"ทุนญี่ปุ่นมาแล้ว ค่าแรงต่ำอย่างเดียวไม่พอ"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ฮิโรยูกิ มารูโกะ กรรมการผู้จัดการบริษัทมิตซุยแอนด์โค (ประเทศไทย) วิเคราะห์ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในสภาวะเงินเยนแข็งตัวที่เฮริเทจคลับเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า จะมีการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนมายังภูมิภาคเอเซียมากขึ้น โดยเฉพาะที่ประเทศจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย การย้ายทุนครั้งนี้จะเป็นสัดส่วนของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ส่วนทางบริษัทยักษ์ใหญ่จะลดการลงทุนลง

ประเทศทั้ง 5 ที่มารูโกะอ้างถึง เวียดนามและจีนค่อนข้างมีภาษีเหนือกว่าในเรื่องค่าแรงที่ต่ำมาก โดยเฉพาะเวียดนามในระยะเริ่มเปิดประเทศใหม่ ๆ ตั้งอัตราค่าแรงไว้ประมาณ 500 บาทต่อเดือนหรือ 16 บาทต่อวันเท่านั้น ถึงแม้ว่าเมื่อต้นปีจะขึ้นมาเป็น 875 บาทก็ตาม ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับแรงงานจีนในชนบทจะตกประมาณ 1500 บาทต่อเดือน

กระแสการเคลื่อนย้ายทุนของนักธุรกิจขนาดเล็กและกลางออกมาทางแถบอาเซียนเริ่มเกิดขึ้นในระยะ 2 - 3 ปีนี้ จากการสำรวจของ JAPAN SMALL BUSINESS CORPORATION หรือ JSBC ซึ่งเพิ่งเปิดสาขาเอเชียขึ้น โดยใช้ JETRO ประจำกรุงเทพฯ พบว่า นักธุรกิจกลุ่มนี้มีความเห็นว่าเอเซียยกเว้นประเทศที่เป็นนิคส์แล้ว อย่างเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นภูมิภาคที่น่าลงทุนที่สุด และมีนักธุรกิจถึง 79% ที่สนใจและกำลังหาลู่ทางการลงทุน

"การเคลื่อนย้ายทุนในยุคนี้ เราจะคำนึงถึง LOCAL MARKETING มากขึ้น พอ ๆ กับค่าแรงงานต่ำ หรือบางครั้งอาจให้ความสำคัญมากกว่า ด้วยเหตุนี้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง จะไม่เลือกประเทศใดประเทศหนึ่งลงทุนเพียงเพราะว่าค่าแรงต่ำเท่านั้น แต่ต้องเป็นประเทศที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทนั้น ๆ ด้วยทั้งในด้านตลาดและช่างฝีมือของคนท้องถิ่น" ยาซูยูกิ ฟูกูโอกะ ที่ปรึกษาการลงทุนต่างประเทศประจำญี่ปุ่นของ JSBC ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้ MITI หรือกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น อธิบายถึงข้อพิจารณาการย้ายทุนของธุรกิจขนาดเล็กและกลางกับ "ผู้จัดการ"

บริษัท YOKOHAMA TAPE KOGYO เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจเล็กที่เข้าสูตรของฟูกูโอกะ บริษัทแห่งนี้ผลิตตราปักผ้าและตราผ้าพิมพ์ให้ยี่ห้อเสื้อผ้าชื่อดัง เช่น ESPRIT, LEVI, MEXX, MARIE CLAIRE รวมทั้งผลิตริบบิ้นสำหรับตกแต่งทรงผมและห่อของขวัญมานานถึง 33 ปี

คัตซูฮิโกะ อาโดะ ประธานของบริษัทหนีค่าเงินเยนแข็งตัวครั้งแรกเมื่อปี 2528 ด้วยการเปิดโรงงานขึ้นอีกแห่งที่ฮ่องกง เพื่อลดต้นทุนค่าแรงงาน แต่ด้านวัตถุดิบยังคงส่งตรงมาจากญี่ปุ่น เพียง 5 ปีถัดมา การใช้ผ้าฝ้ายที่ส่งมาจากญี่ปุ่นมีต้นทุนสูงเกินไปรวมทั้งค่าแรงงานของฮ่องกงถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่า อาโดะจึงต้องหาที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาทั้งสองข้อลง

