|

พานาฯต่อจิ๊กซอว์ ยูบิควิตัสลอนช์สินค้าไลน์อัพใหม่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มกราคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
พานาฯเดินเกม Ubiquitous เปิดตัวสินค้าใหม่ รองรับโลกแห่งการเชื่อมต่อ ชูกลยุทธ์สินค้าไฮเทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งก่อนลอนช์สินค้าแมส
Ubiquitous หรือ Convergence ถือเป็นเทรนด์ของเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่แบรนด์เครื่องไฟฟ้าหลายค่ายให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าแต่ละประเภทสามารถใช้งานเชื่อมต่อกันได้ส่งผลดีต่อยอดขายเพราะถ้าผู้บริโภคต้องการจะได้ประโยชน์จากสินค้าสูงสุดก็ต้องซื้อให้ครบเซ็ตเพื่อให้สามารถสั่งการและเชื่อมต่อการใช้งานอย่างสมบูรณ์ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้โลกแห่ง Ubiquitous หรือ Convergence เกิดขึ้นได้จะต้องใช้ระบบบอร์ดแบนด์ซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย
ดังนั้นหลายๆแบรนด์จึงพยายามนำคอนเซ็ปต์ของ Ubiquitous หรือ Convergence มาใช้ในการทำการตลาดเช่น ซัมซุงผุดแคมเปญ 11 Days Special โดยนำสินค้า 4 กลุ่มคือหมวดภาพและเสียง (เอวี) เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน (เอชเอ) โทรศัพท์มือถือ และไอที มาทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ความหลากหลายของสินค้าซัมซุง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดให้กับสินค้าแต่ละกลุ่มที่มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 3 แพกเกจ Mix & Match เป็นแพกเกจใหญ่โดยลูกค้าที่ซื้อสินค้าของซัมซุง 3 หมวด ในราคารวม 50,000 บาทขึ้นไปจะได้รับส่วนลดเงิดสด 20-30% ส่วนลูกค้าที่ซื้อครบ 4 หมวดจะได้รับส่วนลดเงินสด 25-40% โดยซัมซุงเป็นผู้ซัปพอร์ตส่วนลดดังกล่าวภายใต้งบ 40 ล้านบาท
ขณะที่โซนี่ก็ดำเนินกลยุทธ์ HD World อย่างต่อเนื่องมาตลอดปีที่ผ่านมาพร้อมกับการลอนช์สินค้าที่ให้ความละเอียดของภาพในระดับ Full HD ตั้งแต่ระบบการส่งสัญญาณไปถึงการรับสัญญาณ ทุกผลิตภัณฑ์ของโซนี่เน้นความเป็น Full HD ซึ่งผู้บริโภคที่ต้องการรับชมภาพที่มีความละเอียดสูงก็จะต้องใช้สินค้าระดับ Full HD เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันโซนี่มีความหลากหลายของสินค้า Full HD มากกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ Full HD ยังรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆของโซนี่เช่น เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 3 และเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างเอกลักษณ์ในการใช้งานร่วมกันของสินค้าโซนี่แล้วยังทำให้โซนี่ทิ้งห่างจากคู่แข่งออกไปได้มากขึ้น
