับรัฐคะฉิ่นออกจากการเป็นสมาชิกของสมาพันธ์รัฐอิสระทันที เพราะเราถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับแนวทางเพื่อการปกครองตนเอง อีกทั้งในประวัติศาสตร์ของการเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าที่ผ่านมานั้น เราไม่สามารถไว้วางใจทหารพม่าได้เลย เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่มีความจริงใจ ผู้นำของรัฐอิสระหลายคนถูกลอบสังหารทุกครั้งที่มีการเปิดเจรจา" พล.อ. โบ เมียะ ผู้นำรัฐกะเหรี่ยงกล่าว
ในกรณีเดียวกันนี้ แหล่งข่าวแกนนำคนสำคัญใน NLD ให้ข้อสังเกตว่า การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่าง SLORC กับรัฐคะฉิ่นดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองระหว่างชนกลุ่มน้อยกับ SLORC จะหมดไป ทั้งนี้โดยมีตัวอย่างจากกรณีที่รัฐฉานได้ลงนามในข้อตกลงในลักษณะเดียวกันนี้กับ SLORC ก่อนหน้านี้ แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรอำนาจและการแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทรัพยากร

"ผมเชื่อว่าคงเป็นการยาก ที่จะทำให้รัฐของชนกลุ่มน้อยเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของ SLORC ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั้ง 2 กรณี เป็นเพียงการหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว การสะสมอาวุธและการระดมความพร้อมทางทหารของทั้งสองฝ่าย ยังคงดำเนินการอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันนั่นเอง ขนาดคนพม่ายังไม่สามารถที่จะให้ความไว้วางใจรัฐบาลทหารได้ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง สำหรับการที่จะให้ชนกลุ่มน้อยไว้วางใจ SLORC" แกนนำคนสำคัญอีกคนหนึ่งของ NLD กล่าว

ไม่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองภายในของพม่าจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าใครจะขึ้นมาครองอำนาจทางการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าระบอบการเมืองภายในของพม่าจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด ไม่ว่าออง ซาน ซูจี จะได้รับการปลดปล่อยหรือไม่ และไม่ว่ารัฐบาล SLORC จะสามารถทำการปราบหรือทำข้อตกลงร่วมกับชนกลุ่มน้อยได้มากน้อยเพียงใด ล้วนแล้วแต่มิใช่หนทางแห่งความอยู่รอดของ SLORC ในวันพรุ่งนี้

เพราะในที่สุดแล้ว หากเมื่อใดก็ตามที่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนชาวพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่ประชาชนชาวพม่า จะสามารถแสวงหามาเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตได้แล้ว และถึงแม้ว่ารัฐบาล SLORC จะพยายามควบคุมราคาสินค้าก็ตาม แต่ไม่สามารถบังคับได้ในการปฏิบัติที่เป็นจริง เมื่อนั้นย่อมหมายถึงวันสุดท้ายและวันแห่งการล่มสลายทางอำนาจของ SLORC ในพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าบทบาททางการเมืองของฝ่ายค้านและประชาชน จะไม่มีความเคลื่อนไหวออกมาในภาพเปิดต่อสาธารณะ นั่นไม่ได้หมายความว่าเรายอมรับในอำนาจของ SLORC หากแต่เราและประชาชนทุกคน กำลังรอคอยวันเวลาแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องประสบอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นชนวนของการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้านี้" แกนนำใน NLD กล่าวในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.