"หน่วยลงทุน..ทางเลือกใหม่ (ที่ดี)ในการลงทุน"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมว่าตลาดหุ้นเมืองไทยยังโตได้อีกมาก หากคุณมีเงิน หลับตาซื้อหน่วยลงทุนดีกว่าฝากแบงก์อีก" เป็นมุมมองของ ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานบริษัท แอสเซท พลัส ซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะผลตอบแทนที่ บลจ. ใหม่ทั้ง 7 แห่งจ่ายล้วนจ่ายในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแบงก์หรือประมาณ 20-25%

ผลตอบแทนที่สูง และนโยบายของทางการที่สนับสนุนการเพิ่มประเภทนักลงทุนสถาบันอย่างจริงจังโดยยกเว้นภาษีทุกประเภทสำหรับ "กองทุนรวม" (ดูตาราง..แสดงผลประโยชน์ด้านภาษี) และการลดค่านายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์จาก 0.5% เป็น 0.3% ทำให้ประชาชนหันมาสนใจซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน ล่าสุดคือกรณีที่กองทุนรวมออมสินอุดมทรัพย์ 2 ต้องจัดตั้งอย่างเร่งด่วนเพื่อสนองต่อยอดจอง หน่วยลงทุนกองทุนรวมออมสินอุดมทรัพย์ ที่มีไม่เพียงพอทั้ง ๆ ที่โครงการมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคม 2536 ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างชัดเจน

แต่เชื่อว่ามีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจน ในการเลือกซื้อหน่วยลงทุน จึงมักพิจารณาเพียงแต่ผลตอบแทนเป็นเกณฑ์ ซึ่งก้องเกียรติแนะนำว่า "อายุของกองทุน นโยบายการลงทุน และสไตล์การบริหารของแต่ละบริษัท เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าเงินปันผลที่ประกาศจ่ายในอัตราที่สูงของแต่ละกองทุนในปัจจุบัน… ผมอยากให้นักลงทุนระลึกเสมอว่า HIGH RISK ..HIGH RETURN"

หากสังเกตถึงกองทุนที่ออกมาจะพบว่ามีอายุโครงการไม่เท่ากันคืออยู่ในช่วง 5-10 ปี นักลงทุนควรซื้อหน่วยลงทุนที่มีอายุโครงการนานเท่าที่แน่ใจว่าจะถือได้จนสิ้นสุดโครงการ เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือไม่ต้องไปเสียส่วนลด (DISCOUNT) ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนปิดในตลาดหลักทรัพย์กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยราคาตลาดมักอยู่ต่ำกว่ามูลค่าการซื้อขายหน่วยลงทุนประมาณ 20% แต่หากเป็นนักลงทุนที่ชอบเสี่ยง และต้องการสภาพคล่องสูงก็ควรซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเปิด

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุก ๆ คนจะสามารถซื้อหน่วยลงทุนที่มีส่วนลด (DISCOUNT) หลังจากที่กองทุนนั้น ๆ จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว "อย่างน้อยคุณต้องมีบัญชีที่เปิดไว้กับโบรกเกอร์ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นหลักแสน..หรือหากอยู่ต่างจังหวัดก็ยิ่งไม่สะดวกใหญ่ เพราะสาขาโบรกเกอร์ก็ยังไม่กระจายทั่วประเทศ" ธีระ ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการหนุ่มของ บลจ. บริหารทุนไทย กล่าว ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการสาวของ บลจ. กสิกรไทย โดยดัยนาได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า

"หากดูปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดแล้ว จะพบว่ามีไม่มากเพราะลูกค้าที่ถือหน่วยลงทุนส่วนมากจะถือยาว…ไม่ค่อยมีคนยอมขายกัน"

สำหรับนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนจะมีบอกไว้ในหนังสือชี้ชวนการซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา (ดูตารางแสดงโครงการกองทุนต่าง ๆ) จะลงทุนในหุ้น (EQUITY FUND) ในหุ้นและตราสารหนี้ (BALANCED FUND) เป็นสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนจาก EQUITY FUND ตามความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยเฉพาะในสภาพตลาดหุ้นที่เป็นกระทิง ดังเช่นปัจจุบัน

"สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ผมคิดว่าการซื้อหน่วยลงทุนเป็นวิธีการลงทุนที่ดี…เพราะจะมีมืออาชีพบริหารเงินให้เรา ส่วนจะลงทุนเท่าไรนั้น…ผมว่าอย่าถึงกับให้ทางบ้านเดือดร้อนเป็นใช้ได้" ก้องเกียรติ กล่าวปิดท้ายคำแนะนำการลงทุน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.