"เนสท์เล่ไทยสู่ศตวรรษที่ 2"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

"เราจะคืนกำไรสู่สังคมนับจากนี้ต่อไป" อังเดรอัส ชแลปเฟอร กรรมการผู้จัดการกลุ่มเนสท์เล่ไทย กล่าวด้วยท่าทีที่แฝงไว้ด้วยความภูมิใจอย่างมากมายในวันงานฉลองครบ 100 ปีเนสท์เล่ไทย

ชแลปเฟอร์บอกว่าเนสท์เล่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้ว เพราะผลิตภัณฑ์อาหารหลายประเภทของเนสท์เล่ที่จัดจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของครอบครัวคนไทยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นม ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นกาแฟภายใต้ชื่อเนสกาแฟ หรือ ไมโลเครื่องดื่มช็อกโกแลต เป็นต้น

ยอดขายของเนสท์เล่ในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ตัวเลขที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งชแลปเฟอร์มีความมั่นใจว่า ปรัชญาอันแน่วแน่ของเขาที่จะผลิตสินค้าอาหารให้มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานไปโดยตลอดเช่นนี้ จะสามารถก้าวเข้าสู่เป้าหมายยอดขายที่ 10,000 ล้านบาทได้ในอนาคตอันใกล้นี้

"ดูจากอัตราการเติบโตของเนสท์เล่ สามารถขยายตัวได้ปีละประมาณ 20% หากมันเป็นเช่นนี้ เป้าหมายยอดขาย 10,000 ล้านบาทจึงดูว่าไม่ไกลเกินฝันของเราเท่าไรนัก" ชแลปเฟอร์กล่าว

หากย้อนดูการเกิดเนสท์เล่ในเมืองไทยเมื่อปี 2436 คนไทยจะรู้จักสินค้าตัวแรกของเนสท์เล่จากผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน ตรา "แหม่มทูนหัว" ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงแรกสินค้านำเข้าจากต่างประเทศพากันหลั่งใหลเข้าเมืองไทยอย่างมากมาย เพราะเป็นช่วงที่คนไทยกำลังเห่อของนอก นมข้นหวานตราแหม่มทูนหัวจึงเป็นสินค้าอีกตัวหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมจากคนไทยด้วย

ผลิตภัณฑ์นมของเนสท์เล่เติบโตในตลาดมาจนกระทั่งปี 2511 สามารถก่อตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมข้นหวานในประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัทยูไนเต็ด มิลค์ จำกัด และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัดในปี 2527 พร้อมทั้งลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง โดยเร่งผลิตสินค้าในประเทศให้ได้มาตรฐานเพื่อเป็นการชดเชยการนำเข้า

โรงงานในระยะแรกได้ผลิตนมข้นหวานและนมสดสเตอริไลส์ตราหมีออกสู่ตลาดทั้งนมข้นหวาน และนมสดสเตอริไลส์ได้รับความนิยมอย่างสูง ประกอบกับกลยุทธการตลาดของเนสท์เล่ที่ทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ ทำให้ยอดขายของสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดต้องขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เนสตุ้ม ซีรีแล็คและแม็กกี้

นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับนักลงทุนฝ่ายไทยคือ ประยุทธ มหากิจศิริในปี 2515 ตั้งโรงงานผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปภายใต้ชื่อเนสกาแฟและดีโก้ นับได้ว่าในปีของการก่อตั้งโรงงานผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปนั้นถือเป็นรายแรกของประเทศไทยและห่างกันอีก 20 ปี คือในปี 2535 ก็ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตกาแฟผงขึ้นอีกเป็นโรงที่ 2

เนสท์เล่จับจุดการก่อกำเนิดตัวสินค้าของเขาให้เป็นรายแรกเสมอ นั่นคือ ทิศทางที่เด่นชัดในการเติบโตของบริษัทเชื้อสายสวิส การเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตรายแรกของเมืองไทยจึงเกิดขึ้นอีกตามนโยบายเมื่อปี 2527 โรงงานนี้ผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไมโล และคาร์เนชั่น