"ผมเลือกจีน เพราะจีนมีผ้าฝ้ายชั้นดีและราคาถูกกว่าญี่ปุ่นถึง 50% ค่าแรงงานก็ต่ำกว่าเมืองไทยและฮ่องกง และมีตัวแปรสำคัญคือลูกค้ามีแนวโน้มเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เมืองจีนมากขึ้น เราไม่ต้องการเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องทางตลาดใหม่ด้วย" อาโดะกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เขาเลือกปักกิ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน แทนที่จะเป็นเมืองไทย ซึ่งมีการติอต่อซื้อวัสดุผ้าไนลอนจากบริษัทขวานทองของคนไทยอยู่ก่อนแล้วก็ตาม

อาโดะเปิดโรงงานที่จีนเข้าย่างปีที่สี่ มีคนงานเพียง 20 คน จะผลิตตราผ้าปักและริบบิ้นจากผ้าฝ้ายเท่านั้น ส่วนโรงงานที่โตเกียวและฮาโกดะมีคนงาน 50 คน จะผลิตตราผ้าพิมพ์จากวัสดุไนลอน มียอดขายของปีที่แล้วเฉพาะที่จีนและญี่ปุ่นเป็นเงิน 1,500 ล้านเยนหรือประมาณ 360 ล้านบาท สำหรับที่ฮ่องกงมีคนงาน 65 คน ที่ยอดขาย 500 ล้านเยนหรือประมาณ 120 ล้านบาท

กลยุทธ์ที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของประเภทอุตสาหกรรมกับการตลาดในประเทศที่ตั้งโรงงานมากขึ้น ทาง MITI เสนอรัฐบาลญี่ปุ่นว่าควรสนับสนุนการลงทุนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล สิ่งทอ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ทาง JSBC กรุงเทพฯ แนะนำว่าเมืองไทยมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มากที่สุด เพราะตลาดรถยนต์ในภูมิภาคนี้โตขึ้นเร็วมาก รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ปิคอัพและมอเตอร์ไซด์มีแผนขยายทุนและคงใช้ภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอนาคต

"ที่ผ่านมาเมืองไทยให้ความสนใจน้อยเกินไป ในการพัฒนาเทคโนโลยีและช่างเทคนิคที่มีฝีมือ ในด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าห้าปีจึงจะเข้าขั้นพอใช้ได้" ยูคิโอะ อาวาย่า ผู้อำนวยการ JSBC ภาคพื้นเอเชีย แสดงความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

นักลงทุนญี่ปุ่นชินกับระบบ SUBCONTRACTOR คือ การให้โรงงานขนาดเล็กและกลางหลาย ๆ แห่งผลิตชิ้นส่วนป้อนให้โรงประกอบรถยนต์ซึ่งต้องอาศัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้น ในการที่จะประกอบเป็นรถยนต์หนึ่งคัน ชิ้นส่วนที่อาวาย่าคาดหวังว่าประเทศเอเชียจะผลิตได้มาตรฐานโดยไม่ต้องส่งตรงมาจากโรงงานญี่ปุ่น คือ แม่พิมพ์เครื่องยนต์ (ENGINE BLOCK) ฝาสูบ (CYLINDER HEAD) เกียร์และก้านสูบ (CONNECTING ROD)

ในขณะนี้มีบริษัทสยามโตโยต้า แห่งเดียวที่พร้อมเปิดโรงงานเหล็กหล่อทำแม่พิมพ์เครื่องยนต์ประมาณกลางปีหน้า ให้ทันกับเวลาที่กฎหมายบังคับให้รถปิคอัพใช้เครื่องยนต์ในประเทศตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป นอกจากนี้แล้วก็มีบริษัทนวโลหะอุตสาหกรรมในเครื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ร่วมมือกับบริษัทอีซูซุและนิสสัน ลงทุนไปแล้ว 800 ล้านบาทเพื่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถปิคอัพ แต่ต้องชลอโครงการไว้ชั่วคราวเพื่อรอทิศทางของรัฐบาลในเรื่องการใช้เครื่องยนต์ดีเซล

ทางกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามกระตุ้นให้คนไทยสนใจอุตสาหกรรมเหล็กหล่อ เหล็กทุบ และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างจริงจัง เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญที่จะทำให้เมืองไทยเป็นนิคส์ได้ด้วยขาของตนเอง ส่วนทางบีโอไอให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนเต็มที่ คือ อนุญาตให้ตั้งโรงงานในเขตโซนหนึ่งคือกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ โดยให้ความช่วยเหลือเท่าเทียบกับโรงงานที่ตั้งในโซนสองหรือเขตรอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล

"สิ่งที่เราต้องเร่งทำคือ ให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ มีความรู้มีเทคนิคมีโนว์ฮาวดียิ่งขึ้นกว่านี้ ให้คนไทยสามารถทำแม่พิมพ์ชุดหนึ่งเสร็จภายในสองเดือนเช่นเดียวกับไต้หวัน มิใช่ต้องใช้เวลาหกเดือนหรือบางทีปีหนึ่งก็ไม่เสร็จแก้แล้วแก้อีก" วิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ หรือ MIDI สะท้อนภาพอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของไทย

ในขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลางของญี่ปุ่นกำลังไหลบ่ามาทางเอเชียมากขึ้น ย่อมนำเอาความชำนาญและโนว์ฮาวมาสู่ภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่งเสมือนตามมาขายสินค้าให้ถึงแหล่งผู้ผลิตรายใหญ่เลย ถ้าคนไทยยังคงขายเพียงแรงงาน โดยปราศจากการพัฒนาด้านฝีมือและเทคโนโลยี เมืองไทยคงกลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ต้องขึ้นอยู่กับนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเคย

"อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่มีอยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย จนหลายสิบปีผ่านไป คนไทยยังคงลืมที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมด้านนี้อย่างแท้จริง" อาวาย่า วิจารณ์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การขาดแคลนช่างฝีมือมีคุณภาพเป็นคำวิจารณ์ที่นักลงทุนญี่ปุ่นพูดย้ำสม่ำเสมอ ล่าสุดมารูโกะ ซึ่งมีตำแหน่งประธานสมาคมญี่ปุ่นในไทยและรองประธานสภาหอการค้าญี่ปุ่นก็มีความเห็นเดียวกัน

การขาดแรงงานฝีมือมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีด้วยเท่านั้น แม้แต่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็ถูกวิจารณ์โดยนักเขียนและนักธุรกิจชื่อ YUSUKE FUKADA ในหนังสือของเขาเกี่ยวกับการลงทุนในเอเชียชื่อว่า SHIN SHIN TOYO JIJO ซึ่งพิมพ์ขายครั้งแรกเดือนธันวาคม 2533 พูดถึงสำนึกคนงานไทยว่า มาตรฐานของคนไทยให้ค่าเพียง 75% ก็ถือว่าทำงานได้ดีแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่ต้องทำให้ถึงเต็ม 100%

นอกเหนือจากนี้ก็มีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือ INFRASTRUCTURE โดยเฉพาะปัญหาการจราจรจะกลายเป็นตัวผลักดันให้นักลงทุนหนีห่างไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มาแรงอย่างเวียดนามในขณะนี้ มารูโกะคิดว่าเมืองไทยยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุน

รวมทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ควรลดข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการลงทุนของคนไทย และคนต่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากหุ้นส่วนท้องถิ่นและต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ขนาดเล็กและกลางไม่มีประสบการณ์การตั้งโรงงานในต่างประเทศ

การขอให้ลดข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกับการสำรวจของ JSBC ในเรื่องสาเหตุที่ทำให้ต้องถอนการลงทุนปรากฏว่านักลงทุนญี่ปุ่น 30.6% มีปัญหาขัดแย้งกับหุ้นส่วนท้องถิ่นและ 27.1% เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายทุนของธุรกิจญี่ปุ่นระลอกนี้คงไม่หวือหวาเช่นสมัยปี 2531 เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาต่อเนื่องมาหลายปี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.