|

"แอร์เอเชีย"ป่วนใช้ดอนเมือง อ้างไม่แก้ปัญหา-ต้นทุนเพิ่ม
ผู้จัดการรายวัน(15 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยแอร์เอเชียสำแดงฤทธิ์ป่วนใช้ดอนเมืองจุดต่อจุด (Point to Point) เฉพาะเส้นทางภายในประเทศ อ้างไม่แก้ปัญหา รัฐมองไม่รอบด้านผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปฎิบัติตามไม่ได้ ด้านกระทรวงคมนาคมประกาศชัดเป้าหมายใช้ดอนเมืองต้องไม่กระทบฮับสุวรรณภูมิยันรูปแบบเหมาะสมที่สุด ขณะที่ “ ดีดีการบินไทย”ร่อนหนังสือขอใช้อาคารภายในประเทศที่ดอนเมืองยึดความสะดวกผู้โดยสาร ส่วน“โชติศักดิ์”ไม่ขัดข้องและใช้อัตราค่าธรรมเนียมการบินเท่าสุวรรณภูมิเชื่อความคล่องตัวจะช่วยลดต้นทุนการบินได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การพิจารณาและมีมติให้เที่ยวบินแบบ จุดต่อจุด (Point to Point) เส้นทางภายในประเทศ กลับมาใช้ท่าอากาศยานดอนเมือง อีกครั้ง ของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เมื่อการประชุมวันที่ 11 ม.ค. 2550 ที่ผ่านมานั้น มีการศึกษาและประเมินผลกระทบข้อดีข้อเสียในหลายแง่หลายมุมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยข้อสรุปที่ออกมานั้น ประเด็นหลักคือไม่ทำให้กระทบต่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (ฮับ) ของสนามบินสุวรรณภูมิ แน่นอน เพราะเที่ยวบินระหว่างประเทศยังคงอยู่ที่สุวรรณภูมิทั้งหมด
ซึ่งจะแตกต่างจากการที่ให้เที่ยวบินแบบ จุดต่อจุด (Point to Point) เส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ หรือ เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Lowcost Airline) กลับมาใช้ดอนเมืองเพราะจะกระทบต่อความเป็นฮับของสุวรรณภูมิซึ่งไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้ การมีสนามบิน 2 แห่ง จะต้องมีการแบ่งแยกรูปแบบการใช้ที่ชัดเจนและสนามบินรองต้องสนับสนุนสนามบินหลัก
ด้านนายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียกล่าวว่า ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2550 จะทำหนังสือถึง กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางอากาศ ทอท.เพื่อชี้แจงถึงปัญหาที่ไม่สามารถโยกย้ายการบินมาที่ดอนเมืองได้ ภายใต้โมเดลที่กำหนดให้ใช้สำหรับ เที่ยวบินแบบ จุดต่อจุด (Point to Point) เฉพาะเส้นทางภายในประเทศ เพราะจะทำให้ไทยแอร์เอเชียต้องแบ่งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ออกเป็น 2 ชุดในการปฎิบัติงานที่สุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่ม รวมถึงมีปัญหาเรื่องตารางการบินที่ไปต่างประเทศด้วย
ซึ่งตนเห็นว่า รูปแบบดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆ และทำให้สุวรรณภูมิยังคงแออัดเหมือนเดิม เพราะการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำในแต่ละปีนั้นสูงมากต่อเนื่องถึงปีละ 20-30% ไปอีก 4-5 ปี ซึ่งในหลักการควรใช้ดอนเมืองสำหรับเที่ยวบินแบบ Point to Point แต่ควรเปิดกว้างทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะการกำหนดเฉพาะเส้นทางในประเทศจะมีไม่กี่สายการบินเท่านั้นที่เข้าโมเดลนี้
นายทัศพลกล่าวว่า การตัดสินแบบนี้เหมือนภาครัฐไม่เห็นปัญหาที่ชัดเจน มองไม่รอบด้าน ไม่มองที่ผู้ประกอบการว่าจะปฎิบัติได้หรือไม่ และเห็นว่าการให้เฉพาะ Point to Point เส้นทางในประเทศเป็น ดับเบิ้ลแสตนดาร์ท และหากให้ทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศใช้ได้หมด ไทยแอร์เอเชียจะได้เปรียบการบินไทยแน่นอน
โดยก่อนหน้านี้ นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เรียกประชุมผู้บริหาร ทอท. กรมการขนส่งทางอากาศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สมาคมผู้ดำเนินธุรกิจการบิน (AOC) และผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อให้ทุกฝ่ายซึ่งเป็นผู้ใช้สนามบินสุวรรณภูมิได้เสนอความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณา เนื่องจากการใช้สนามบินดอนเมืองนั้นจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิในเรื่องความแออัด การลงทุนขยายขีดความสามารถและการซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่บางส่วน
นายสรรเสริญกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญ คือจะต้องมีการทบทวนแผนแม่บทการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากแผนที่ ทอท. เสนอมานั้น มีแต่การลงทุนก่อสร้างและการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสุวรรณภูมิ โดยมีแผนว่าจะก่อสร้างรันเวย์ถึง 6 รันเวย์ ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาให้เหมาะสมที่สุด
นอกจากนี้จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า นโยบายเดิมนั้นกำหนดให้ใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับไปสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ได้มีการเปลี่ยนมาเป็นให้ใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว ทำให้ปัจจุบัน สายการบินต่างๆขอกลับมาใช้สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นผลจากความไม่สะดวกของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัญหาทั้งสองส่วนนี้ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เพราะมีผลเกี่ยวเนื่องถึงกัน
ดีดีการบินไทยขอใช้อาคารภายในประเทศที่ดอนเมือง
เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่าเมื่อวันที่11 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือถึง นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ว่าตามที่ทอท.วางแผนให้สายการบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อเที่ยวบินกลับไปใช้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยจัดสรรการใช้พื้นที่บริเวณอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 เดิมนั้นเห็นว่าอาจไม่เหมาะสมและทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร เรียกร้องขอกลับไปใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารภายในประเทศเดิม ซึ่งมีสำนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับอยู่แล้ว
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทยกล่าวว่าสภาพของพื้นที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ถูกก่อสร้างเพื่อรองรับเที่ยวบินไทยในประเทศจึงอาจทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิคือผู้โดยสารจะต้องเดินไปไกลกว่าจะออกมายังอาคารผู้โดยสารด้านนอก ระยะทางประมาณเกือบ 1กิโลเมตรซึ่งแตกต่างจากอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่มีระยะทางสั้นกว่าเพียง200 เมตรเท่านั้น
นอกจากนี้เรืออากาศโทอภินันทน์กล่าวว่าในส่วนของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศซึ่งมีการก่อสร้างยื่นออกมาจากตัวอาคารผู้โดยสารจึงทำให้มีพื้นที่สำหรับใช้ในการจอดของเครื่องบินในส่วนที่เป็นสะพานเทียบเครื่องบิน(งวงช้าง)มีจำนวนมากกว่าเพราะสามารถนำเครื่องบินจอดได้ทั้ง2 ฝั่ง ในขณะที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจะใช้สะพานเทียบเครื่องบินได้เพียงฝั่งเดียวรวมทั้งในส่วนที่เป็นลานจอดเครื่องบินระยะไกลของอาคารผู้โดยสารภาทยในประเทศเดิมนั้นจะอยู่ใกล้กับตัวอาคารผู้โดยสารมากกว่า ทำให้ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกและไม่เสียเวลามากนัก
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยกล่าวด้วยว่าในส่วนของการกำหนดว่าให้เที่ยวบินภายในประเทศที่บินแบบจุดต่อจุดกลับมาใช้ที่สนามบินดอนเมืองนั้นอาจทำให้เกิดความสับสนได้เพราะในทางการบินนั้นจะกำหนดแบ่งการใช้งานว่าเป็นสายการบินภายในประเทศหรือระหว่างประเทศเป็นกรอบหลัก ดังนั้นอาจระบุว่าให้รองรับเที่ยวบินภายในปรเทศที่ไม่มีการต่อเครื่องและเป็นไปตามความสมัครใจของสายการบินซึ่งการบินไทยและทราบว่าโอเรียนท์ไทยซึ่งมีการให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศอยู่ด้วยก็พร้อมรับนโยบายดังกล่าวแต่หากเปิดให้มีสายการบินต่างประเทศหรือกำหนดให้เป็นสายการบินต้นทุนซึ่งจะหมายรวมถึงเที่ยวบินระหว่างประเทศด้วย อาจทำให้เกิดปัญหาและเกิดความไม่เท่าเที่ยมในการแข่งขันในธุรกิจการบินได้
เรืออากาศโทอภินันทน์ยืนยันด้วยว่าการกำหนดให้สายการบินภายในประเทศที่ไม่มีการต่อเที่ยวบินกลับมาใช้ที่สนามบินดอนเมืองนั้นจะเป็นการรองรับผู้โดยสารคนไทยเป็นกลุ่มหลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของสนามบินในหลายๆแห่งและคาดว่าในอนาคตอาจทำให้สามารถขยายตลาดเพื่อรองรับผู้โดยสารคนไทยเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วยหลังจากที่มีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการแล้วทางการบินไทยพร้อมที่จะเดินหน้ากำหนดแผนทางธุรกิจได้ทันที แต่ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษารายละเอียดเบื้องต้น
“โชติศักดิ์”ยันไม่ขัดข้องบินไทยใช้ดอนเมือง
นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยกล่าวว่าได้รับแจ้งด้วยวาจาจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทยแล้วซึ่งในหลักการตนไม่ขัดข้องและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโดยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นหลัก ส่วนอัตราค่าระวางต่างๆนั้นจะต้องใช้อัตราเดียวกับที่ประกาศใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิแต่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ต้นทุนการบินถูกลงเพราะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการคมนาคมขนส่งเช่นแท็กซี่ เป็นต้น ส่วนบริการภาคพื้นต่างๆอาจถูกลงได้ เพราะมีความคล่องตัวและระบบหมุนเวียนการใช้งาน ไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอยเที่ยวบินขึ้น-ลงจอดได้เร็วทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง
นายโชติศักดิ์ กล่าวด้วยว่าหลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวสรุปรวมในผลการศึกษาที่ ทอท.จะต้องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการพิจารณาว่าหากจะย้ายเที่ยวบินเช่าเหมาลำซึ่งมีจำนวนไม่มากมาใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารได้หรือไม่ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดในส่วนนี้ ส่วนที่มีการอ้างว่าการเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร2หลังทำให้ภาระติ้นทุนของทอท.เพิ่มนั้นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
เรืออากาศเอกพินิจ สาหร่ายทอง ผู้อำนวยการท่าอากาศดอนเมือง กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของทอท.แต่เหตุผลที่มีการจัดสรรพื้นที่ใช้ประโยชน์บริเวณอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ1 นั้นเนื่องจากมีการใช้งานในปัจจุบันเพื่อรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำอยู่แล้วสามารถที่จะจัดสรรและกั้นพื้นที่เพื่อการใช่ประโยชน์ได้หากมีการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสารทั้งสองแห่งพร้อมกันจะทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|