เมื่อ 5 ปีก่อน ผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อของเนสท์เล่ยังคงอยู่ภายให้การดูแลตลาดจัดจำหน่ายของบริษัทดีทแฮล์ม ซึ่งเป็นบริษัทการตลาดที่มีเชื้อสายเดียวกัน โดยถือหุ้นร่วมกันในแผนกสินค้าเนสท์เล่ เนสท์เล่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจดีทแฮล์มให้จัดจำหน่ายสินค้าของตนเพราะเห็นผลงานอันลือเลื่องมาแล้ว จากการจำหน่ายเครื่องดื่มโอวัลติน ชื่อเสียงของโอวัลตินดังติดเพดานตลาด เมื่อถูกโยกไปให้บริษัทเจ้าของจัดจำหน่ายเอง เนสท์เล่จึงนำไมโลและนมตราหมีเข้าสวมรอยแทน

ในขณะที่ให้ดีทแฮล์มจัดจำหน่ายให้ เนสท์เล่ก็พยายามศึกษาตลาดและเตรียมพร้อมสำหรับการทำตลาดเอง ในปี 2532 ชแลปเฟอร์ดึงสินค้าทั้งหมดกลับมาทำตลาดเอง พร้อมปรับองค์กรเนสท์เล่ใหม่หมดเป็นกลุ่มเนสท์เล่ไทยประกอบไปด้วยบริษัทในเครือ 6 แห่ง มีผลิตภัณฑ์กว่า 30 ชนิด อาทิ เนสกาแฟ นมผงเนสท์เปร นมสดยูเอชที นมตราหมี ไมโล ซีรีแล็ค นมถั่วเหลืองลิบบี้ส์ สมาร์ทตี้ ฯลฯ เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนติดอันดับต้นของการแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ชแลปเฟอร์เคยกล่าวไว้ว่า เขาจะมุ่งไปข้างหน้าด้วยการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน แต่ยังคงมีทิศทางที่แน่นอนคือ อยู่ในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นม และเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสำเร็จรูปนั้น ยังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาพฤติกรรมของตลาดเพราะพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยนับวันจะเปลี่ยนแปลงเร็ว การยอมรับในอาหารกึ่งสำเร็จรูปยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร และมาร์จินจากสินค้าประเภทนี้ก็มีน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ประภทเครื่องดื่มและอาหารนม ดังนั้นการมองตลาดสินค้าใหม่ของเขาก็ยังคงอยู่ในแนวเดิม

อย่างไรก็ตามแผนในศตวรรษที่ 2 ของเนสท์เล่ไทยนั้น ชแลปเฟอร์กลับมองไปไกลถึงอาณาเขตรอบประเทศบ้านเรา โดยการเปิดบริษัทเนสท์เล่ อาเซียน (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเพื่อเป้าหมายในการผลิตสินค้าส่งออกสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งขณะนี้เนสท์เล่เป็นบริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมในโครงการ ASIAN INDUSTRIAL JOINT VENTURE (AIVJ) เพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุดิบซึ่งกันและกันในเชิงอุตสาหกรรมระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกันจึงเปิดบริษัทเนสท์เล่ อาเซียนขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยสินค้าตัวแรกที่เนสท์เล่ อาเซียน (ประเทศไทย) จะผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดอาเซียน คือ คอฟฟี่เมท ส่วนแผนในประเทศนั้น ชแลปเฟอร์กล่าวว่า

"เราจะพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีประสิทธิภาพตามที่เราหวังก่อน แล้วอย่างอื่นซึ่งหมายถึงเป้าหมายยอดขายจะตามมาเอง" ซึ่งชแลปเฟอร์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า ฐานธุรกิจของเขาเมื่อรวมกันใน 6 บริษัทในเครือจะมีมูลค่าประมาณ 8,000 - 9,000 ล้านบาท เขาขอเพียงให้การขยายตัวของฐานธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างต่ำอยู่ที่ 15% ของมูลค่าธุรกิจของเขาเท่านั้นพอ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.