สำหรับพานาโซนิคก็พยายามสร้างคอนเซ็ปต์ของ Ubiquitous ด้วยการใช้เอสดีการ์ดในการเชื่อมต่อสินค้าประเภทต่างๆของพานาโซนิค แต่ยังไม่แรงพอเนื่องจากผู้บริโภคที่ทางเลือกในการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ ดังนั้นในปีนี้พานาโซนิคจึงลอนช์สินค้าที่เป็นจิ๊กซอว์ของ Ubiquitous อย่างจริงจังโดยมีไลน์อัพสินค้าใหม่เพิ่ม 2 กลุ่มคือ สินค้าที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัย และอุปกรณ์บอกพิกัดสำหรับติดตั้งในรถยนต์
ทั้งนี้ Ubiquitous ที่พานาโซนิคพัฒนาในประเทศญี่ปุ่นจำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเช่นเพื่อความบันเทิง, เพื่อการสื่อสาร เช่นการพูดคุยระหว่างเพื่อนหรือครอบครัวบนจอทีวีผ่านระบบบอร์ดแบน, เพื่อระบบรักษาความปลอดภัย เช่นในระหว่างที่รับชมรายการต่างๆทางทีวีก็สามารถแบ่งหน้าจอเพื่อตรวจดูว่ามีใครบุกรุกเข้าบ้านหรือไม่ ซึ่งรวมถึงเวลาที่อยู่นอกบ้านก็สามารถเช็คข้อมูลได้จากในรถหรือเวลาที่มีคนร้ายปีนเข้าบ้านก็จะมีการส่งรูปคนร้ายไปยังเจ้าของบ้านทันทีโดยผ่านโทรศัพท์มือถือหรือจอแสดงผลในรถ นอกจากนี้ Ubiquitous ยังมีประโยชน์อื่นๆอีกเช่นเวลาเดินทางกลับบ้านก็สั่งการผ่านมือถือเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศ พอมาถึงบ้านก็จะมีอากาศเย็นพอดี หรือการตรวจเช็ครายการต่างๆในตู้เย็นว่ามีอะไรหมดหรือไม่เพื่อที่จะได้แวะซื้อก่อนกลับบ้าน และยังมีระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติที่อาศัยระบบ GPS เพียงระบุว่าจะเดินทางไปที่ไหนรถก็จะขับเคลื่อนไปตามเส้นทางอีกทั้งยังมีข้อมูลร้านอาหารหรือสถานที่สำคัญเพื่อให้การสั่งการทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
สำหรับตลาดเมืองไทยสินค้าระบบรักษาความปลอดภัยถือเป็นไลน์อัพใหม่ที่พานาโซนิคตั้งความหวังเอาไว้มากโดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นลูกค้าโครงการเสียส่วนใหญ่ แต่กระนั้นก็ยังมีสินค้าบางรุ่นที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคบ้านเช่น Wireless Video Intercom System หรือชุดกริ่งประตูแบบมีจอทำให้ผู้ที่อยู่ในบ้านสามารถมองเห็นว่ามีใครมากและสนทนาโดยไม่ต้องเปิดประตูได้รวมถึงมีชุดหน้าจอแบบไร้สายทำให้สามารถพกพาได้ทุกจุดในบ้านถือเป็นการใช้งานภายใต้คอนเซ็ปต์ Any Time Any Where ซึ่งเป็นหลักการของ Ubiquitous ในส่วนของ Navigation System หรือระบบบอกพิกัดในรถยนต์ จะมีการบันทึกชื่อถนนและสถานที่สำคัญโดยมีเสียงเตือนระยะทางเพื่อความปลอดภัย ตลอดจนระบบคำนวณเส้นทางที่ประหยัดเวลาที่สุด
"พานาโซนิคอยากจะนำโทรศัพท์มือถือ 3G เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังเพื่อรองรับ Ubiquitous แต่วันนี้ประเทศไทยยังใช้ระบบ 2.5 G การนำสินค้าที่มีเทคโนโลยีไม่สูงเข้ามาทำตลาดย่อมแข่งขันกับคู่แข่งได้ยาก สินค้าอื่นๆก็เช่นกัน เราจะเน้นสินค้าไฮเทคโนโลยีเข้ามาทำตลาดก่อน จากนั้นค่อยแนะนำไลน์อัพรุ่นต่ำเข้าสู่ตลาดในภายหลัง เช่น Tough Book หรือ Note Book ที่ทนต่อแรงกระแทรกและกันน้ำได้ซึ่งยังไม่มีใครนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย" ไดโซ อิโตะ ประธานกลุ่มพานาโซนิคในประเทศไทย กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|