"พัฒนาและโครงสร้างตลาดหุ้นไทย"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้สร้างประวัติการณ์ ด้วยการที่ราคาหุ้นโดยเฉลี่ยที่วัดด้วยดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นทะลุระดับราคาสูงสุดในอดีตคือ 1,142 จุด และพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยปริมาณการซื้อขายที่สร้างประวัติการณ์ใหม่โดยมูลค่าซื้อขายต่อวันในบางวันสูงเกินหลักสองหมื่นล้านบาท

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมดังกล่าวนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา และถือว่าปี 2536 นี้เป็นการปรับโครงสร้างระลอกหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลา 6-7 ปี

ตลาดหุ้นไทยหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ นับได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างจากที่ผ่านมาในประเด็นต่าง ๆ อย่างชนิดที่เรียกว่าพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว

ในส่วนของการลงทุน มูลค่าการซื้อขายหุ้นซึ่งอยู่ในระดับ 100 ล้านบาทต่อวันในปี 2529 ได้ขยับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 100% ต่อปีติดต่อกันจนถึงปี 2536 นี้ที่มูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

การที่ปริมาณการซื้อขายรวมลดลงในปี 2536 นี้เป็นผลโดยตรงจากการลดลงของปริมาณในส่วนที่มาจากการปั่นหุ้น และการเก็งกำไรอย่างรุนแรงด้วยการหมุนเวียนซื้อขายด้วยความถี่สูงในอดีต อย่างไรก็ตามการลดลงของมูลค่านี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวด้วยเหตุผลพิเศษที่เกิดจากการจับปั่นหุ้น และคาดว่าแนวโน้มการขยายตัวของมูลค่าการซื้อขายก็คงดำเนินต่อนังตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นไป เพียงแต่อัตราการเพิ่มคงจะไม่รุนแรงเป็น 100% อย่างในอดีต แต่คงจะรักษาอัตราการขยายตัวเฉลี่ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ต่อปี

โครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ โครงสร้างการลงทุนจากต่างประเทศ

ก่อนปี 2529 นั้น ปริมาณการลงทุนของต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในระดับพันกว่าล้านบาท อันเป็นยอดการซื้อขายทั้งปีโดยมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 4-5 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นไป มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ได้ขยับพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงชนิดที่เรียกว่าเป็นเท่าตัวจนถึงปี 2533 ในปีนั้นมูลค่าการซื้อขายหุ้นของต่างประเทศในไทยสูงถึง 180,673 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 14.40 ของปริมาณการซื้อขายรวม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ประกอบกับการถดถอยหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลให้ต่างชาติลดการลงทุนในหุ้นไทยและมูลค่าการซื้อขายต่างชาติลดลงเหลือ 130,162 ล้านบาท โดยสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 8.21 และถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีเช่นกัน

ในปี 2535 การลงทุนของต่างชาติ ในตลาดหุ้นไทยเริ่มมีแนวโน้มขยายตัวอีกครั้ง โดยปริมาณการซื้อขายในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็น 237,767 ล้านบาทอันถือเป็นปริมาณประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง ทว่า สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติ กลับมีแนวโน้มลดลงในปีดังกล่าวโดยเหลือร้อยละ 7.20 อันเป็นผลจากการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าของนักลงทุนไทยนั่นเอง

สำหรับในปี 2536 นี้ยอดการซื้อขายต่างชาติแม้ก่อนตลาดบูมสุดขีด ในเดือนตุลาคมก็เป็นมูลค่าประวัติการณ์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมูลค่ารวมของต่างชาติจนถึงเดือนกันยายนของปี 2536 นี้เท่ากับ 314,202 ล้านบาทหรือมากกว่าปีที่แล้วทั้งปี นอกจากนั้นสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่แล้ว โดยขยับขึ้นไปเป็นร้อยละ 14.86 อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากของการลงทุนต่างชาติ และอีกส่วนหนึ่งจากแนวโน้มชะลอตัวลงของการลงทุนภายใน อันเป็นผลมาจากการจับปั่นหุ้นในตอนครึ่งปีแรก

โครงสร้างอีกส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงมากของตลาดหุ้นไทยก็คือ บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ก่อนปี 2530 จำนวนบริษัทจะอยู่ในราว 90 บริษัทและทรงตัวในระดับดังกล่าวเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี ในปี 2530 จำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 104 บริษัท และนับตั้งแต่นั้นมาก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกันทุกปี โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในปี 2533-2534 ที่เพิ่มขึ้น 61 บริษัทในช่วงปีเดียวเทียบกับการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 30-40 บริษัทในช่วงที่ผ่านมา

ณ ปลายเดือนกันยายน 2536 จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเป็น 341 บริษัท

ในส่วนของกองทุนก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกล่าวคือ ก่อนหน้านี้จำนวนกองทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะอยู่ในระหว่าง 4-6 กองทุน เมื่อมาถึงปี 2535 ได้เพิ่มเป็น 15 กองทุน และ ณ ปลายเดือนกันยายนปีนี้จำนวนกองทุนเท่ากับ 21 กองทุน

การเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนและรับใบอนุญาตในตลาดหุ้น ผนวกกับแนวโน้มราคาหุ้นที่สูงขึ้นส่งผลให้ขนาดของตลาดหุ้นไทยขยายตัวอย่างทวีคูณ ขนาดของตลาดหุ้นนั้นวัดกันด้วยมูลค่าตลาดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศซึ่งเคยอยู่ในระดับร้อยละ 6 ในช่วงก่อนปี 2539 ได้ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นผลจากมูลค่าตลาดที่เพิ่มจาก 49,460 ล้านบาทในปี 2528 เป็นระดับ 1.78 ล้านล้านบาท ณ ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และหากนับเดือนตุลาคมด้วยแล้ว คาดว่ามูลค่าตลาดคงเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

ปรากฏการณ์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงภาพฉายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดหุ้นไทยที่ลึกซึ้ง และจะเพิ่มความรุนแรงต่อไปในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.