"สาธิตเกษตร…โรงเรียนสอนเด็กออทิสติคแห่งแรกในเอเซีย"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

และแล้วการรักษาเด็กที่เป็นโรคออทิสติคอย่างเป็นระบบ คือใช้ทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการศึกษา โดยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ปี 2533 ก็ปรากฏผลที่ชัดเจนแล้วว่าเด็กมีไอคิวหรือพัฒนาการทางสติปัญญาเพิ่มขึ้น

ออทิสติคจัดเป็นความพิการประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า DEVELOPMENT DISORDER คือ เด็กจะมีความบกพร่องด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ไม่พูดเมื่อถึงวัยอันควร ไม่รู้จักสบตาคน การสื่อความหมายจึงไม่สามารถกระทำได้

"สาเหตุสำคัญยังไม่ปรากฏแต่คาดว่า "ความเครียด" ของมารดาระหว่างตั้งครรภ์น่าจะมีส่วนไม่น้อย" ดารณี อุทัยรัตนกิจ พีเอชดีทางจิตวิทยาโรงเรียนจากอเมริกาให้ข้อสังเกต

ขณะที่ทางการแพทย์โดยงานวิจัยของ พ.ญ. เพ็ญแข ลิ่มศิลา จิตแพทย์เด็กชื่อดังชี้แจงว่า "เป็นความผิดปกติของสมองที่มีเซลล์มากกว่าคนปกติ และเบียดกันอย่างหนาแน่นในส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมด้านความจำ อารมณ์ การเรียนรู้และแรงจูงใจ"

และจากสาเหตุข้างต้นทำให้อาการของเด็กออทิสติคแตกต่างจากเด็กปกติทั่วไปในเรื่องความจำที่ดีเป็นเลิศ แต่จะไม่พูดเมื่อถึงวัยอันควรโดยเฉพาะในวัย 3 ขวบ หรือพูดก็เป็นภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่สบตาและไม่สนใจบุคคลรอบข้าง

โดยปกติแล้วเด็กออทิสติคสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา แต่จะเป็นการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น

ขณะที่ทางโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ที่มี พ.ญ. เพ็ญแขเป็นผู้อำนวยการ จะให้การรักษาควบคู่กันไประหว่างทางการแพทย์กับการศึกษาโดยมีการตั้งโรงเรียนในโรงพยาบาลที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปีแล้ว

เพราะเด็กออทิสติคไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน โดยเฉพาะเด็กออทิสติคที่มีปัญญาดี ความสามารถในการพัฒนาการจะเหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ไม่พูดเหมือนเด็กปกติ

ทันทีที่เด็กเริ่มมีอายุ 4 ขวบ และมีการพัฒนาในระดับหนึ่ง คุณหมอก็จะส่งไปเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ อนุบาลสมถวิล หรือโรงเรียนราชวินิตเพื่อฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับเด็กปกติ

แต่ปรากฏว่าเด็กจำนวนไม่น้อยมีอาการถดถอยต้องส่งกลับโรงพยาบาลเริ่มรักษาใหม่ เพราะเด็กออทิสติคจะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก การเอาใจใส่และการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง สถานที่เรียนสำหรับเด็กออทิสติคจึงเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว

"คุณหมอเพ็ญแขขอความร่วมมือมา ทางเราเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะเด็กจะได้รับทั้งการรักษาและการศึกษาควบคู่กันไป จึงเสนอเรื่องต่อทางมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ได้รับอนุมัติ และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นโครงการระยะยาวนานถึง 6 ปี" จงรักษ์ ไกรนาม ครูใหญ่โรงเรียนสาธิตเกษตรเล่าถึงความเป็นมาของโครงการ

คงไม่ใช่เพียงความพร้อมด้านสถานที่หรือความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารทั้งสองแห่งที่มีการร่วมงานกันมาโดยตลอด แต่ความพร้อมด้านบุคลากรน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อย

โดยเฉพาะดารณี ที่เพิ่งคว้าดีกรีด็อกเตอร์ด้านจิตวิทยาโรงเรียนมาหมาด ๆ จากอเมริกาที่สามารถตรวจวินิจฉัย บำบัด ตลอดจนจัดการเรียนการสอนเด็กออทิสติคได้เป็นอย่างดี ดารณีจึงมีหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวท์ตลอดจนการเทรนบุคลากรที่ร่วมในโครงการ

"ค่าเล่าเรียนของเด็กออทิสติคประมาณปีละ 50,000 บาทต่อปี แต่เรารับเด็กได้ปีละ 5 คนเท่านั้น เพราะเราไม่มีบุคลากรด้านนี้อย่างเพียงพอ…ปีนี้เป็นปีที่ 4 ขณะที่มีเด็กในโครงการปัจจุบันรวม 17 คน เพราะบางคนเรียนไม่ได้ก็ต้องออกกลางคัน" จงรักษ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ไม่ใช่เด็กออทิสติคทุกคนจะมีโอกาส เข้าร่วมในโครงการเฉพาะเด็กออทิสติครักษาตัวอยู่กับทางโรงพยาบาลยุวประสาทฯ มาตั้งแต่เริ่มแรกและมีการพัฒนาทางด้านอารมณ์หรือสามารถควบคุมพฤติกรรมตนเองได้บ้างเท่านั้นที่มีโอกาสดังกล่าว

ในปีแรกเด็กทั้ง 5 คน จะเรียนร่วมกันโดยมีครู 2 คนเป็นผู้ดูแล ยกเว้นวิชาศิลปะ พละศึกษา และดนตรีที่จะเรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่หากเด็กมีความชำนาญหรือความถนัดในวิชาใดเป็นพิเศษก็จะแยกให้ไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในวิชานั้น ๆ ทันทีที่ขึ้น ป. 2

นับแต่ชั้น ป. 3 เป็นต้นไปการเรียนจะร่วมกับเด็กปกติตลอดวัน โดยแยกไปห้องละ 2 คนและ 3 คน ภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดของครูในโครงการพิเศษ ขณะที่ช่วงปิดเทอมเด็กเหล่านี้จะกลับไปที่โรงพยาบาลยุวประสาทฯ เพื่อให้แพทย์สังเกตการพัฒนา และตรวจร่างกาย

การร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนระหว่างผู้ปกครองเด็ก นักจิตวิทยา และคุณหมอ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเด็กออทิสติค น่าจะมีส่วนไม่น้อยต่อการประเมินผลล่าสุดที่แสดงถึงไอคิวหรือการพัฒนาด้านสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

เด็กออทิสติคหลายคนสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กปกติไม่ว่าจะเป็นวิชาสังคมการเขียนคำยาก หรือวิชาคำนวณ กรณีของ "น้องพลัม" ที่ชนะเลิศจากการแข่งคณิตคิดเร็วในระดับชั้น ป. 4 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

"เราคิดว่าโครงการของเราได้ผลนะ เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น แม้ว่าความสัมพันธ์กับสังคมยังไม่ดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกต่อไป" ดารณีกล่าวและว่า

"มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเปิดรับเด็กต่อไปหลังจากที่ครบเวลาโครงการที่กำหนดไว้ 6 ปี เพราะมีปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนบุคลากร แต่เด็กที่อยู่ในโครงการนี้สามารถเรียนต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่เขาสามารถเรียนได้ และเราก็ติดตามผลตลอดไป"

คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย หากโครงการจัดการศึกษาพิเศษไม่ได้รับการสานต่อ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่งไม่เพียงเพื่อสนองต่อความต้องการที่มีอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบุคคลแต่ผลทางอ้อมที่เกิดกับสังคมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.