"อุ๋ย" ทำหุ้นยับ 6 แสนล้าน เดือนเดียวต่างชาติเทขาย 3 หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(15 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลการชี้ทิศนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของ ‘หม่อมอุ๋ย’ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ประเมินพบการลงทุนตลาดหุ้นแค่ 1 เดือนบอบช้ำหนัก ต่างชาติถอนเงินเทขายหุ้นทิ้งแล้วกว่า 3 หมื่นล้าน พร้อมพามูลค่าตลาดรวมหายวับไป 6 แสนล้าน ดัชนีร่วงแล้วกว่า 84 จุด ด้านโบรกเกอร์หดหู่ ไม่มั่นใจเมื่อไหร่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจำได้ขึ้นใจมากที่สุด

จากความหวัง ความเชื่อมั่นว่าจะเป็นบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทิ้งภาระไว้ แต่การชี้ทิศเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาท พ.ร.บ.ต่างด้าว ที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับผิดชอบล้วนแล้วแต่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ-การลงทุนให้เลวร้ายลงอีก

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คนนี้จึงกลายเป็นรัฐมนตรีที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจในผลงาน ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็จัดไว้ในกลุ่มรัฐมนตรีที่ต้องทบทวนการทำงาน

**ตลาดหุ้นอักเสบช้ำแล้วช้ำอีก

หากประเมินผลกระทบจากมาตรการและนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดอย่างเป็นรูปธรรม ตลาดหุ้นจะเป็นดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนโดย “ผู้จัดการรายวัน” ได้สำรวจพบว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา นับแต่ธปท.ประกาศมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยการหักเงินสำรองที่นำเข้าจากต่างประเทศ 30% จนเกิดเหตุการณ์ “อังคารทมิฬ” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ผนวกกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และล่าสุดการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าที่ ธปท. จะประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยดัชนีฯอยู่ที่ 730.55 จุด เทียบกับล่าสุด (12 ม.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 645.71 จุด พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 84.84 จุด หรือคิดเป็น 11.61%

ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ 5.45 ล้านล้านบาท เหลืออยู่ 4.85 ล้านบาท หรือมาร์เกตแคปหายไปเกือบ 6 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 11.00%

ดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงดังกล่าว สืบเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศกังวัลกับมาตรการของธปท. บวกกับปัจจัยเรื่องเหตุการณ์ลอบวางระเบิด และการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จึงได้กระหน่ำเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 ธันวามคม 2550 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 28,617.87 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 7,946.82 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 20,671.04 ล้านบาท

**ความเสียหายที่มีไม่มีใครรับผิดชอบ?

แปลกแต่จริง ความเสียหายของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยเฉพาะความผิดพลาดที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความไม่เชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยของต่างชาติ อย่างมาตรการสกัดกั้นค่าเงินบาทนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กลับปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างคาใจนักลงทุน

ทั้งนี้ทราบกันดีว่า มาตรการดังกล่าวประกาศใช้แล้วถูกแก้ไขในภายหลังชั่วระยะเวลาวันเดียวจนหุ้นผันผวนขึ้นลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และ เสียหายมากที่สุดภายในวันเดียว

หลังจากวันนั้นมาถึงวันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่เคยจะตอบให้ชัดเจน กระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนจากเหตุป่วนเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า และ การเข็นกฎหมายนอมินี แก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าวที่ต่างชาติยิ่งกังวลหนัก ความเสียหายในตลาดหุ้นยิ่งถูกถามมากขึ้นว่า ใครต้องรับผิดชอบ?

ประเด็นสำคัญ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อสังคมถึงรองนายกฯและรมว.คลังคนนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร เพิกเฉยไม่สนใจสั่งการให้ตรวจสอบว่า มีใครได้ประโยชน์จากการออกมาตรการที่พลิกไปพลิกมา

“ วันนี้คุณชายอุ๋ยยังไม่มีการตรวจสอบ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านไม่ได้สั่งให้ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ลงไปตรวจสอบว่าใครได้กำไรบ้างในการรู้ข้อมูลอันนี้ในการซื้อขายหุ้นในวันนั้น”นายสนธิ กล่าว(อ่าน 12 คำถามถึง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล้าตอบไหม? หน้า 10)

**ต่างชาติไปแล้วไปลับไม่รู้เมื่อไหร่กลับ

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีความชัดเจน หลังจากที่ได้มีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องจากความกังวลมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรของธปท. และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน

นางสาวศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศ ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนยังไม่มากนัก บวกกับยังคงไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งนี้หากนักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนอย่างได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องมี สัญญานที่ชัดเจนเรื่องมาตรการต่างๆ จากทางภาครัฐ และการลอบวางระเบิด ซึ่งขึ้นอยู่ กับความคืบหน้าและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทางภาครัฐบาล

" เรามองว่ามุมมองของนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับเข้ามาลงทุน เพราะยังคงรอปัจจัยบวกใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน ขณะเดียวกันปัจจัยเดิมๆ เองก็ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นต่างชาติจึงได้ชะลอการลงทุนจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเรียบร้อยก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง "

นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศ ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณการเข้ามาลงทุนนักลงทุนต่างชาติเริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากมาตรการกันเงินสำรองเงินนำเข้า 30% อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากจนเกินไป ขณะที่ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเอง คาดว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขสถานการณ์ได้ ซึ่งภายใน 1 - 2 เดือนนี้จะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

"เราคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะขายไม่มากแล้ว เพราะว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนตัวลง และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากทางภาครัฐให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ ดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับแนวต้านที่ 700 จุด"นายพงศ์พันธุ์กล่าว

**ความหวังเดียวการเมืองนิ่ง

นายเกียรติก้อง เดโช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซิกโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยบ้างแล้ว แต่ต้องติดตามว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องหรือไม่ จากก่อนหน้าที่มีแรงขายออกมาเป็นจำนวนมาก และคาดว่าในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติจะหยุดซื้อ หลังจากที่มีแรงซื้อเข้ามาอย่างเต็มที่แล้ว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง รวมทั้งยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการลงทุน

" ปัจจัยที่ดึงให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ หุ้นขนาดใหญ่ปรับลดลงมามากแล้ว จึงเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นๆ และปัจจัยที่ 2 คือ เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืน หลังจากที่ทิ้งหุ้นออกมามากแล้ว" นายเกียรติก้อง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2550 นี้ แรงขายของนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มลดลงและการลงทุนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าจะไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบการลงทุนไม่ว่า สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศจะเริ่มคลี่คลายและชัดเจนขึ้น รวมถึงการเข้ามาเก็งกำไรจากการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.