"ยางสยามใหญ่กว่าที่วาดหวัง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ วันนี้ ยางสยามในเครือซิเมนต์ไทย เป็นเครือข่ายที่ใหญ่มาก ๆ ในวงการผู้ผลิตและค้ายางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจยางรถยนต์ของปูนซิเมนต์ไทยเมื่อ 11 ปีก่อนด้วยการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทไฟร์สะโตนซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 30% ในปี 2525 เป็นทิศทางที่ถูกต้อง หลังจากที่กลุ่มปูนใหญ่ เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ด้วยการตั้งบริษัทนวโลหะไทยเมื่อปี 2520

จากจุดเริ่มต้นของการซื้อหุ้น 30% ในบริษัทไฟร์สะโตน (ประเทศไทย) แล้วกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยางสยามในเวลาต่อมา ถึงวันนี้ การขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของปูนซิเมนต์ไทย จึงมีมากกว่าบริษัทยางในประเทศไทยทุก ๆ บริษัท

จนมีการวิเคราะห์กันว่ายางสยามกำลังจะกลายเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี!!!

แต่ชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการยางสยามเชื่อว่า ยางสยามยังไม่น่าจะใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้เครือข่ายของยางสยามในวันนี้ มีมากกว่าที่คาดก็ตาม

ปัจจุบัน เครือข่ายของยางสยามประกอบด้วย บริษัทสยามมิชลินที่ปูนซิเมนต์ไทย ยางสยามและมิชลินร่วมลงทุนตั้งบริษัทในวงเงิน 2,010 ล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 1,130 ล้านบาทในปี 2531 เพื่อผลิตยางเรเดียลเสริมใยเหล็กสำหรับรถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก

บริษัทยางสยามอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปีก่อนโดยการร่วมทุนระหว่างยางสยาม ปูนซิเมนต์ไทยและมิชลิน ด้วยทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท เพื่อผลิตยางรถบรรทุกใหญ่และรถโดยสารภายใต้เครื่องหมายการค้า "สยามไทร์" และมีแผนที่จะผลิตยางเรเดียลรถบรรทุกและรถโดยสาร "มิชลิน" ในอนาคต

บริษัทสยามอัลลอยวีลอุตสาหกรรม ตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 มีทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท ซึ่งยางสยามถือหุ้นทั้งหมดเพื่อผลิตล้ออลูมิเนียมอัลลอยสำหรับรถยนต์นั่งและรถบรรทุกยี่ห้อ "ASTON" โดยอาศัยเทคโนโลยีจากบริษัทแลมเมอร์ซ เยอรมนี

นอกจากนี้ ยางสยามยังเข้าไปมีส่วนลงทุนในบริษัทอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์คาร์บอนไทยที่มีไทยออยล์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อเป็นฐานในการผลิตวัตถุดิบสำหรับการผลิตยางรถยนต์

การเติบโตของยางสยามจึงเป็นการเติบโตอย่างมีระบบและมีการวางแผนอย่างดี!!

ชลาลักษณ์ยอมรับว่าการวางแผนขยายงานของยางสยามมาจากการศึกษาและวิเคราะห์ เพราะอุตสาหกรรมยางเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนในเรื่องงานวิจัยและพัฒนาสูงมาก

เมื่ออุตสาหกรรมเครื่องยนต์ของเครือซิเมนต์ไทยมีการขยายตัว มีหรือที่ยางสยามจะหยุดอยู่กับที่ได้

แต่การขยายตัวของผู้ผลิตยางรถยนต์ ไม่ได้มีเพียงยางสยามเท่านั้น

"ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียและไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีผู้ผลิตยางรถยนต์ตั้งโรงงานในประเทศมาก คือมีทั้งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นคือบริจสโตน (ที่เป็นผู้ซื้อหุ้นไฟร์สโตนอันเป็นผลให้ยางสยามต้องเลิกผลิตยางไฟร์สโตนและผลิตยางสยามไทร์แทน) ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาคือกู๊ดเยียร์และยักษ์ใหญ่ของยุโรป คือมิชลินที่มาร่วมทุนกับยางสยามนั่นเอง" ชลาลักษณ์กล่าว

การแข่งขันในประเทศไทย จึงมีมากกว่าหลาย ๆ ประเทศ

"ยางรถยนต์นี่เป็นสินค้าที่ไม่สามารถแข่งขันเรื่องราคาได้ อย่างให้ลดลงมาเหลือเส้นละไม่กี่บาท ก็ไม่มีใครซื้อไปเก็บเอาไว้เกินกว่าความจำเป็นต้องใช้" ชลาลักษณ์กล่าว

แต่กรรมการผู้จัดการยางสยามเชื่อว่า ไม่ว่าการแข่งขันจะรุนแรงแค่ไหนพวกเขาจะทำได้ดี

การที่วันนี้ ยางสยามมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดยางรถยนต์ประมาณ 20% ในตลาดผู้ประกอบรถยนต์ และประมาณ 44% ในตลาดทดแทน ดูเหมือนว่าจะเป็นสัญญาณบอกถึงความสำเร็จของยางสยามเป็นอย่างดี

"ตลาดโรงงานประกอบรถยนต์นั้นเป็นเรื่องปกติที่ผู้ผลิตยางญี่ปุ่น(บริดจ์สโตน-ไฟร์สโตน) จะมีมาร์เก็ตแชร์สูงเพราะรถยนต์บ้านเราเป็นรถญี่ปุ่น" นักการตลาดชี้ให้เห็นถึงการที่มาร์เก็ตแชร์ในตลาดโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายตะวันตกมีน้อยกว่าญี่ปุ่น กล่าวคือ ในตลาดนี้บริดจ์สโตนและไฟร์สโตน มีมาร์เก็ตแชร์รวมถึง 70% โดยประมาณ และกู๊ดเยียร์มีส่วนแบ่งแค่ 10%

ชลาลักษณ์บอกถึงความสำเร็จของยางสยามว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่เครือข่ายการตลาดที่แข็งมากนั่นเอง

แหล่งข่าวในยางสยามเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า เครือข่ายทางตลาดของยางสยามคือดีลเลอร์จำนวนกว่า 600 รายในประเทศ สามารถที่จะทำตลาดได้ดี เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ

ความแตกต่างก็คือ ตัวแทนของบริษัทยางอื่น ๆ มีรูปแบบเป็นดิสตริบิวเตอร์ ที่เน้นการขายส่งมากกว่าขายปลีก ที่เป็นรูปแบบของดีลเลอร์ของยางสยาม ทำให้ยางสยามสามารถที่จะกระจายสินค้าสู่ตลาดทดแทนได้ดี แม้จะมีจุดอ่อนในตลาดโรงงานรถยนต์ก็ตาม

วันนี้ของยางสยาม จึงเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของปูนซิเมนต์ไทย ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมยางรถยนต์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.