|
เจาะ "MFEC" ยักษ์ไอทีไทยโตได้ไม่ต้องพึ่ง "คอนเนกชั่น"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
* เจาะเส้นทางโต "MFEC" ยักษ์ไอทีไทยต่อกรคู่แข่งระดับโลก
* ผงาดหนึ่งเดียวของไทยติดท็อป 500 บริษัทเทคโนโลยีในเอเชียแปซิฟิก
* สร้างวัฒนธรรมใหม่ทางธุรกิจด้วย "คุณภาพ" ไม่พึ่งพา "คอนเนกชั่น"
* ชูใบเบิกทางระดับโลกจาก "TRACE" เทียบชั้นความโปร่งใสบริษัทยักษ์ใหญ่
เดินหน้ารวบงานเอกชน เมินงานภาครัฐ ก่อนต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ
"การแข่งขันทางธุรกิจของไทยยังวัดกันที่เรื่องของคอนเนกชั่น โดยเฉพาะงานภาครัฐ ยังไม่เน้นเรื่องของความสามารถและคุณภาพสินค้าและบริการ"
เป็นคำกล่าวของ ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด(มหาชน) ที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมขององค์กรต่างๆ ที่ยังยึดติดเรื่องของคอนเนกชั่นเป็นหลัก ทำให้เกิดขบวนการคอร์รัปชั่นรูปแบบต่างๆ เป็นเหตุให้สังคมไทยไม่สามารถเทียบกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ได้
"เราต้องการเซ็ตเทรนด์ใหม่ให้กับสังคมไทยไปในทิศทางที่ถูกต้องเช่นเดียวกับประเทศอย่างสิงคโปร์ อเมริกา ฟินแลนด์"
คอนเซ็ปต์การดำเนินธุรกิจของเอ็มเอฟอีซี จึงยึดอยู่บนพื้นฐานของเรื่องคุณภาพเป็นหลัก และไม่ได้หวังพึ่งพาเรื่องของคอนเนกชั่น ส่งผลให้เอ็มเอฟอีซีเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยีท็อป 500 บริษัทของเอเชียแปซิฟิก
ศิริวัฒน์ บอกว่าประเทศอื่นๆ ติดอันดับบริษัทเทคโนโลยีของเอเชียแปซิฟิกนับสิบแห่งในแต่ละประเทศ แต่ประเทศไทยกับมีเอ็มเอฟอีซีเพียงบริษัทเดียว สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในมาตรฐานของบริษัทเทคโนโลยีในประเทศไทยยังมีอยู่น้อยมากในเวทีระดับโลก
สาเหตุหลักที่ทำให้ต่างชาติไม่ยอมรับบริษัทเทคโนโลยีในประเทศไทย เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านั้นยังขาดเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ แต่การได้มาของงานในแต่ละบริษัทนั้น จะอาศัยเรื่องของคอนเนกชั่นเป็นหลัก
บทพิสูจน์สำคัญที่เอ็มเอฟอีซีประสบกับตนเองมาคือการรุกเข้าไปเจาะงานภาครัฐในโครงการต่างๆ ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ และต้องถอยมาตั้งหลักและทบทวนการทำตลาดภาคราชการอีกครั้ง หลังจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำตลาดนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันงานหลักของเอ็มเอฟอีซีจึงอยู่ที่การรับงานภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซกเมนต์ของธุรกิจเทเลคอมและไฟแนนซ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้ารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค แบงก์ชาติ ตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ธุรกิจหลักของเอ็มเอฟอีซี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบไอที โดยให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานและแก้ปัญหาทางธุรกิจและการบริหารงานองค์กรที่แตกต่างกันไปเพื่อเสริมสร้างกลยุทธ์ให้ลูกค้าสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจของตน
ธุรกิจพัฒนาและวางระบบ บริการออกแบบจัดหา และติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสารสนเทศ ทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการบำรุงรักษา บริการด้านการบำรุงรักษาและสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กร โดยวิศวกรระบบที่มีความเชี่ยวชาญ
