เกณฑ์30%ทำเอกชนเลื่อนแผนขายหุ้นกู้แสนล.


ผู้จัดการรายวัน(16 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดตราสารหนี้ปีหมูพระเพลิงเดี้ยงสนิท หลังธปท.งัดกฎเหล็กสกัดเก็งกำไรค่าบาท เอกชนจ่อระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้หลายแสนล้านบาทตายเรียบ เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ นายกสมาคมบลจ.รับมาตรการธปท.ทำให้ช่องทางการระดมทุนของภาคเอกชนตีบตัน หุ้นกู้นับแสนล้านเลื่อนขาย

ภาพรวมการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของภาคเอกชนในปีนี้ ต้องยอมรับว่าตีบตันใช่น้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการหักกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้ออกประกาศและเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ซึ่งในแง่ของรายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติในหลายกรณียังไม่มีความชัดเจนมากนัก ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ปฎิบัติและผู้ลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก

แหล่งข่าววงการธนาคารพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ผลกระทบจากมาตรการกันสำรอง 30% ได้ฉุดความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนการลงทุนผ่านตราสารหนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.จะออกมาระบุว่าส่งผลกระทบไม่มากนักก็ตาม เพราะในขณะนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มไม่มั่นใจว่า ในที่สุดแล้วหลังการเข้ามาลงทุนในไทยแล้วหน่วยงานที่กำกับดูแลจะออกมาตรการที่ควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของการออมกับเงินลงทุน

“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ การระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของภาคเอกชนในปีนี้ เชื่อว่าจะลำบากเป็นอย่างมาก สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีแผนระดมทุนผ่านออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศ หรือในประเทศ ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งในส่วนของต้นทุนในการกู้สูงขึ้นแน่นอน เพราะความเชื่อมั่นของผู้ให้กู้ลดลง ขณะเดียวกันโอกาสที่จะสามารถระดมทุนได้ตามเป้าก็ลดน้อยลงเช่นกัน”

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ยังคงอยู่ในช่วงขาลง และอาจปรับตัวลดลงเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากสภาพคล่องยังคงล้นระบบ และคาดว่าจะล้นระบบมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง ทั้งจากที่เกิดขึ้นจากมาตรการกันสำรอง 30% และล่าสุดสถานการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ได้ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภค ซึ่งแน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจการค้าการลุงทุนแน่นนอน และอาจทำให้แนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ก่อนหน้า เพราะอัตรการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้ชะลอตัวจากเดิมที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่า 4.5-5.5%

ขณะที่นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมบลจ.ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจจัดการลงทุน เพื่อให้ธปท.มีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ โดยได้มีการเสนอให้ผ่อนปรนการกันสำรองเงินของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผ่านกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเกิน 1 ปี คันทรี่ฟันด์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) กองทุนรวมลงทุน (เวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์) และได้มีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลงทุนผ่าน NVDR ต้องเข้าเลื่อนไขหรือไม่

“ต้องยอมรับว่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนในปีนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกหุ้นใหม่ การออกตราสารหนี้ ที่ขายให้กับนักลงทุนต่างชาติ ได้รับผลกระทบจากมาตรการกันสำรองเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เตรียมออกหุ้นกู้อาจต้องเลื่อนออกไปด้วยเช่นกัน” นายมาริษกล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศในปีนี้ นายมาริษ ให้ความเห็นว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเลือกแบบไหน เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อเริ่มลดลง ขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐก็ยังไม่ได้ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม การพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเงินทุนไหลออก

ส่วนแนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้ คาดว่าในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุน โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์

แผนระดมทุนเอกชนสะดุด ตลาดหุ้นกู้นับแสนล้านเดี้ยง!

จากการรวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ ของไทยในปี 2550 พบว่า ธนาคารไทยธนาคารมีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุไม่เกิน 12 ปี เสนอขายนักลงทุนต่างประเทศ หรือนักลงทุนสถาบัน บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) มีแผนขายหุ้นกู้ไม่เกิน 8 พันล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไปรีไฟแนนซ์หนี้ บริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (LALIN) มีแผนออกหุ้นกู้ เพื่อนำเงินไปคืนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดปี 2550 ธนาคารทิสโก้มีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี

บริษัทราชธานีลิสซิ่ง (THANI) มีแผนออกหุ้นกู้ ตั๋วแลกเงินและกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 2.5 พันล้านบาท โดยมีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 1.2 พันล้านบาท ในช่วงปลายปีนี้ บริษัทเซ็นทรัล พัฒนา (CPN) มีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงกลางปี มูลค่าประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อนำไใช้ลงทุนในศูนย์การค้า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (PTTEP) อยู่ระหว่างการศึกษาออกหุ้นกู้หรือตั๋วบี/อี เพื่อชำระหนี้ซามูไรบอนด์วงเงิน 193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายนของปีนี้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรก

บริษัทสหวิริยา อินดัสตรี (SSI) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทไออาร์ซีพี (IRCP) คาดว่าจะออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) มีแผนออกหุ้นกู้ 3 พันล้านบาท ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 5 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี ที่จะขายต่อผู้ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ

บริษัทปตท.เคมีคอล (PTTCH) มีแผนออกหุ้นกู้ในปลายปี 3 พันล้านบาท บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) มีแผนออกหุ้นกู้ 1 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีแผนออกหุ้นกู้ประมาณ 1.8-2 หมื่นล้านบาทในปีนี้

เอกชนจ่อคิวระดมทุนเคว้ง ตลาดตราสารหนี้มดมนต์

อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีกเป็นจำนวนมากที่เตรียมระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังไม่มีการกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะระดมทุนในช่วงใด ซึ่งเชื่อว่าจากการที่ธปท.ออกมาตรการกันสำรอง 30% ออกมา บริษัทที่เตรียมออกหุ้นกู้คงต้องเลื่อนการระดมทุนออกไป โดยในช่วงก่อนหน้าเอกชนได้ขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไว้แต่ยังไม่กำหนดเวลาชัดเจน อย่าเช่น บริษัทเอ็มบีเค (MBK) มีแผนขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพื่อคืนหนี้หุ้นกู้เดิมมูลค่า 900 ล้านบาท รวมถึงเงินกู้ยืมระยะสั้น 700 ล้านบาท

บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCOMP) มีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 30 ปี เพื่อนำเงินไปลงทุน บริษัทยานภัณฑ์ (YNP) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำเงินไปคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน บริษํทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (AP) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท บริษัซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) มีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 3 พันล้านบาท บริษัทโอเชียนกลาส (OGC) มีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2 พันล้านบาท อายุ 1-10 ปี

บริษัทฐิติกร (TK) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี เพื่อนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี เพื่อนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและคืนหนี้ บริษัทการบินไทย (THAI) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท ภายใน 8 ปี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)มีแผนออกหุ้นกู้ 5 พันล้านบาท

ธนาคารดอยซ์แบงก์ เอจี สาขากรุงเทพ มีแผนออกหุ้นกู้ไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท บริษัทวนชัย กรุ๊ป (VNG) มีแผนออกหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 2 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 7 ปี เพื่อขยายธุรกิจและคืนหนี้บางส่วน บริษัทแสนสิริ (SIRI) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี บริษัทนวลิสซิ่ง (NVL) มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2 พันล้านบาท และบริษัทหลักทรัพย์บาร์เคลย์ แคปปิตลอล (ประเทศไทย) มีแผนออกหุ้นกู้ระยะกลางวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.