“ยุวดี”ซุ่มต่อยอดทีวีดาวเทียม เล็งเปิดร้านขายสินค้า-ลุยอีก5ช่อง


ผู้จัดการรายวัน(15 มกราคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เอเชีย เทเลวิชั่นฯ เดินหน้ารุกสื่อโทรทัศน์ ดาวเทียมเต็มสูบ ประเดิมผุด ช่อง “เอช พลัส ชาแนล” หลังพบธุรกิจสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวีไม่แน่นอน แข่งขันสูง คาดปีแรกโกยรายได้กว่า 400 ล้านบาท แย้มเตรียมต่อยอดธุรกิจผุดโมเดลธุรกิจใหม่ พร้อมโฟกัสเปิดตัวช่องใหม่รวม 5 ช่อง ด้านฟรีทีวีปีนี้ คว้ามาได้ 7 รายการ ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ป้อนให้กับ 3 สถานี มั่นใจสิ้นปีรายได้พุ่งก้าวกระโดด แตะ 800 ล้านบาท

นางยุวดี บุญครอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เทเลวิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานในสายธุรกิจสื่อโทรทัศน์มากว่า 20 ปี ยอมรับว่า ปัจจุบันการทำรายการป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีนั้นมีความเสี่ยงด้านการแข่งขันและต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการปรับผังรายการตามนโยบายของแต่ละสถานีนั้น ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจนี้ เพราะกว่ารายการจะเป็นที่รู้จักของผู้ชมต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นการปรับผังบ่อยๆ อาจส่งผลให้ผู้ชมไม่ติดตามรายการดังกล่าวก็เป็นไป

ทั้งนี้จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทฯจะดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ในรูปแบบโทรทัศน์ ดาวเทียมอย่างจริงจังขึ้นมา 1 ช่องสถานี ภายใต้ชื่อ เอช พลัส ชาแนล “h+ Channel” เป็นสถานีโทรทัศน์ ภายใต้คอนเซปต์ในเรื่องของความสุขและสุขภาพที่ดี ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้เริ่มทดลองออกอากาศมาตั้งแต่ 3 มกราคม 2550 และจะออกอากาศแบบเต็มรูปแบบประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้ชมสามารถรับชมผ่านเคเบิ้ลทีวีทั่วประเทศ จานดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซด์ ของ ทรู มั่นใจว่าสิ้นปีจะมีผู้ชมที่สามารถรับชม เอช พลัส ชาแนล กว่า 19 ล้านครัวเรือน

สำหรับเอช พลัส ชาแนลนั้น ทางบริษัทฯมีนโยบาย ที่จะทำให้เป็นสถานีโทรทัศน์ ดาวเทียม แบบฟรีทีวี คือ จะไม่เรียกเก็บค่าบริการแต่อย่างไร ดังนั้นรายได้หลักจึงมาจากค่าโฆษณา ทั้งในรูปแบบการลงโฆษณาคั่นรายการ หรือในรูปแบบ เอ็กซ์คลูซีฟ สปอนเซอร์ โดยในขณะนี้มีลูกค้าติดต่อขอลงโฆษณาในแต่ละรายการค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ อาทิ เช่น โรงพยาบาล น้ำดื่ม และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท

ส่วนรายการต่างๆที่นำเสนอนั้น จะมีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบเรียลิตี้ วิชาการ และบันเทิง โดยกว่า 50% จะเป็นรายการสด ขณะที่รายการที่ออกอากาศนั้นกว่า 70% ทางบริษัทฯจะเป็นผู้ผลิตเอง และกว่า 30% จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ

นอกจากนี้บริษัทฯยังเตรียมงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้ชมทั่วไปอีกด้วย

“การที่หันมาดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น การรับชมรายการโทรทัศน์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นรายการที่ตัวเองชอบมากขึ้น ขณะที่เวลาในการรับชมจะน้อยลง ดังนั้นจึงมองว่า โทรทัศน์ ดาวเทียมจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้ชมจะให้ความสนใจ เพราะรายการส่วนใหญ่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคไดเป็นอย่างดี ดังเช่น เอช พลัส ชาแนล ที่จะตอบสนองกลุ่มผู้ชมที่ห่วงใยและใส่ใจสุขภาพนั้นเอง”

นางยุวดี กล่าวต่อว่า การทำธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม จะมีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างแบรนด์เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ เนื่องจากสัมปทานในการเปิดสถานีครั้งนี้มีระยะเวลากว่า 30 ปี ดังนั้นระยะเวลาดังกล่าว สามารถที่จะพัฒนาแก้ไข จุดบกพกพร่อง และต่อยอดธุรกิจต่อไป ซึ่งสำหรับช่อง เอช พลัส ชาแนล นั้น หลังจากที่แบรนด์แข็งแกร่งแล้ว ทางบริษัทฯมองว่าจะมีการต่อยอดธุรกิจ เช่นเดียวกัน

โดยการต่อยอดธุรกิจครั้งนี้ อาจจะเป็นการทำโมเดลธุรกิจขึ้นมาใหม่ แต่มีความสอดคล้องกับ เอช พลัส ชาแนล อาทิ เช่น การเปิดร้านสะดวกซื้อจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ หรือ เฮลท์ชอป ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เปิดให้บริการคลินิกชีวรักษ์ แต่ทั้งนี้ต้องดูการตอบรับจากผู้ชมก่อน อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯคาดว่าจะดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม โดยวางเป้าหมายไว้ว่า จะเปิดตัวสถานีโทรทัศน์รวม 5 ช่อง ซึ่งคาดว่า ช่องต่อไปที่จะเปิด จะยังคงเน้นเป็นช่องเฉพาะที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ผู้ชมต่อไป อาทิ เช่น ช่องรายการเกี่ยวกับเด็ก และช่องเกี่ยวกับความสุข ขณะที่ธุรกิจทีวีนั้น ปีนี้ได้เวลามารวม 7 รายการ ป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ 3 ช่อง

ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาใหม่ โดยดำเนินธุรกิจ 2 ประเภท คือ ทำรายการป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ และ สิ่งพิมพ์ โดยทั้งสองธุรกิจสร้างรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนในปีนี้หลังจากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมเต็มรูปแบบ คาดว่าทั้งปีจะมีรายได้แบบก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท โดยการทำรายการป้อนสถานีโทรทัศน์ยังสร้างรายได้สูงสุดกว่า 50% รองลงมาคือ โทรทัศน์ ดาวเทียม 30% และสิ่งพิมพ์ 20%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.