สำหรับการดำเนินธุรกิจของเอ็มเอฟอีซีในปี 2550 ยังคงยึดในเรื่องของการนำเสนอคุณภาพสินค้าและบริการ โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรหลักระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นซิสโก้และซันไมโครซิสเต็มส์ เน้นโฟกัสไปที่ตลาดเทเลคอมและไฟแนนซ์แบงก์กิ้งเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่ยังมีใช้จ่ายทางด้านไอทีในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง
ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ในภาคธุรกิจเทเลคอมจะมีการขยายตัวรับกับเทคโนโลยีและบริการรูปแบบใหม่ ตลาดนี้จึงยังต้องมีการลงทุนทางด้านไอทีใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนในตลาดแบงก์กิ้งจะมีการลงทุนด้านไอทีมากขึ้น เพราะข้อบังคับจากการที่มีกฏกติกาใหม่จากแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบาเซิล II และวิธีการลงบัญชีแบบใหม่ IAS39
"เราจะใช้บริษัทลูกค้าใหญ่จากภาคธุรกิจมาเป็นตัวเซ็ตเทรนด์ให้กับธุรกิจทางด้านนี้"
ความหมายของศิริวัฒน์ คือบริษัทภาคเอกชนเหล่านี้จะพิจารณาเรื่องของคุณาภาพสินค้าและบริการมากกว่าเรื่องของคอนเนกชั่น เมื่อเอ็มเอฟอีซีสามารถทำตลาดนี้ได้เป็นอย่างดี ย่อมได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จนทำให้องค์กรต่างๆ หันมาให้บริการของเอ็มเอฟอีซีในที่สุด
นอกจากนี้เอ็มเอฟอีซียังได้ผ่านการเป็นสมาชิกของ TRACE ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่วัดผลด้านจริยธรรมความโปร่งใส เน้นเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในแนสแดคส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกองค์กรนี้ รวมทั้งบริษัทระดับโลกในประเทศต่างๆ ด้วย
"TRACE มีกฏข้อบังคับในการห้ามจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้รับงาน ยิ่งไปกว่านั้นการเลี้ยงดูลูกค้าก็ห้ามมีจำนวนเงินกว่าที่กฏได้ระบุจำนวนเงินที่ควรจะเป็นไว้"
การได้เป็นสมาชิก TRACE ของเอ็มเอฟอีซี เสมือนกับการได้รับใบการันตีสำคัญทางด้านความโปร่งใส ซึ่งในอนาคตจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เอ็มเอฟอีซีสามารถประกาศตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับสำหรับองค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเป็นใบเบิกทางสำคัญให้เอ็มเอฟอีซีรุกตลาดต่างประเทศในอนาคตได้ด้วย ซึ่งจากคำบอกเล่าของศิริวัฒน์ เอ็มเอฟอีซีได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตลาดต่างประเทศไว้แล้ว รอเวลาเพียงทำให้เอ็มเอฟอีซีในประเทศไทยมีความแข็งแรงมากกว่านี้ก่อน
"เราคิดว่าเอ็มเอฟอีซีสามารถแข่งขันกับใครได้ในเอเชียแปซิฟิก"
สำหรับผลการดำเนินงานของเอ็มเอฟอีซีในปี 2549 ศิริวัฒน์ คาดว่าจะปิดที่ตัวเลขประมาณ 2,200 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตขึ้นอีกประมาณ 15-20% ในปี 2550 หรือมีรายได้รวมกันทั้งกลุ่มประมาณ 2,600 ล้านบาท
แต่เป้าหมายสำคัญที่ศิริวัฒน์ ได้วางไว้สำหรับเอ็มเอฟอีซี คือการนำพาบริษัทแห่งนี้ให้เป็นบริษัทที่มีรายได้มากกว่าสามพันล้านบาท และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเอ็มเอฟอีซีสามารถเจาะตลาดภาครัฐของไทยมากขึ้น ย่อมสามารถทำรายได้ตามที่ตั้งไว้อย่างไม่ยากเย็น และเติบโตได้อย่างที่ศิริวัฒน์บอกว่าเอ็มเอฟอีซีโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคอนเนกชั่น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|