"ความจำเป็นการระดมเงินออมจากประชาชนเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ประกอบกับการเสนอทางเลือกที่เหมาะสมในการลงทุน"
เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจกองทุนรวมเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2518
อีก 17 ปีต่อมา หรือในปี 2535 ทางการจึงอนุมัติเพิ่มใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนให้กับบริษัทจัดการอีก
7 แห่ง โดยให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า "บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม
(บลจ.)"
บล. กองทุนรวม ได้สนองต่อวัตถุประสงค์ของทางการในการระดมเงินออมเป็นอย่างดี
โดยเริ่มจำหน่ายหน่วยลงทุนครั้งแรกในปี 2520 จนกระทั่งปัจจุบันมีจำนวนกองทุนรวม
11 กองทุน เป็นกองทุนเปิด 1 กองทุนและกองทุนปิด 10 กองทุน รวมมูลค่ากว่า
13,000 ล้านบาท และเริ่มจัดตั้งกองทุนที่จำหน่ายให้แก่ชาวต่างประเทศในปี
2529 รวมจำนวนที่จำหน่ายไปแล้ว 10 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 17,800
ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีนับแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เห็นได้ชัดว่าทันทีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทั้งจากภายในประเทศหรือต่างประเทศ
การเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์จะมีการปรับตัวที่รุนแรงทันทีซึ่งยากที่จะปฏิเสธว่า
การมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยสูงกว่านักลงทุนสถาบันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดไม่มีเสถียรภาพ
สุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลอานันท์
ปันยารชุน เข้าใจปัญหาเป็นอย่างดีดังคำกล่าวในช่วงที่ประกาศเพิ่มใบอนุญาตผู้จัดการกองทุนในช่วงปี
2534 ว่า "โครงสร้างผู้ลงทุนยังมีปัญหาโดยเฉพาะผู้ลงทุนในประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นบุคคลธรรมดา
ที่มีพฤติกรรมการลงทุนในลักษณะเก็งกำไรอันส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์มีความผันผวนมาก….
การเพิ่มนักลงทุนสถาบันเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหา"
ใบอนุญาตจัดการกองทุนรวมใหม่จำนวน 7 ใบ จึงได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา
คือ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 โดยอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 ขณะที่กองทุนที่ตั้งขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
จะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
พ.ศ. 2522 และกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ความตั้งใจจริงของทางการที่ต้องการเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบัน ทำให้กฎเกณฑ์
หรือเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจการจัดการกองทุนรวมมีความผ่อนปรนกว่าเดิมมาก
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้จ่ายกำไรในแต่ละงวดได้สูงถึงร้อยละ 95 ขณะที่เดิมกำหนดให้เพียงร้อยละ
50 หรือการถือหุ้นสามารถถือได้เพียงร้อยละ 60 เป็นการชั่วคราวได้หากเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง
ขณะที่เดิมกำหนดให้ถือไว้มากกว่าร้อยละ 75 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่
บลจ. ในการบริหารเงิน
ดำรงสุข อมาตยกุล รองกรรมการจัดการ บล. กองทุนรวม จำกัด ได้ชี้แจงถึงผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายที่แตกต่างกันว่า
"เราไม่ได้เปรียบหรือประโยชน์อะไรเลยครับ ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจผิด
เพราะกฎเกณฑ์ ข้อบังคับในการลงทุนเหมือนกันทุกประการ จะต่างกันก็เรื่องเงินปันผลซึ่งตามกฎหมายเดิมจะบังคับให้จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ
50 ของกำไรสุทธิ ขณะที่กฎหมายใหม่ให้จ่ายเต็มที่…อย่างไรก็ตามตั้งแต่กองทุนรุ่งโรจน์เป็นต้นมาก็อยู่ภายใต้กฎหมาย
กลต. แล้ว"
อย่างไรก็ตามแม้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะแสดงสัดส่วนการซื้อขายของกองทุนรวมว่ามีเพียง
3.75% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาด และนักลงทุนรายย่อยยังคงครองสัดส่วนที่สูงสุด
คือประมาณ 74% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทุนรวมอย่างชัดเจน
เพราะก่อนหน้าที่ทางการจะให้ไลเซนส์เพิ่มอีก 7 ใบ ในปี 2535 สัดส่วนการซื้อขายของกองทุนรวมในตลาดมีเพียง
1% เท่านั้น